คอลัมนิสต์

พลิกบรรทัดฐานศาลรธน.พยากรณ์ชะตา อนาคตใหม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วันที่ 21 มกราคม จะเป็นวันที่ถนนทุกสายมุ่งมาที่ ศาลรัฐธรรมนูญ อีกครั้ง เพราะเป็นวันชี้ชะตาพรรคอนาคตใหม่ว่าจะถูกยุบหรือไม่ ตามคำร้องของ ณฐพร โตประยูร

 

               ประเด็นที่เป็นเหตุของการร้องในคดีนี้ คือ การมีพฤติการณ์การกระทําขัดต่อบทบัญญัติ รัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคแรก ที่บัญญัติว่า “บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้”

 

               

 

               ซึ่งเป็นการพยายามนำการกระทำและการแสดงความคิดเห็นของ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ และ ‘ปิยบุตร แสงกนกกุล’ ทั้งช่วงก่อนที่จะเข้ามาทำพรรคการเมืองและหลังจากได้เข้ามาทำพรรคการเมืองแล้ว มีเจตนาที่จะล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และต้องการเปลี่ยนรูปแบบการปกครองของรัฐ

 

               เช่น ประกาศและอุดมการณ์ของพรรคอนาคตใหม่ที่ไม่เขียนคำว่า “ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” แต่เขียนว่าจะสนับสนุนระบอบการปกครองประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ โดยพรรคอนาคตใหม่พยายามอ้างว่าในเมื่อรัฐธรรมนูญเขียนไว้แล้วว่าสนับสนุนระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขก็เท่ากับพรรคอนาคตใหม่ก็สนับสนุนด้วย 

 

               โดยเฉพาะในกรณีของ ‘ปิยบุตร’ ก็ถูกกล่าวหาว่าเมื่อครั้งในบทบาทนักวิชาการคณะนิติราษฎร์ ที่เสนอลบล้างผลพวงจากการรัฐประหารและแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และการมีงานเขียนเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ เป็นการแสดงความคิดเห็นที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแจ้งชัด

 

               จากข้อกล่าวหาของ ‘ณฐพร’ ทำให้พรรคอนาคตใหม่ต้องเดินหน้าสู้คดีในชั้นศาลรัฐธรรมนูญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยที่ผ่านมาพรรคอนาคตใหม่พยายามขอให้ศาลเปิดการไต่สวนคดีนี้ แต่ที่สุดแล้วก็ไม่มีการเปิดการไต่สวน จนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญได้มีความเห็นให้นัดฟังคำวินิจฉัยในวันที่ 21 มกราคม แทน

 

               สำหรับแนวทางการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับกรณีการล้มล้างการปกครองนั้น ถ้าย้อนกลับไปดูคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในอดีตหลายคดีที่ผ่านมาจะพบว่ายังไม่มีแนวทางชัดเจนอันพอจะบอกได้ว่าการกระทำลักษณะใดที่จะเป็นการล้มล้างการปกครองฯ 

 

               อย่างเมื่อปี 2555 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 18-22/2555 โดยผู้ร้องได้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า การที่รัฐสภามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 เพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ เป็นการกระทำที่ขัดกับมาตรา 68 ที่กำหนดว่า “บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้มิได้” 

 

               โดยผลของมาตรา 68 คือ การให้พรรคการเมืองเลิกกระทำการดังกล่าว ยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคของพรรคการเมืองที่ถูกยุบเป็นระยะเวลา 5 ปี 

 

               อย่างไรก็ตาม แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยออกมาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญจะกระทำไม่ได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ได้มาโดยการลงประชามติของประชาชน ก็ควรจะได้ให้ประชาชนผู้มีอํานาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าสมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยว่าไม่ได้มีการกระทำที่เป็นการล้มล้างการปกครองฯ แต่อย่างใด

 

               ถัดมาในปี 2556 ศาลรัฐธรรมนูญได้เข้ามาวินิจฉัยคำร้องเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ที่อาจเป็นการละเมิดมาตรา 68 อีกครั้ง ภายหลังรัฐสภาได้พยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับที่มาของ ส.ว.

 

               การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ (คำวินิจฉัยที่ 15-18/2556) มีประเด็นน่าสนใจตรงที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวขัดกับเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญและมีผลให้ได้มาซึ่งอำนาจโดยมิชอบ อันมีผลให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวตกไป แต่ปรากฏว่าไม่ได้มีการยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งแต่อย่างใด 

 

               "วินิจฉัยโดยมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 ว่าการดําเนินการพิจารณาและลงมติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เป็นการกระทําที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ...และวินิจฉัยโดยมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ว่ามีเนื้อความที่เป็นสาระสําคัญขัดแย้งต่อหลักการพื้นฐานและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 อันเป็นการกระทําเพื่อให้ได้มาซึ่งอํานาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ฝ่าฝืนมาตรา 68 วรรคหนึ่ง

 

               ส่วนที่ผู้ร้อง ขอให้ยุบพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารของพรรคการเมือง เห็นว่ายังไม่เข้าเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ" ส่วนหนึ่งจาก คำวินิจฉัยที่ 15-18/2556

 

               แต่ภายหลังการประกาศใช้ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ศาลรัฐธรรมนูญได้เข้ามาวินิจฉัยคดีที่ว่าด้วยการล้มล้างการปกครองอีกครั้ง และครั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยให้มีการยุบพรรคการเมืองและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค เพราะเห็นว่าพรรคการเมืองมีการกระทำที่เป็นเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 91 (2) ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 จากกรณีการเสนอชื่อบุคคลให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพรรคไทยรักษาชาติ

 

               ดังนั้น ในวันที่ 21 มกราคม ไม่ว่าผลของคำวินิจฉัยจะออกมาอย่างไร พรรคอนาคตใหม่จะถูกยุบหรือไม่ แต่อย่างน้อยที่สุดจะเป็นการวางบรรทัดฐานที่สำคัญของการล้มล้างการปกครองฯ ต่อไป

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ