คอลัมนิสต์

ภาครัฐหนุน 'เผาอ้อย' ต้นเหตุ? ฝุ่นพิษ PM 2.5 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ปัญหาฝุ่นพิษPM 2.5 สาเหตุสำคัญหนึ่ง คือภาครัฐยินยอมให้โรงงานรับซื้ออ้อยไฟไหม้ได้ร้อยละ50ของปริมาณอ้อยที่เข้าโรงงาน ทำให้เกิดการเผาไร่อ้อยปล่อยหิมะดำจำนวนมาก

        กลายเป็นเรื่องที่คนไทยให้ความสำคัญอันดับต้นๆ อยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 ที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพและเป็นต้นเหตุของโรคระบบทางเดินหายใจและโรคมะเร็ง

      และหลายพื้นที่ในประเทศไทยได้ประสบกับปัญหามลภาวะเป็นพิษ PM 2.5 

     ปัญหา “ไฟป่า”ที่ส่วนหนึ่งเกิดจาก “มนุษย์” เป็นผู้ก่อขึ้น และลุกลามไหม้ตามสถานที่ต่างๆเป็นวงกว้าง  ก่อให้เกิดปัญหามลภาวะและเป็นสาเหตุหนึ่งของฝุ่นพิษ PM 2.5 

      การ“เผาอ้อย”  ของเกษตรกรชาวไร่อ้อย ซึ่งมีการเผากันมาก ก็เป็นตัวก่อให้เกิดปัญหามลพิษ ฝุ่นพิษ PM 2.5 เช่นกัน

      นพ.บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล แพทย์ทางเลือก ได้โพสต์เฟซบุ๊ก หัวข้อว่า แก้ PM2.5 เกาให้ถูกที่คัน 

       มีเนื้อหาว่า  PM2.5 แหล่งที่มาสูงสุดคือการเผาในที่โล่ง ส่ง PM ปีละ 209,937 ตัน และแหล่งเผาใหญ่สุดคือการเผาไร่อ้อย แก้ PM ถ้าเกาให้ถูกที่ตรงตำแหน่งนี้อาจลด PM ได้กว่าครึ่งค่อน

      อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :หมอบรรจบ ชี้แก้ PM2.5 รัฐต้องเกาให้ถูกที่คัน

     เผาไร่อ้อยมีห่วงโซ่ 3 ห่วง คือ ภาครัฐ โรงงานน้ำตาล ชาวไร่อ้อย ส่วนปชช.จมูกดำๆ คือ ผู้รอรับผลกระทบ ส่วนผู้ได้ประโยชน์สูงสุดคือโรงงานน้ำตาลซึ่งทำกำไรจากการค้าน้ำตาลมาตลอดทุกยุคสมัยอยู่แล้ว ชาวไร่หากินพอกันตาย  แต่ทุกวันนี้พอเผาไร่ก็ตกเป็นจำเลยสังคม

    ส่วนภาครัฐก็ไปไม่เป็น (หรือเป็นไม่ไป) ได้แต่ออกกฎว่าโรงงานไหนรับอ้อยไฟไหม้เกิน 30% ต้องปรับ แต่โรงงานโวยโดยเอาชาวไร่เป็นตัวประกัน บอกว่า “จำเป็น เพื่อชาวไร่ตาดำๆ” เลยต่อรองขอเป็นรับซื้อไม่เกิน 50% 

     ส่วนค่าปรับโรงงาน คือ ถ้าซื้อเกิน ปรับ 12 บาท/ตัน รถบรรทุก 1 คันคือ 50 ตัน เท่ากับปรับคันละ 600 บาท

      เรื่องแบบนี้ถ้าภาครัฐไม่มีนโยบายชัดเจน ก็เป็นงูกินหาง หาจุดจบไม่ได้

      ปรากฏการณ์ “หิมะสีดำ” คือเถ้าถ่านจากเผาไร่อ้อยตกลงบนหลังคา หัวหูชาวบ้านจนลืมตาไม่ขึ้นก็ดำเนินต่อไป

      ถ้าภาครัฐถือเรื่องมลภาวะอากาศเป็นวาระแห่งชาติจริง ผมอยากเห็นรัฐยืนขึ้นมาพูดว่า เผาไร่อ้อยต้องจบใน 3 ปี แล้วดำเนินการดังนี้:

                                                                      ภาครัฐหนุน 'เผาอ้อย' ต้นเหตุ? ฝุ่นพิษ PM 2.5 

                                                นพ.บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล

  1)ขอความร่วมมือสมาคมโรงงานน้ำตาลให้ใช้ธรรมาภิบาลมาแก้ปัญหา

   2)จัดซื้อรถตัดอ้อยด้วยงบจาก 2 ฝ่าย คือรัฐกับโรงงานน้ำตาล

  3)จัดระบบปลูกอ้อยใหม่ให้พร้อมแก่การตัดด้วยเครื่องจักร โดยเริ่มแต่ฤดูกาลหน้านี้เลย ตั้งเป้าปีแรก 50% ปี 2-3 อีกปีละ 25%

    4)จัดระบบตัดอ้อยโดยโรงงานกับลูกไร่ในเขตของแต่ละโรงงานอย่างเป็นธรรม

    5)พ้นจากระยะ 3 ปีนี้ กวดจับอย่างไม่ต้องยำเกรงประชาชนจมูกดำๆกำลังรอแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

      ขณะที่  “สนธิ คชวัฒน์ ”ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย  ได้เคยโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว  ชี้ว่า สาเหตุหนึ่งของการเผาไร่อ้อยทำให้ฝุ่นPM2.5ฟุ้งกระจายในพื้นที่57จังหวัดและ กทม. ก็คือ คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล ได้มีมติเห็นชอบในหลักการเมื่อวันที่่ 3พฤศจิกายน 2562 กำหนดให้โรงงานน้ำตาลรับอ้อยไฟไหม้ในฤดูกาลผลิตปี2562/2563ได้ร้อยละ50

       ซึ่งมติของราชการให้มีการเผาไร่อ้อยได้ทำให้เกิดการเผาไร่อ้อยอย่างน้อย6ล้านไร่จากที่มีการปลูกอ้อย12ล้านไร่ใน57 จังหวัดที่มีโรงงานน้ำตาลตั้งอยู่เป็นอย่างน้อยซึ่งค่อนจะข้างขัดแย้งกับแผนปฎิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นPM2.5ที่ครม.มีมติเมื่อวันที่1ตุลาคม 2562ที่สั่ง”ห้ามเผา”จนก่อให้เกิดปรากฎการณ์หิมะดำและฝุ่นPM2.5 ฟุ้งกระจายเต็มเมือง

         ส่วนการแก้ปัญหา ถ้าจะไม่ให้เกษตรกรเผาใบอ้อย แนวทางหนึ่งควรให้โรงงานน้ำตาลลงมาทำความเข้าใจกับชาวไร่อ้อยในการรับซื้อ เนื่องจากถ้าตัดอ้อยสดส่งโรงงานแล้วมีใบอ้อยติดไปด้วยโรงงานก็ปฏิเสธการรับซื้อทำให้เป็นปัญหากับชาวไร่

        เคยมีบทความเขียนโดยนางสาวภัทรียา นวลใย ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ซึ่งเธอย้ำว่า เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคลเท่านั้น) ระบุว่า  จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหา PM 2.5 มาจาก 2 สาเหตุหลักด้วยกันคือ 1) การเผาไหม้ ของเครื่องยนต์ดีเซล และ 2) การเผาพืชตามไร่นา สำหรับภาคอีสานมีพื้นที่เพาะปลูกอ้อยเกือบครึ่งหนึ่งของ ประเทศและมักประสบปัญหา PM 2.5 ในช่วงเดือนธันวาคมถึงเมษายนที่เป็นช่วงเก็บเกี่ยวอ้อย โดยปัญหานี้จะยิ่งรุนแรงขึ้นในช่วงที่อากาศแล้งและมีปริมาณฝนน้อย เนื่องจากการชะล้างฝุ่นละอองเป็นไปอย่างจำกัด  การเผาอ้อยจึงอาจเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาดังกล่าว

ภาครัฐหนุน 'เผาอ้อย' ต้นเหตุ? ฝุ่นพิษ PM 2.5 

         การเก็บเกี่ยวอ้อยสามารถทำได้ 2 วิธี  วิธีแรก คือ การตัดอ้อยสด และวิธีที่สอง คือ การเผาอ้อยก่อนเก็บเกี่ยว หรือที่เรียกกันว่า “อ้อยไฟไหม้” ซึ่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 60 ของปริมาณอ้อยทั้งหมด

          บทความชิ้นนี้ ยังระบุว่า สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายและสมาคมโรงงานน้ำตาล จะร่วมมือทำแผนงานเพื่อลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปีและกำหนดเป้าหมายจะไม่มีอ้อยไฟไหม้ในปี 2565

      อย่างไรก็ดี มาตรการที่จะทำเพิ่มนี้อาจช่วยแก้ปัญหาได้ไม่มากนัก เนื่องจากปัจจุบันรถตัดที่มีอยู่ก็ถูกใช้งานเพียงร้อยละ 35 เท่านั้น สะท้อนว่ายังมีกำลังการผลิตส่วนเกินสูง และอาจเป็นไปได้ยากที่จะให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนระยะปลูก 

       นอกจากนี้ยังพบปัญหาการจัดระบบคิวที่ยังเป็น ข้อจำกัดในการใช้รถตัดเช่นกัน จากมาตรการที่อาจยังไม่เห็นผลมากนัก หลายภาคส่วนจึงได้ช่วยกันหาทางออกเพื่อสร้างแรงจูงใจที่ถูกต้อง โดยมีแนวทางที่น่าสนใจ คือ

      1) เพิ่มค่าปรับให้รุนแรงขึ้นและเพิ่มเงินจูงใจให้อ้อยสดอย่างมีนัยสำคัญ โดยให้โรงงานเป็นผู้จ่ายส่วนเพิ่ม ซึ่งแนวคิดนี้มีความน่าสนใจที่ว่า เงินที่หักเพิ่มขึ้นไม่ควรแต่คำนึงถึงต้นทุนเอกชน (Private Cost) แต่จำเป็นต้องคำนึงถึงผลกระทบทางสังคม (Social Cost) ที่รวมต้นทุนภายนอก (External Cost) เข้ามาด้วย เช่น ผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และจำเป็นต้องมีการศึกษากลไก เพิ่มเติมว่า แนวทางที่เป็นไปได้ควรเป็นอย่างไร เงินจูงใจที่จ่ายจำเป็นต้องตกไปถึงแรงงานตัดอ้อยหรือไม่จึงจะทำให้กลไกสำเร็จ 

      2) ควรสำรวจความต้องการใช้รถตัดในแต่ละพื้นที่ พัฒนารถตัดที่เหมาะกับแปลงในไทย รวมทั้งวางระบบคิว เพื่อให้การใช้งานรถตัดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

     นอกจากนี้ยังมีแนวทางแก้ไขปัญหาที่ น่าสนใจจากต่างประเทศ คือ การวางแผนระบบตั้งแต่เพาะปลูกถึงเก็บเกี่ยวอย่างครบวงจร เช่นในประเทศ บราซิล โดยเมื่อถึงฤดูเพาะปลูกจะมีการวางแผนร่วมกันกับโรงงาน และจะทยอยเก็บเกี่ยวผ่านข้อมูลรายแปลง ที่บันทึกไว้พร้อมทั้งวางระบบคิวการใช้รถตัดตลอดจนถึงคิวเข้าโรงงานแต่ละแปลง

       อย่างไรก็ดี  มาตรการต่างๆล้วนมีความน่าสนใจและมีความเป็นไปได้ที่แตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องหาแนวทางที่เหมาะสมกับกรณีประเทศไทยซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกันหลายภาคส่วนที่ต้องช่วยกันคิดและช่วยกันแก้ปัญหา มิเช่นนั้นแล้ว ปัญหาดังกล่าวก็จะอยู่กับเราต่อไป

     

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ