คอลัมนิสต์

พรรคประชาธิปัตย์เป็นสถาบันทางการเมือง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พรรคประชาธิปัตย์เป็นสถาบันทางการเมือง โดย... ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์

 

 


          ข่าวการลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ของนายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และตามมาด้วยการลาออกจากพรรคของนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ดูจะเป็นหนึ่งในทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายกรณ์ที่เป็นบุคลากรที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับพรรคประชาธิปัตย์มาเป็นเวลานานและมีความสำคัญต่อพรรคด้านการนำเสนอนโยบายเศรษฐกิจ ส่วนเหตุผลของการลาออกจากที่เป็นข่าวคือการเตรียมตั้งพรรคใหม่ตามอุดมการณ์ของนายกรณ์และนายอรรถวิชช์

 

 

          อย่างไรก็ตามอีกกระแสข่าวที่เกี่ยวกับเหตุผลของการลาออกของนายกรณ์คือการถูกลดบทบาทนำทางด้านนโยบายเศรษฐกิจของพรรค โดยผู้มีบทบาทนำด้านนโยบายเศรษฐกิจในยุคของหัวหน้าพรรคที่ชื่อจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ คือ นายปริญญ์ พานิชภักดิ์


          แต่หากมองให้ลึกกว่านั้นจะพบว่าการลาออกของนายกรณ์อาจเป็นกลยุทธ์แยกกันตีของพรรค และอาจเป็นวิธีการเดียวที่จะนำเอาคะแนนของคนรุ่นใหม่และชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ กลับคืนมาจากพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเชื่อว่าสถานการณ์ของพรรคในปัจจุบันหากไม่ดำเนินกลยุทธ์นี้ก็คงต้องใช้เวลาอีกสมัยหรือสองสมัยถึงจะได้คะแนนนิยมของคนกลุ่มนี้กลับมา


          นายกรณ์และนายอรรถวิชช์ไม่ใช่กลุ่มแรกที่ลาออกจากพรรค ก่อนหน้านี้ถ้านับย้อนไปตั้งแต่ช่วงชุมนุมทางการเมืองปี 2556 เริ่มจากกำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ประกาศวางมือทางการเมืองและต่อมาก็ประกาศสนับสนุนพรรครวมพลังประชาชาติไทย นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ และนายสกลธี ภัททิยกุล ที่พาเหรดกันไปอยู่พรรคพลังประชารัฐ ต่อมา นายกษิต ภิรมย์ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ต่างก็ทยอยโบกมือบ๊ายบายจากพรรค


          การลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ของแกนนำและบุคคลสำคัญของพรรค ทำให้นักวิจารณ์การเมืองหลายคนมองว่าประชาธิปัตย์กำลังแย่ เลือดกำลังไหลออกไม่หยุดหากไม่แก้ไขปัญหาภายในพรรค แต่ในความเป็นจริงแล้วเหตุการณ์นี้ไม่ใช่เกิดขึ้นครั้งแรก พรรคประชาธิปัตย์เคยเผชิญมรสุมทางการเมืองมามากมาย รุนแรงกว่านี้ก็เคยโดนมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการแพ้การเลือกตั้งครั้งใหญ่ในกรุงเทพฯ ให้แก่พรรคประชากรไทยในปี 2522 การยกทีมออกจากพรรคของกลุ่ม 10 มกราคม หลังการเลือกตั้งในปี 2529 การลาออกจากพรรคของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ในปี 2548 รวมถึงการแพ้เลือกตั้งในกรุงเทพฯ ครั้งล่าสุดในปี 2562 เป็นต้น

 



          มีคนเคยถามว่าทำไมพรรคประชาธิปัตย์จึงเกิดเรื่องวุ่นวายแบบนี้บ่อยครั้งในตลอด 77 ปี ของพรรค คำตอบคือภายในพรรคประชาธิปัตย์มีความเป็นประชาธิปไตยสูง (บางทีอาจจะสูงมากเกินไป) เพราะพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีเจ้าของหรือนายทุนที่คอยชี้นำลูกพรรคให้ปฏิบัติตาม จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่จะเกิดการเมืองภายในพรรคอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันช่วงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค รวมถึงการที่บางครั้งลูกพรรคไม่ค่อยฟังหัวหน้าหรือกรรมการบริหารพรรค เป็นต้น ภายในพรรคประชาธิปัตย์ทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (บางครั้งอาจรวมถึงเสรีภาพในการปฏิบัติตัวและแสดงความคิดเห็นในสภาและต่อสื่อด้วย) และทุกคนมีโอกาสเป็นผู้บริหารพรรคหรือหัวหน้าพรรค ไม่ว่าจะมาจากตระกูลที่มั่งคั่ง ขุนนางเก่า หรือชนชั้นกลาง ไม่ว่าจะมีการศึกษาสูง ปริญญาหลายใบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ หรือมีแค่ปริญญาตรีใบเดียวจากสถาบันภายในประเทศ


          แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตามพรรคประชาธิปัตย์ก็สามารถอยู่รอดในสังคมการเมืองไทยได้ โดยบางครั้งพรรคอาจจะเล็กลงบ้างหรือใหญ่โตบ้างตามสถานการณ์ทางการเมืองในแต่ละช่วง พรรคประชาธิปัตย์ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามีความเป็นสถาบันทางการเมืองที่แท้จริงเมื่อเทียบกับพรรคอื่นๆ ที่หลายพรรคเป็นแค่พรรคเฉพาะกิจเพื่อผู้นำบางคน ไม่ว่าจะเป็นทหาร ข้าราชการ หรือนายทุน โดยพรรคเฉพาะกิจบางพรรคได้กลายเป็นอดีตไปแล้วหรือไม่สามารถเติบโตได้อีกแล้ว เช่น พรรคสามัคคีธรรมที่หายไปหลังการเลือกตั้งในปี 2535 พรรคประชากรไทยที่หมดบทบาทหลังการจากไปของนายสมัคร สุนทรเวช พรรคความหวังใหม่หลังจากพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ วางมือทางการเมือง พรรคกิจสังคมหลังยุค นายมนตรี พงษ์พานิช เป็นต้น


          ส่วนพรรคการเมืองอื่นๆ ในปัจจุบันกำลังรอการพิสูจน์ว่าจะเป็นสถาบันทางการเมืองแบบเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์ได้หรือไม่ หรือเป็นได้แค่พรรคเฉพาะกิจที่อาจมีระยะสั้น-ยาวแตกต่างกันแต่ท้ายที่สุดก็สูญสลายเหมือนกัน จนเกิดคำถามถึงความเป็นสถาบันทางการเมืองของพรรคการเมืองเหล่านี้หากมีสถานการณ์เปลี่ยนแปลงในอนาคต เช่น พรรคเพื่อไทยจะเป็นอย่างไรหากในอนาคตขาดการสนับสนุนจากคนแดนไกล พรรคพลังประชารัฐจะอยู่ต่อหรือไม่หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเบื่อไม่อยากเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว พรรคชาติไทยพัฒนาจะมีหัวเรือหรือไม่หากขาดคนตระกูลศิลปอาชา พรรคชาติพัฒนาจะเดินต่อได้หรือเปล่าหาก นาย‎สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ไม่ไหวแล้ว พรรคเสรีรวมไทยหากไม่มี ‎พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส จะยังมีคะแนนนิยมหรือไม่ พรรคภูมิใจไทยจะสูญสลายหรือเปล่าหากหมดบารมีนายเนวิน ชิดชอบ และนาย‎อนุทิน ชาญวีรกูล พรรคอนาคตใหม่จะเป็นอย่างไรหาก นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และนายปิยบุตร แสงกนกกุล ไม่สามารถมีตำแหน่งทางการเมืองได้


          สำหรับพรรคประชาธิปัตย์รอพิสูจน์อย่างเดียวว่าหากปราศจากนายชวน หลีกภัยแล้ว กระแสพรรคในภาคใต้จะเป็นอย่างไร


          แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็เชื่อว่าในความเป็นสถาบันทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์จะทำให้พรรคยังคงอยู่คู่การเมืองไทยต่อไป (ไม่ว่าจะอยู่แบบพรรคที่แข็งแกร่ง หรือซวนเซ แบบเมาหมัดก็ตาม)


          They will be back…

 


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ