คอลัมนิสต์

พรรคเกิดใหม่ในบริบทการเมืองไทย (๑)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พรรคเกิดใหม่ในบริบทการเมืองไทย (๑) โดย... ทวี สุรฤทธิกุล


 

          จำนวนพรรคการเมืองสะท้อนวัฒนธรรมทางการเมือง


          ในประเทศตะวันตก พรรคการเมืองมีกำเนิดจากอุดมการณ์ ซึ่งก็คือ “แนวคิดในการต่อสู้ทางการเมือง” ดังเช่นประเทศอังกฤษ ที่เป็นการต่อสู้ระหว่างแนวคิดอนุรักษนิยมกับเสรีนิยม ก็ทำให้เกิดพรรคการเมืองใหญ่ขึ้น 2 พรรคเมื่อ 150 ปีที่ผ่านมา หรือในสหรัฐอเมริกาในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันมีระบบ 2 พรรคเกิดขึ้นด้วยความแตกต่างทางความคิดของนักการเมืองที่ร่วมก่อตั้งประเทศมาด้วยกัน แต่พวกหนึ่งเห็นว่าควรให้อำนาจกับรัฐบาลกลางมากกว่า ก็รวมกลุ่มกันเป็นพรรครีพับลิกัน แต่อีกพวกหนึ่งควรให้อำนาจแก่แต่ละมลรัฐมากกว่า ที่เรียกว่าพวกเฟเดอเรชั่นลิสต์ ก็รวมกันเป็นพรรคเดโมแครต

 

 

          ต่อมาในยุโรปมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจมากขึ้น อันเป็นผลมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ทำให้เกิดชนชั้นแรงงานและชนชั้นกลางมากขึ้น สังคมแบ่งแนวคิดเป็นพวกซ้ายที่ชื่นชอบระบอบสังคมนิยมและเสรีนิยม กับพวกขวาที่ยังเป็นอนุรักษนิยม รวมทั้งมีการแยกขั้วความคิดออกไปตามจำนวนความหลากหลายของกลุ่มทางเศรษฐกิจและสังคมเหล่านั้น ในระยะต่อมาจึงเกิดระบบพรรคการเมืองแบบหลายพรรค แต่ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มหาอำนาจสองชาติใหญ่คือสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตรัสเซียได้แข่งขันกันสร้างพันธมิตรทางอุดมการณ์ ที่เรียกว่า “สงครามเย็น” คือการแย่งชิงความเป็นใหญ่ระหว่างฝ่ายเสรีประชาธิปไตยที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ กับฝ่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ที่มีสหภาพโซเวียตรัสเซียเป็นผู้นำ ที่มีการ “ส่งออก” ระบบการเมืองของทั้งสองค่ายนี้ไปสู่ประเทศที่เป็นบริวารนั้นด้วย


          ภายหลังที่สงครามเย็นสงบลงในทศวรรษ 1990 รัฐประชาชาติทั้งหลายมีความเป็นอิสระมากขึ้น ปัญหาของโลกเปลี่ยนไปเป็นสงครามการค้าและเทคโนโลยี ประเด็นการต่อสู้เชิงนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไปสู่การแข่งขันในเรื่องการค้าและเทคโนโลยีทวีความรุนแรงขึ้น นำไปสู่การวางแนวทางใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหา ผู้คนได้หันมาสนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น โลกร้อน และมลภาวะต่างๆ มากขึ้น รวมถึงสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ความเสมอภาคเท่าเทียม สิทธิมนุษยชน เป็นต้น ซึ่งประเด็นเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดพรรคการเมืองในยุคใหม่ ที่เน้นปัญหาในประเด็นต่างๆ เหล่านั้นโดยเฉพาะ ดังที่เห็นกันอยู่ทั่วโลก

 



          ในกรณีของประเทศไทย การตั้งพรรคการเมืองในยุคแรกเป็นเรื่องของ “ผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่” คือถ้าไม่นับ “การเล่นการเมืองสมมุติ” ในสมัยรัชกาลที่ 6 ก็คงจะเป็น “คณะราษฎร” นั่นเอง ที่เป็นพรรคการเมืองพรรคแรกของประเทศไทย ซึ่งก็ล้วนแต่เป็นผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ทั้งสิ้น ทั้งยังมีลักษณะที่ “หวงอำนาจ” คือรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 ที่คณะราษฎรเขียนขึ้นนั้นก็ไม่ให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองพรรคอื่นขึ้นมาแข่ง จนกระทั่งมีรัฐธรรมนูญที่ ส.ส.เขียนขึ้น คือฉบับ พ.ศ. 2489 จึงให้มีการตั้งพรรคการเมืองอื่นๆ ขึ้นได้ โดยพรรคการเมืองพรรคแรกตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็คือพรรคก้าวหน้า ซึ่งก่อตั้งโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช แต่ต่อมาได้รวมกับพรรคการเมืองอื่นๆ ตั้งเป็นพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อต่อสู้กับพรรคการเมืองอีกกลุ่มหนึ่งคือพรรคสหชีพและพรรคแนวรัฐธรรนูญ ที่รวมตัวกันสนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์ การเกิดขึ้นของพรรคการเมืองในยุคนี้จึงเป็นเรื่องของการยึดถือ “ตัวบุคคล” ดังนั้นถ้าจะว่าไปแล้ว พรรคการเมืองของไทยที่เกิดขึ้นมาแม้ในทุกวันนี้ ก็ยังเกิดขึ้นด้วยปัจจัยเพียง 2 เรื่องดังกล่าว คือถ้าไม่เป็นพรรคของผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ เช่น เป็นพรรคของคณะปฏิวัติ หรือผู้มีบารมีทางการเมือง ก็เป็นพรรคที่ตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนหรือเชิดชูบุคคลบางคน เช่น นายทุนหรือผู้มีอิทธิพลในพรรค


          มีบางยุคสมัยที่เราเกือบจะมีพรรคการเมืองในเชิงอุดมการณ์ เช่น การเกิดขึ้นของพรรคแนวสังคมนิยมหลายๆ พรรคใน พ.ศ. 2517–2519 ซึ่งก็ได้ ส.ส.เข้ามาเป็นจำนวนพอสมควร แต่ภายหลังที่คณะทหารยึดอำนาจในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พร้อมกับการใช้นโยบายที่รุนแรงในการจัดการกับพวกคอมมิวนิสต์ ได้ทำให้พรรคการเมืองในแนวทางดังกล่าวสูญพันธุ์ไป (จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีพรรคใดกล้าประกาศว่าจะใช้แนวทางแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ในการปกครองประเทศ แม้จะมีบางพรรคที่ผู้นำของพรรคเคยพูดพาดพิงถึงการล้มล้างสถาบัน ก็ยังต้องออกมาปฏิเสธในตอนท้าย)


          ด้วยเหตุที่พรรคการเมืองของไทยมีลักษณะยึดเกาะกับตัวบุคคล ทำให้พรรคการเมืองหลายๆ พรรคต้องเสื่อมสลายไปพร้อมๆ กับผู้นำของพรรคนั้นด้วย เช่น พรรคประชากรไทยของนายสมัคร สุนทรเวช พรรคกิจสังคมของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และพรรคพลังธรรมของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นต้น รวมถึงพรรคที่โด่งดังที่สุดคือพรรคไทยรักไทย ที่เป็นพรรคของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร แม้พรรคนี้จะถูกยุบและ ดร.ทักษิณจะหลบหนีไปอยู่ยังต่างประเทศ ก็มีผู้พยายามสร้างพรรคใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อสืบทอดความเป็น “ของทักษิณ” มาจนกระทั่งเป็นพรรคเพื่อไทยในทุกวันนี้ นี่ก็แสดงว่าพรรคการเมืองกับตัวบุคคลเป็นสิ่งที่แยกไม่ออกในกรณีของประเทศไทย การที่พรรคการเมืองพรรคใดจะ “อยู่หรือไป” ก็ขึ้นอยู่กับ “การคงอยู่” ของผู้นำพรรคเท่านั้นนั่นเอง


          พรรคการเมืองไทยจึงเป็นระบบ “หลายพรรค” ด้วยเหตุที่ประเทศไทยมีคนอยากเป็นใหญ่เป็นโตจำนวนมาก คนเหล่านั้นถ้ามีโอกาส เช่น มีบารมีและทุนเพียงพอ ก็จะก่อตั้งพรรคนั้นขึ้นเรื่อยๆ ดังที่เราจะได้เห็นในทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ก็จะมีพรรคใหม่ๆ เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากเสมอๆ แต่ถ้าหากจะพิจารณาไปแล้ว ก็ไม่ใช่ประเภท “ใหม่ถอดด้าม” เสียทั้งหมด บ้างก็เป็น “เหล้าเก่าในขวดใหม่” ที่คนในพรรคใหม่นั้นก็เป็นนักการเมืองหน้าเดิมๆ และบ้างก็เป็น “เหล้าใหม่ในขวดเก่า” ที่บางพรรคก็มีคนใหม่ๆ เข้ามา แต่ก็ต้องถูกครอบด้วยนักการเมืองเก่าๆ ในที่สุด


          วัฒนธรรมทางการเมืองแบบนี้ยังมีเรื่องที่น่าสนใจอีกมาก ซึ่งจะขออธิบายต่ออีกในสัปดาห์หน้า โดยเฉพาะอนาคตของพรรคเก่าๆ อย่างประชาธิปัตย์ และพรรคใหม่ๆ อย่างพรรคอนาคตใหม่

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ