คอลัมนิสต์

ต้องพร้อมรับมือ ปีเผาจริง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ต้องพร้อมรับมือ ปีเผาจริง บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคม 2563

 

 


          สถานการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทยยังไม่พ้นความกังวลว่าปีนี้จะสามารถขับเคลื่อนผ่านพ้นให้ขยายตัวได้ตรงตามเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่ หรือจะแค่พยายามประคับประคองให้ไม่ติดลบก็นับว่าเก่งแล้ว เพราะมีหลายองค์กรทั้งในและต่างประเทศที่คาดหมายว่าปีนี้เศรษฐกิจโลกยังคงผันผวนหนักและกระทบต่อทุกประเทศแน่ ซึ่งบางฝ่ายคาดคะเนด้วยซ้ำว่าปีนี้สำหรับประเทศไทยอาจจะเป็น “ปีเผาจริง” เพราะดูจากปัจจัยต่างๆ ภายในและภายนอกแล้วไม่สดใส จึงเป็นภาระของรัฐบาลที่ต้องวางแนวทางตลอดจนแผนขับเคลื่อนและแผนกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อรองรับสภาวะขาลงที่ถูกคาดการณ์นี้ให้ผ่านพ้นไปให้ได้ ซึ่งมีการคาดว่าอัตราเติบโตเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะประมาณ 3% แต่ดูแล้วอาจเป็นเรื่องลำบาก แม้ภาครัฐมีการลงทุนโครงการใหญ่ๆ แต่ในระดับปากท้องยังมีเสียงสะท้อนถึงความฝีดเคือง

 

 

          สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) เปิดเผยตัวเลขการส่งออกเดือนธันวาคม 2562 มีมูลค่า 19,154 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวลดต่อเนื่องร้อยละ 1.28 ส่งผลให้การส่งออกปี 2562 ยังหดตัวร้อยละ 2.65 มีมูลค่า 246,244 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แรงกดดันตลอดทั้งปียังคงเป็นสงครามทางการค้า รวมถึงผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามยังมีสัญญาณบวกว่าไทยสามารถปรับตัวได้ดีเริ่มมีสินค้ากลุ่มใหม่ส่งออกได้ดีมากกว่า 20 รายการ และการส่งออกเดือนธันวาคมในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์กลับมาขยายตัวในรอบ 16 เดือน สะท้อนว่าผู้ประกอบการปรับตัวได้ดี ขณะเดียวกันไทยยังรักษาส่วนแบ่งตลาดหลักไว้ได้ ซึ่งจะถือว่าการส่งออกเริ่มฟื้นมาเป็นช่วงขาขึ้นหรือไม่ยังต้องจับตาสถานการณ์ใกล้ชิดและกลยุทธ์ของฝ่ายบริหารในการส่งเสริมสนับสนุนภาคการส่องออกไทยด้วย


          ส่วนตัวเลขยอดขายรถยนต์ทั้งในและนอกประเทศก็ต่ำลงจากที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) รายงานว่า เดือนธันวาคม 2562 มียอดขายรถยนต์ในประเทศ 89,285 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา คิดเป็นร้อยละ 21.4 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2562 ร้อยละ 12.6 ส่วนยอดส่งอออกรถยนต์ตลอดปี 2562 มียอดส่งออกรวม 1,054,103 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมาคิดเป็นร้อยละ 7.59 แต่การส่งออกยังทำได้สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1 ล้านคัน และยังมีดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนธันวาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 91.7 ปรับตัวลดลงจากระดับ 92.3 ในเดือนพฤศจิกายน 2562 เนื่องจากกังวลกำลังซื้อในประเทศ ปัญหาภัยแล้งกระทบผลผลิตและรายได้ของภาคเกษตร ส่งผลคำสั่งซื้อและยอดขายสินค้าลดลงและผู้ส่งออกยังได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า

 



          เช่นเดียวกับสภาอุตสาหกรรมอาหารที่รายงานว่าในปี 2562 การผลิตอุตสาหกรรมอาหารไทยลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี โดยลดลง 2% เป็นผลมาจากการบริโภคในประเทศที่อ่อนตัวลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ สวนทางกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นตามราคาอาหารสด ทั้งนี้การส่งออกอาหารไทยปีที่แล้วมีมูลค่าอยู่ที่ 1,025,500 บาท พบว่าหดตัว 3.8% สำหรับสินค้าอาหารส่งออกหลัก 6 รายการที่มีมูลค่าลดลง ได้แก่ ข้าว น้ำตาลทราย ทูน่ากระป๋อง แป้งมันสำปะหลัง กุ้ง และสับปะรด ซึ่งเหล่านี้ต่างเป็นสินค้าหลักในการส่งออกของไทยมาโดยตลอด ดังนั้นในภาคอุตสาหกรรมอาหารอาจต้องทบทวนและค้นหาว่าปัจจัยอะไรถึงส่งผลเช่นนี้ ซึ่งโดยภาพรวมเห็นได้ว่าหลายอุตสาหกรรมของไทยกำลังเผชิญโจทย์ท้าทายท่ามกลางเศรษฐกิจผันผวนและช่วงขาลง จึงเป็นหน้าที่รัฐบาลต้องพร้อมรับมือให้ได้


 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ