คอลัมนิสต์

พรรคอนาคตใหม่ กับ clash of generations

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พรรคอนาคตใหม่ กับ clash of generations คอลัมน์...  ล่าความจริง..พิกัดข่าว  โดย...  ปกรณ์ พึ่งเนตร 

 

 


          สร้างกระแสกันหนักหน่วงมานานเป็นสัปดาห์ สำหรับคดียุบพรรคอนาคตใหม่ ด้วยข้อหาล้มล้างการปกครองฯ เชื่อมโยงแนวคิดกับสมาคม “อิลลูมินาติ” อันลือลั่น


          ในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญก็อ่านคำวินิจฉัยที่ทำให้ใครหลายคนผิดหวัง เพราะใช้เวลาอ่านจริงแค่ไม่กี่นาที และตีตกคำร้องเกือบทั้งหมด

อ่านข่าว
'อนาคตใหม่' เฮ รอดยุบพรรค ปฏิปักษ์สถาบันข้อเท็จจริงยังไม่พอ

 

 

 

          จริงๆ คดีนี้ โอกาสที่จะขยายผลไปถึงการยุบพรรคอนาคตใหม่ เป็นเรื่องยากอยู่แล้ว เพราะข้อกฎหมายไปไม่ถึง


          พรรคอนาคตใหม่เองก็มี “กูรูกฎหมาย” ระดับดอกเตอร์จากฝรั่งเศส น่าจะรู้เส้นสนกลในมากพอสมควรว่าบทบัญญัติตามกฎหมายไปได้แค่ไหน แต่ก็โหนกระแสไปกับเขาด้วย สบช่องทั้งวิจารณ์ศาล ดิสเครดิตรัฐบาล ขยายแนวคิดเผด็จการสุมหัวจ้องทำลาย


          ก่อนวันพิพากษา ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค ถึงขั้นเสนอทฤษฎี clash of generations หรือการปะทะกันระหว่างคนต่างรุ่น ต่างวัย จนอาจบานปลายเป็นความขัดแย้งใหญ่ในสังคม


          คำถามสำคัญที่น่าสนใจก็คือ ปรากฏการณ์ปะทะกันระหว่างเจนเนอเรชั่น จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ และน่ากลัวขนาดไหน


          ดร.เชษฐา ทรัพย์เย็น เลขาธิการสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย ประธานที่ประชุมสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย หรือ ทปสท. อธิบายเรื่องนี้เอาไว้น่าสนใจ อาจารย์บอกว่าการแบ่งกลุ่มคนตามช่วงอายุ หรือ “เจนเนอเรชั่น” มีมานานมากแล้วในทางสังคมวิทยา โดย 1 เจนเนอเรชั่นจะมีช่วงเวลา 20-25 ปี คนที่เกิดในช่วงเจนเนอเรชั่นเดียวกัน มักจะมีวิธีคิด การกระทำ และการตัดสินใจคล้ายๆ กัน ซึ่งเกิดจากการได้รับการอบรมเลี้ยงดู การซึมซับวัฒนธรรม และเทคโนโลยีในช่วงเวลานั้นๆ


          ด้วยเหตุนี้ เมื่อเวลาเปลี่ยนไป เช่น ในรอบ 20 ถึง 25 ปี วัฒนธรรมหรือความเชื่อก็เปลี่ยนแปลง เทคโนโลยีก็พัฒนาขึ้น ทำให้คนเจนเนอเรชั่นใหม่กว่า หรือเกิดทีหลัง โดยปกติก็มักจะมีแนวคิด ความเชื่อ หรือการกระทำแตกต่างจากคนเจนเนอเรชั่นก่อนหน้าอยู่แล้ว การปะทะกันระหว่างเจนเนอเรชั่น โดยเฉพาะการปะทะกันทางความคิด ความเชื่อ จึงเกิดขึ้นมาตลอด และการปะทะกันหรือคิดเห็นแตกต่างกันนี้ ก็มีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย




          อาจารย์เชษฐา ยกตัวอย่างพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งบุคลากรสำคัญภายในพรรคเป็นคนรุ่นใหญ่ อายุเยอะ ก็มีวิธีคิด วิธีการทำงานแบบหนึ่ง ซึ่งอาจจะถูกต้องตรงใจคนที่อายุเยอะๆ เหมือนกัน ทำให้แฟนคลับพรรคพลังประชารัฐ เป็นคนในเจนเนอเรชั่นเดียวกันเป็นส่วนใหญ่


          ขณะที่พรรคอนาคตใหม่ที่มีแกนนำพรรคเป็นคนอายุ 40 ปีลงมา ก็มีวิธีคิด วิธีการทำงานอีกแบบหนึ่ง ที่อาจจะสอดคล้องตรงใจ ตรงวิถีของคนรุ่นใหม่ เจน Y และเจน Z ทำให้แฟนคลับเป็นกลุ่มนิสิตนักศึกษาและคนทำงานเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งที่ผ่านมาอาจารย์ปิยบุตรนิยามแนวคิดของพรรคตนว่าเป็น “ลิเบอรัล” หรือ “เสรีนิยม” ส่วนพรรคพลังประชารัฐ ถูกตีตราว่าเป็น “อำนาจนิยม” ทำให้สังคมรู้สึกถึงความแตกต่าง


          แต่คำถามที่น่าพิจารณาก็คือ การปะทะกันระหว่างเจนเนอเรชั่น ในประเด็นความต่างทางการเมืองแบบนี้ ถึงขั้นมีการชุมนุมขนาดใหญ่ ม็อบลงถนน และปะทะกันด้วยความรุนแรงนั้น จะเกิดขึ้นหรือไม่ อาจารย์เชษฐา สรุปแบบฟันธงว่า เกิดยาก เพราะคนรุ่นใหม่ หรือเจน Y เจน Z เติบโตมากับสื่อสังคมออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดีย ทำให้มีพื้นที่ระบายความอัดอั้นทางการเมืองตลอดเวลา ผิดกับคนรุ่นก่อนที่ไม่มีพื้นที่ระบายที่ไหน เวลามีความอึดอัด คับข้องใจ ก็ใช้วิธีนัดชุมนุม หรือลงถนน ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้่น แต่เกิดมานานแล้ว อย่างการชุมนุมใหญ่ 14 ตุลาฯ 2516


          การแสดงท่าทีทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ยุคนี้จึงเปลี่ยนแปลงไป มักใช้โซเชียลมีเดียเป็นหลัก ทำให้มีพื้นที่ระบายความอัดอั้นหรือคับข้องใจ จึงเกิดม็อบลงถนนยากกว่าในอดีต ยกเว้นว่ามีเงื่อนไขที่กระทบกับผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่อย่างชัดเจน เช่น มีหลักฐานว่ารัฐบาลทุจริตอย่างมโหฬาร หรือออกนโยบายที่กระทบกับคนรุ่นใหม่อย่างรุนแรง แบบนี้ก็อาจทำให้เกิดม็อบลงถนนได้ แต่อาจารย์เชษฐาก็ยังเชื่อว่า หากมีม็อบขนาดใหญ่ลงถนนจริง น่าจะเกิดจาก “คนรุ่นเดิม” ที่เคยเคลื่อนไหวต่อสู้กันบนท้องถนนมาแล้ว ตั้งแต่ปี 2549 ปี 2553 และปี 2557 มากกว่า โดยมีคนรุ่นใหม่เป็นส่วนประกอบ


          เลขาธิการสมาคมสังคมศาสตร์ฯ ยังเสนอทิ้งท้ายว่า อยากให้ฝ่ายการเมืองใช้เวทีสภาในการแก้ปัญหาและหาทางออกให้บ้านเมือง หากมีการยุบพรรคการเมือง ก็ควรต่อสู้ในแง่การทำความเข้าใจ และไปจบที่สนามเลือกตั้่ง ดีกว่าการปลุกม็อบหรือสร้างกระแสให้เกิดความขัดแย้ง แตกแยกบานปลายออกไป เพื่อจำกัดวงการปะทะกันระหว่างเจนเนอเรชั่นให้อยู่เฉพาะเรื่อง “ความต่างทางความคิด” แล้วใช้ประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือ ไม่หันมาเลือกใช้วิธีรุนแรง
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ