คอลัมนิสต์

 'ฉลอง'ส.ส. ภท. เสียบบัตรแทน หากผิดจริงส่อเจอคุกไม่เกิน10 ปี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กรณี ฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.ภท.ถูกกล่าวหาให้คนอื่นเสียบบัตรลงคะแนนแทนตัวเอง หากพบว่าผิดจริงส่อเจอคุกไม่เกิน10 ปี-ปรับ-เปิดคดีตัวอย่างส.ส.เสียบบัตรแทนกัน

     กรณี นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาแฉว่า จากการตรวจสอบเกี่ยวกับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ของสภาผู้แทนราษฎร พบว่า มี ส.ส.กดบัตรแทนกันในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 10 มกราคม 2563 ถือว่าเป็นการกระทำที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ
 

      ทั้งนี้นายนิพิฏฐ์  ระบุว่า ส.ส.ที่ให้คนอื่นเสียบบัตรลงคะแนนแทนตัวเอง คือ นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง เขต 2 พรรคภูมิใจไทย 

        โดยนายนิพิฏฐ์ พบว่า เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2563 ในเวลาดังกล่าวนายฉลอง ได้เดินทางไปยังสนามบินหาดใหญ่ แต่กลับปรากฏชื่อนายฉลองร่วมเป็นองค์ประชุม และมีชื่อร่วมลงมติในร่างกฎหมายมาตลอด ตั้งแต่มาตรา 39 ว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายการจัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อม ซึ่งในวันที่ 10 มกราคม มีการปิดประชุมในเวลา 01.07 น. ก่อนกลับมาเปิดประชุมสภาฯอีกครั้ง วันที่ 11 มกราคม โดยพบว่าในเวลา 11.10 น. ที่มีการลงมติมาตรา 40 ว่า ด้วยงบประมาณการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ได้ปรากฎชื่อนายฉลองร่วมลงมติอีกด้วยในเวลา 17.34 น.-17.38 น. มีชื่อนายฉลองลงมติเห็นชอบในวาระที่ 3 และข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญ   

        ทั้งๆ ที่ในวันที่ 11 มกราคม ซึ่งเป็นวันเด็กแห่งชาตินั้น ภาพถ่ายทางเฟซบุ๊กของเทศบาลตำบล อ่างทอง  จ.พัทลุง ระบุว่า นายฉลองได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดงานวันเด็กแห่งชาติ จากนั้นได้ไปเปิดงานวันเด็กแห่งชาติที่ อบต.ชะมวง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง อีกด้วย 
       ที่สำคัญนายฉลองเดินทางกลับ กทม.จากสนามบินนครศรีธรรมราช ไปเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2563 ในเวลา 11.55 น. แสดงว่านายฉลองไม่ได้อยู่ที่สภาฯเป็นการมอบให้คนอื่นเสียบบัตรแทน!
     เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ในระบบรัฐสภาของไทยเพราะ ส.ส. เป็นตัวแทนของประชาชน ที่เข้าไปทำหน้าที่ ออกกฎหมาย และตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ร่วมกับสมาชิกวุฒิสภา
     ส.ส.เป็นผู้ที่ได้รับมอบอํานาจให้ใช้อํานาจอธิปไตย แทนประชาชน มีอำนาจในการตรากฎหมาย อำนาจในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน และอำนาจในการให้ความเห็นชอบเรื่องใดเรื่องหนึ่ง 
     เมื่อส.ส.มีอำนาจหน้าที่มากขนาดนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้อง รับผิด รับชอบ และตรวจสอบได้ เพราะเป็นผู้ที่ออกกฎหมายมาควบคุมคนในสังคม

     ความผิดในเรื่องนี้จึงถือว่า ผิดมหันต์ มิใช่สิ่งพรรคการเมืองต้นสังกัด และระบบรัฐสภาจะมาละเลย  

      ย้อนคดีตัวอย่าง เสียบบัตรแทนกัน
      เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2562  มีคดีอื้อฉาวคดีหนึ่ง คือ  คดีที่ นายเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุดในขณะนั้นได้มอบอำนาจให้พนักงานอัยการ เดินทางมาเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายนริศร ทองธิราช อดีต ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย เป็นจำเลยต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือเจ้าพนักงานของรัฐ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตาม พรป.ป.ป.ช. มาตรา123 วรรค 1 
     คดีนี้ เมื่อช่วงปลายปี 2559 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดทางอาญาและถอดถอนนายนริศร จำเลยเนื่องจากในช่วงปี2556 พบพฤติการณ์จากคลิปวีดีโอว่า นายนริศร เสียบบัตรแสดงตนในเครื่องคนอื่น และดึงออกมาเสียบใหม่ โหวตในมาตรา 9 และมาตรา 10 ของการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งที่สมาชิกรัฐสภามีเสียงเดียว ไม่สามารถเสียบบัตรแทนกันได้ การกระทำของนายนริศร จึงเข้าข่ายความผิดตาม พรป.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 123 และ 123 วรรค 1 รวมถึงจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และทำให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีตำแหน่งหน้าที่นั้นๆ ทั้งที่ไม่ได้มีตำแหน่งเช่นที่ว่า แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ทำให้การลงคะแนนเสียงถูกบิดเบือน

      ศาลฎีกาฯ ได้รับคำฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำที่ อม.36/2562 คดีนี้ จำเลยได้ใช้ตำแหน่ง ส.ส.ของเพื่อนเป็นหลักทรัพย์เพื่อขอปล่อยชั่วคราว ระหว่างการพิจารณา ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนายนริศร โดยตีราคาประกัน 1 ล้านบาท
คดีนี้ ประธานศาลฎีกา จะแจ้งผู้พิพากษาศาลฎีกา เพื่อเข้าที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา เลือกผู้พิพากษา 9 คน มาเป็นองค์คณะตัดสินคดี    
         การเสียบบัตรแทนกันของ ส.ส. ถือเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เดิมนั้นกฎหมายป.ป.ช.ระบุว่า ต้องระวางโทษจำคุก ตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
        แต่พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ในมาตรา 123/1 ระบุว่า กรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต มีอัตราโทษสูงสุด คือ การจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับสูงสุด 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

           'ฉลอง' ยอมรับ ไม่ได้อยู่ในที่ประชุมสภาฯ เสียบบัตรทิ้งไว้ แต่ไม่ได้ให้ใครกดแทน
        ด้านนายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.จังหวัดพัทลุง พรรคภูมิใจไทย ชี้แจงว่า ได้ออกจากรัฐสภาช่วงค่ำของวันที่ 10 ม.ค.จริง  และได้เสียบบัตรทิ้งไว้แต่ไม่ได้มอบหมายให้ใครกดแทน ตนต้องรีบกลับมา เพื่อเตรียมการรับศพญาติภายหลังจากประสบอุบัติเหตุ 5 ศพที่อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งต้องประสานนำศพกลับบ้าน 
        เมื่อถามว่าตามปกติทุกเช้าเจ้าหน้าที่ห้องประชุมจะต้องดึงบัตรที่ค้างไว้ออกทั้งหมด เพื่อเคลียร์ระบบ นายฉลอง กล่าวว่า ตนไม่เข้าใจ แต่เสียบบัตรทิ้งไว้จริงๆ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ