คอลัมนิสต์

บทสรุปสามหน้า ยุบ-ไม่ยุบ พรรคอนาคตใหม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทสรุปสามหน้า ยุบ-ไม่ยุบ พรรคอนาคตใหม่

 

 


          21 มกราคม เป็นวันที่หลายคนกำลังให้ความสนใจ เพราะการตัดสินคดียุบพรรคอนาคตใหม่กำลังจะเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของการเมืองไทย ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน

อ่านข่าว-ลุ้นศาลรธน.ตัดสิน 21 ม.ค. ธนาธร ไม่หวั่นถ้า อนค.ถูกยุบ

 

 

          อย่างที่ทราบกันดีว่าคดีนี้เป็นที่รับรู้ในทางสาธารณะไม่มากนัก ถ้าเทียบกับคดีการวินิจฉัยความเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อของ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เนื่องจากในคดียุบพรรคอนาคตใหม่โดยอาศัยข้อหาเรื่องการมีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองนั้น ไม่ได้มีการเปิดการไต่สวนอย่างเป็นทางการเหมือนกับคดีของธนาธร โดยศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลถึงการไม่ไต่สวนว่าคดีนี้มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้แล้ว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญปี 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง


          ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าสามารถมีสิทธิออกได้สองหน้า คือ ‘ยุบพรรค-ไม่ยุบพรรค’ แต่กระนั้นในมุมหนึ่งแล้วก็มีความเป็นไปได้ไม่น้อยที่คดีนี้อาจจะออกได้ถึงสามหน้าด้วยกัน โดยอาศัยเหตุผลรองรับดังนี้


          1.ไม่ยุบพรรคและไม่สั่งให้หยุดการกระทำ
          แนวคำวินิจฉัยนี้เป็นสิ่งที่พรรคอนาคตใหม่ปรารถนามากที่สุด เพราะจะเป็นการยืนยันชัดเจนว่าพรรคอนาคตใหม่ไม่ได้เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งการที่คำวินิจฉัยจะออกมาในรูปแบบนี้ได้นั้นเป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญเชื่อว่า การที่ ‘ธนาธร-ปิยบุตร’ เคยมีแนวคิดต่อระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในช่วงก่อนที่จะตั้งพรรคการเมืองและการที่คำประกาศอุดมการณ์ของพรรคที่ไร้คำว่า “ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ยังไม่เพียงพอที่จะเชื่อได้ว่าพรรคอนาคตใหม่มีพฤติการณ์ที่จะเป็นการล้มล้างการปกครองฯ


          2.ไม่ยุบพรรคแต่สั่งให้ยุติการกระทำ
          คดีนี้ ณฐพร โตประยูร ผู้ร้อง ได้อาศัยเหตุผลที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอนาคตใหม่ว่ามีพฤติการณ์การกระทำขัดต่อ บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคแรก ที่ว่าด้วยการที่บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้




          โดยผลของมาตรา 49 คือ การให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทําดังกล่าว ซึ่งไม่ได้กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการยุบพรรคแต่ประการใด ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่พรรคอนาคตใหม่ นำโดย ‘ปิยบุตร แสงกนกกุล’ เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ พยายามต่อสู้มาตลอด


          ดังนั้น หากที่สุดแล้วศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าพฤติการณ์ของพรรคอนาคตใหม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯ แต่ผลของคดีจะมีแค่การสั่งให้ยุติการกระทำที่ว่านั้นเท่านั้น


          หนึ่งในพฤติการณ์ที่ผู้ร้องพยายามชี้ให้เห็นมาตลอด คือ การที่คำประกาศอุดมการณ์ของพรรคไม่เขียนว่า ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่เขียนว่าจะสนับสนุน ระบอบการปกครองประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเท่ากับว่าถ้าคำวินิจฉัยออกในแนวทางนี้จะมีเพียงแค่การกำหนดให้พรรคอนาคตใหม่ไปแก้ไขคำประกาศอุดมการณ์ของพรรคด้วยการเติมคำว่าระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เท่านั้น


          กรณีเช่นนี้เทียบเคียงได้กับเมื่อครั้งศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยเมื่อปี 2556 ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.... เกี่ยวกับที่มาของส.ว. ขัดกับเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญและมีผลให้ได้มาซึ่งอำนาจโดยมิชอบและขัดแย้งต่อหลักการพื้นฐานและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 อันเป็นการกระทําเพื่อให้ได้มาซึ่งอํานาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มีผลให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวตกไป แต่ปรากฏว่าไม่ได้มีการยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งแต่อย่างใด


          3.ยุบพรรคและตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค
          แน่นอนคำวินิจฉัยในแนวทางนี้ไม่เป็นคุณแก่พรรคอนาคตใหม่มากที่สุด เพราะนั่นหมายถึงการยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค มีกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค


          โดยกรณีเช่นนี้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2562 กับพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลในการยุบพรรคไทยรักษาชาติตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (2) ว่าด้วยการกระทำที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข


          ที่สำคัญ ในคำร้องของผู้ร้องนั้นนอกจากจะมีการอ้างข้อหาเรื่องการล้มล้างการปกครองฯ ตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ยังอ้างถึง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 (1) และ (2) ว่าด้วยการยุบพรรคเพราะพรรคการเมืองนั้นมีการกระทำที่ล้มล้างการปกครองฯ หรือเป็นปฏิปักษ์แล้วแต่กรณีด้วย


          ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งคนไทยจะได้รู้พร้อมกันในวันที่ 21 มกราคมนี้

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ