คอลัมนิสต์

เกษตรกรสู้ภัยแล้ง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เกษตรกรสู้ภัยแล้ง บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันจันทร์ที่ 20 มกราคม 2563

 

 


          ดูเหมือนว่าปัญหาภัยแล้งในปีนี้จะเกิดขึ้นเร็วกว่าปีที่ผ่านๆ มา ส่อเค้าความรุนแรงยาวนานมากขึ้น และจากรายงานของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยพบว่า มีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 16 จังหวัด รวม 80 อำเภอ 464 ตำบล 4,117 หมู่บ้าน/ชุมชน แยกเป็น ภาคเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย น่าน เพชรบูรณ์ และอุตรดิตถ์, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 จังหวัด ได้แก่ นครพนม มหาสารคาม บึงกาฬ หนองคาย บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ และนครราชสีมา, ภาคกลาง 5 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา อุทัยธานี ชัยนาท และนครสวรรค์  เมื่อดูระดับน้ำจากเขื่อนใหญ่เล็ก พบว่าประเทศไทยในช่วงฤดูร้อนไปถึงต้นฤดูฝน เสี่ยงเข้าสู่สถานการณ์ขาดแคลนน้ำ คาดว่ามีจังหวัดได้รับผลกระทบ 43 จังหวัด 

 

 

          รัฐบาลได้แสดงความเป็นห่วงปัญหาที่เกิดขึ้นและไม่ได้นิ่งนอนใจโดยมีมาตรการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เป็น 2 ช่วง ตั้งแต่เดือนมกราคม-เมษายน ที่แล้งมาก หลังจากนั้นเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม ที่ฝนจะตกน้อย ซึ่งมีการสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายปกครองและกองทัพสนับสนุนการแจกจ่ายน้ำบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งประสานจังหวัดเตรียมพร้อมแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ด้วยการจัดชุดปฏิบัติการสำรวจข้อมูลสถานการณ์น้ำ ข้อมูลแหล่งน้ำและประมาณการใช้น้ำในพื้นที่หมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ โดยแยกเป็น น้ำสำหรับอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร รวมถึงสำรวจและจัดทำบัญชีแหล่งน้ำ ควบคู่กับการปรับปรุงบัญชีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งให้เป็นปัจจุบัน


          นอกเหนือจากการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังมีแผนงานหลักและโครงสร้างที่จะแก้ไขปัญหาภัยแล้งในระยะยาว แต่บางเรื่องอาจมีการติดขัดในแง่กฎหมายซึ่งก็ต้องค่อยๆ แก้กันไปทีละขั้นตอน รวมถึงการทำประชาพิจารณ์ในบางเรื่อง อย่างข้อเสนอขุดลำน้ำยมและลำน้ำปิงก็ต้องศึกษาให้ถ้วนถี่หาตำแหน่งความเหมาะสม หากขุดในตำแหน่งที่ผิดเพี้ยนไปจากเดิม น้ำก็จะเปลี่ยนทิศทางการไหล แต่เดิมที่มีน้ำอยู่แล้ว อาจทำให้น้ำไม่มีเลยก็ได้ นายกรัฐมนตรียืนยันว่าหลักการตามวิชาการก็ต้องคิดพิจารณาอย่างรอบคอบ หากทำได้ก็ทำ และหลายคนสงสัยทำไมรัฐบาลไม่ขุดลอกท้องน้ำให้หมด ซึ่งมองว่าจะยุ่งไปกันใหญ่ เพราะเส้นทางจะเปลี่ยนไปหมด และในหลายพื้นที่ประชาชนก็ไม่ยอมให้ทำ รัฐบาลก็ไปบังคับไม่ได้ แต่ที่คิดว่าเป็นวิธีที่ดีคือการทำแก้มลิงในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง




          ปัญหาภัยแล้งในปีนี้ดูน่าเป็นห่วงเพราะจากปริมาณน้ำในเขื่อนที่ลดลงร้อยละ 33.1 ซึ่งเป็นการลดลงแทบทุกภาคของประเทศ และยังเป็นระดับน้ำวิกฤติกว่าปี 2558 ที่เกิดภัยแล้งรุนแรงอีกด้วย สัญญาณร้ายที่ปรากฏดูท่าจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาคการเกษตร ทำให้ราคาพืชผลของเกษตกรซึ่งมีรายได้น้อยอยู่แล้วยิ่งจะมีรายได้ลดลงไปกว่าเดิมอีก บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินว่าผลกระทบเบื้องต้นของสถานการณ์ภัยแล้งปี 2563 อาจทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณ 17,000-19,000 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 0.10-0.11 ของจีดีพี ทั้งนี้ยังต้องติดตามระดับความรุนแรงของภัยแล้งโดยเฉพาะเดือนมีนาคม-เมษายน และระยะเวลาการเกิดภัยแล้ง ที่อาจลากยาวไปในช่วงแล้งนอกฤดูกาล ดังนั้นรัฐบาลจึงจำเป็นต้องวางมาตรการรับมือและช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง รวมทั้งกำชับประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำเพื่อเป็นประโยชน์ การวางแผนการทำเกษตรเพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ