คอลัมนิสต์

ผ่าสัญญาจัดซื้อ รถตรวจการณ์อัจฉริยะ ไม่กำหนดยี่ห้อ-รุ่น

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผ่าสัญญาจัดซื้อ "รถตรวจการณ์อัจฉริยะ" มูลค่า 900 ล้าน พบไม่กำหนดยี่ห้อ-รุ่นรถไว้ แถมไม่มีการติดตั้งที่ชาร์จไฟฟ้า "ปลั๊กอิน"

 

               โผล่อีก! โครงการฉาว สตม. ถึงคิวผ่าสัญญาจัดซื้อ “รถตรวจการณ์อัจฉริยะ” มูลค่า 900 ล้าน พบไม่กำหนดยี่ห้อ-รุ่นรถไว้ แถมไม่มีการติดตั้งที่ชาร์จไฟฟ้า “ปลั๊กอิน” ส่งผล ตม.บางพื้นที่จอดทิ้งไว้เฉยๆ ไม่สามารถใช้งานเต็มประสิทธิภาพ ใช้เฉพาะ “รับ-ส่ง” เจ้านาย ชี้ไม่เหมาะภารกิจเชิงรุกเหตุด่วนเหตุร้าย 

 

               หลังจาก “คม ชัด ลึก” เข้าตรวจสอบการจัดซื้อโครงการต่างๆ ของสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) พบหลายโครงการมีพิรุธ อาทิ โครงการไบโอเมทริกซ์ ที่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) เป็นผู้ดำเนินการ การจัดซื้อเรือตรวจการณ์ จำนวน 27 ลำ มีราคารวมกว่า 348 ล้านบาท

 

               ล่าสุดยังมีการจัดซื้อรถไฟฟ้าตรวจการณ์อัจฉริยะจำนวน 260 คัน วงเงิน 900 ล้านบาท เพื่อใช้ในภารกิจ “รถสายตรวจ” ตามด่านชายแดน ซึ่งพบว่ามีการใช้งานไม่คุ้มประสิทธิภาพและไม่มีความพร้อมรองรับการใช้งานรถไฟฟ้าตรวจการณ์อัจฉริยะดังกล่าว

 

               วันที่ 19 มกราคม มีรายงานแจ้งว่า สตม.ได้จัดซื้อรถยนต์ปฏิบัติการ หรือรถยนต์ไฟฟ้าตรวจการณ์อัจฉริยะ (SMART PATROL CAR : SPC) จากค่ายกังหันสีฟ้า หรือบีเอ็มดับเบิลยู โดยเป็นรถใช้ไฟฟ้าแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ การจัดซื้อรถยนต์รุ่นนี้ อ้างวัตถุประสงค์เพื่อกระจายไปตามด่านตรวจคนเข้าเมือง หรือ ด่าน ตม.ทั่วประเทศ

 

               เพื่อใช้ในลักษณะ “รถสายตรวจ” ตามภารกิจของ สตม. เช่น ที่ด่าน ตม.ช่องเม็ก, ด่าน ตม.สุไหงโก-ลก, ด่าน ตม.ใน จ.ยะลา หรือปัตตานี แต่จากการตรวจสอบพบว่า สำนักงาน ตม.บางแห่ง ไม่มีการติดตั้งที่ชาร์จไฟฟ้า หรือที่เรียกว่า “ปลั๊กอิน” เอาไว้ด้วย ทำให้รถไฟฟ้าตรวจการณ์อัจฉริยะที่สั่งซื้อ และส่งมอบในบางพื้นที่ถูกจอดทิ้งไว้เฉยๆ

 

               ขณะเดียวกันยังพบว่าการจัดซื้อได้ดำเนินการผ่านบริษัทผู้แทนจำหน่ายรถบีเอ็มดับเบิลยู ซึ่งมีศูนย์ให้บริการอยู่หลายสาขาทั่วประเทศ แต่มีจุดน่าสังเกตในหนังสือสัญญาซื้อขาย พบว่าได้จัดซื้อผ่าน บริษัท จีเนียส ทราฟฟิค ซีสเต็ม จำกัด ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่บนถนนพุทธมณฑล สาย 5 ต.ไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม

 

               นอกจากนี้ พบว่าหนังสือสัญญาทำขึ้นเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2560 ที่สำนักงานส่งกำลังบำรุง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมีข้อตกลง 13 ข้อ ที่สำคัญ เช่น ข้อ 1 ข้อตกลงซื้อขาย รถยนต์ไฟฟ้าตรวจการณ์อัจฉริยะ ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ประเภทที่ 1 จำนวน 230 คัน พร้อมติดตั้งอุปกรณ์ ราคาคันละ 3.4 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 792 ล้านบาท

 

               ส่วนประเภทที่ 2 จำนวน 30 คัน พร้อมติดตั้งอุปกรณ์ ราคาคันละ 3.5 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 106 ล้านบาท รวมราคาทั้งโครงการ 898 ล้านบาท ซึ่งคิดรวมภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 58 ล้านบาท รวมเป็น 956 ล้านบาท แต่จุดน่าสังเกตในสัญญาการจัดซื้อนั้น ไม่ระบุว่ารถไฟฟ้าตรวจการณ์อิจฉริยะ เป็นรถยนต์รุ่นหรือยี่ห้อใด

 

               ส่วนสัญญา ข้อ 4 การส่งมอบ ระบุว่า ผู้ขายต้องส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อ คือ สตม. ภายใน 270 วัน ซึ่งครบกำหนดวันที่ 25 ธันวาคม 2561 พร้อมแบ่งการส่งมอบออกเป็น 2 งวด โดยงวดที่ 1 ภายใน 120 วัน ครบกำหนดส่งมอบวันที่ 28 กรกฎาคม 2561

 

               โดย (1) ส่งมอบและติดตั้งอุปกรณ์สำหรับศูนย์งาน สตม. รวมทั้งติดตั้งซอฟต์แวร์และระบบเครือข่ายวงจรสื่อสาร พร้อมเชื่อมสัญญาณการสื่อสารจนสามารถทำงานร่วมกับระบบต่างๆ และสามารถใช้งานได้เป็นอย่างดี และ (2) ส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าตรวจการณ์อัจฉริยะ ประเภทที่ 1 พร้อมติดตั้งอุปกรณ์ จำนวน 70 คัน

 

               ส่วนงวดที่ 2 ภายใน 270 วัน ครบกำหนดส่งวันที่ 25 ธันวาคม 2561 (1) ส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าตรวจการณ์อัจฉริยะ ประเภทที่ 1 พร้อมติดตั้งอุปกรณ์ จำนวน 160 คัน (2) ส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าตรวจการณ์อัจฉริยะ ประเภทที่ 2 จำนวน 30 คัน ซึ่งส่วนท้ายของสัญญาข้อนี้ กำหนดว่าการส่งมอบจะครั้งเดียวหรือหลายครั้ง ต้องแจ้งต่อ ณ สำนักงานส่งกำลังบำรุง เป็นหนังสือก่อนส่งมอบไม่น้อยกว่า 5 วันทำการของผู้ซื้อ

 

               สำหรับ ข้อ 6 การชำระเงิน กำหนดไว้ว่า ผู้ซื้อจะชำระเงินเป็น 2 งวด โดยงวดที่ 1 จำนวน 224 ล้านบาท และงวดที่ 2 จำนวน 674 ล้านบาท แต่จะจ่ายเมื่อผู้ซื้อได้รับมอบของโดยถูกต้องครบถ้วน และจ่ายด้วยการโอนเงินผ่านเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้ขาย คือ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสนามเป้า ชื่อบัญชี บจก. จีเนียส ทราฟฟิค ซีสเต็ม

 

               อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบ บริษัท จีเนียส ทราฟฟิค ซีสเต็ม จำกัด พบว่าเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นองค์กรด้านการวิจัย พัฒนา ผลิต จำหน่าย รวมถึงให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสรเทศ การสื่อสาร และอิเล็กทรอนิกส์ ทุกรูปแบบ

 

               รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับข้อมูลด้านเทคนิครถตรวจการณ์อัจฉริยะ พบว่าเป็นรถยนต์บีเอ็มดับเบิลยู รุ่นซีรีส์ 5 edrive ซึ่งภายในห้องโดยสาร มีการติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์แบบแล็ปท็อป พร้อมวิทยุสื่อสาร รวมทั้งมีการติดตั้งกล้องบันทึกภาพเคลื่อนไหวบนหลังคา ไว้ให้เจ้าหน้าที่ใช้ปฏิบัติงาน

 

               ขณะที่ แหล่งข่าวใน สตม. เปิดเผยว่า รถไฟฟ้าสายตรวจอัจฉริยะดังกล่าว เมื่อมีการจัดซื้อและส่งมอบไปยังสำนักงาน ตม.ในพื้นที่ต่างๆ แล้ว ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีการใช้งานตามภารกิจ โดยมากเน้นใช้ต้อนรับผู้บังคับบัญชา หรือที่เรียกว่างาน “รับ-ส่งนาย” เช่น รับ-ส่งที่สนามบินเวลาผู้บังคับบัญชามาตรวจราชการหรือตรวจเยี่ยมหน่วย

 

               เพราะการปฏิบัติงานสายตรวจ หรือเป็นรถตรวจการณ์ตามวัตถุประสงค์ ไม่สามารถทำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพราะการจะใช้งานรถไฟฟ้าสายตรวจอัจฉริยะแต่ละครั้ง ต้องชาร์จไฟพร้อมถึงจะออกใช้งานได้ ฉะนั้นหากรถยังอยู่ในกระบวนการชาร์จไฟ ก็จะไม่สามารถออกปฏิบัติงานในภารกิจเร่งด่วนได้ จึงเหมาะสำหรับภารกิจเชิงรับเท่านั้น คือการตระเวนตรวจตามรอบ 

 

               “ที่สำคัญหากจะปฏิบัติภารกิจเชิงรุก ก็มีข้อจำกัดที่พลังงานไฟฟ้าจากการชาร์จเต็ม 1 ครั้ง จะทำให้รถวิ่งได้ 200-400 กิโลเมตร แล้วแต่รุ่นรถและขนาดของเครื่องยนต์ ฉะนั้นหากออกปฏิบัติภารกิจที่ไม่ใช่วงรอบปกติ หรือเจอเหตุด่วนเหตุร้ายระหว่างทาง อย่างเช่น การติดตามจับกุมคนต่างด้าวลักลอบเข้าเมือง ก็จะไม่สามารถใช้งานได้เลย เพราะวิ่งๆ ไปอาจแบตเตอรี่หมดได้ ขณะที่สถานีบริการสำหรับชาร์จไฟ หรือ EV Charger ยังมีน้อยมาก และไม่ครอบคลุม โดยเฉพาะในต่างจังหวัด” แหล่งข่าวระบุ และว่า

 

               เป็นเช่นเดียวกับเรือยนต์ตรวจการณ์ของ สตม. ก็มีปัญหาในการใช้งานเช่นกัน แม้ภารกิจของ สตม.จะมีบางหน้างานที่เกี่ยวข้องกับเรือด้วย เช่น ด่านตรวจคนเข้าเมืองที่อยู่บริเวณชายแดนที่มีแม่น้ำหรือทะเล แต่เมื่อมีการส่งเรือมาให้ประจำการ ก็จะเกิดคำถามต่างๆ ตามมา เช่น มีงบสำหรับเติมน้ำมันหรือไม่ มีพลขับสำหรับขับเรือหรือยัง เมื่อเรือเสียหายต้องซ่อม มีงบซ่อมหรือไม่ มีอู่เรือที่รับซ่อมในพื้นที่หรือเปล่า 

 

               “ดังนั้นเหล่านี้ล้วนมีผลต่องบประมาณและกำลังพลทั้งสิ้น เพราะแม้แต่กองบังคับการตำรวจน้ำที่มีภารกิจเรื่องเรือโดยตรงก็ยังมีปัญหานี้ มีเรือจอดนิ่งๆ มากมายเพราะงบเติมน้ำมันไม่เพียงพอ ซึ่งการจัดซื้อเรือยนต์ตรวจการณ์ของ สตม. ไม่ได้มีการเตรียมการรองรับในเรื่องเหล่านี้ไว้เลย” รายงานข่าวกล่าว

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ