คอลัมนิสต์

ความลับห้องประชุม งบประมาณต่อรอง-ล็อบบี้-รัฐบาลคุมเข้ม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ความลับห้องประชุม งบประมาณต่อรอง-ล็อบบี้-รัฐบาลคุมเข้ม คอลัมน์...  SEPCIAL WEEKEND

 

 

          แม้ว่าการพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ของสภาผู้แทนราษฎรจะจบลงไปแล้ว แต่ควันหลงของการประชุมมาราธอนยาวนานกว่า 4 วัน ก็ยังมีอยู่พอสมควร เพราะเวทีการอภิปรายงบประมาณครั้งนี้ไม่ต่างจากเวทีแจ้งเกิดของส.ส. พรรคอนาคตใหม่ หลายคน

 

 

          โดยส.ส.หน้าใหม่ของพรรคอนาคตใหม่จำนวนไม่น้อยสามารถแสดงศักยภาพนำข้อมูลที่อยู่ในซอกหลืบของเอกสารงบประมาณมาตีแผ่กลางสภาผู้แทนราษฎรให้ประชาชนได้เห็นเป็นที่ประจักษ์ และจังหวะนี้เองที่พรรคอนาคตใหม่ได้จัดเวทีการอภิปรายงบประมาณนอกสภาเพื่อนำความลับในห้องประชุมคณะกรรมาธิการชุดใหญ่และคณะอนุกรรมาธิการแต่ละชุดที่พิจารณาในรายละเอียดมาเปิดต่อสาธารณะครั้งแรกในเวทีทีมีชื่อว่า “How to ตัด : ตัดงบอย่างไรให้เหลือเท่าเดิม”


          ทั้งนี้การเสวนาเริ่มต้นที่ พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ เล่าว่า “เมื่อพรรคแต่งตั้งให้ไปทำหน้าที่กรรมาธิการวิสามัญ และคิดว่าคงได้ตัดงบประมาณตามที่ตั้งใจ แต่สิ่งที่เห็น คือ กรรมาธิการวิสามัญมาจากรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่มีเสียงมากถึง 39 เสียง โหวตทีไรก็ชนะทุกที เราต้องไปต่อสู้เพราะรัฐบาลคุมเสียงส่วนใหญ่”


          “เอกสารตอนแรกมีแค่สองลัง แต่ตอนหลังมีอีกเป็นกองๆ รวมมากกว่า 500 เล่ม บางเล่มบาง บางเล่มหนา รัฐธรรมนูญบอกว่าการทำงบประมาณต้องสร้างผลสัมฤทธิ์ เราจึงต้องเข้าไปตรวจสอบตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ อ่านเอกสารกันหูตาแฉะเลยครับ”


          จิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ ส.ส.กทม. พรรคอนาคตใหม่ อธิบายว่า เราเป็นพรรคการเมืองใหม่ เข้าไปนั่งสภาครั้งแรก งบประมาณเป็นเรื่องสำคัญของประเทศ เวลาพรรคการเมืองจะส่งคนเข้าไปทำหน้าที่ในคณะกรรมาธิการวิสามัญส่วนใหญ่จะใช้ระบบอาวุโส ต้องเป็น ส.ส. หลายสมัยหรือเป็นรัฐมนตรีมาก่อน




          “ครั้งแรกพรรคโทรมาหาผมให้เข้าไปทำหน้าที่ในกรรมาธิการวิสามัญ ผมเองจบด้านกฎหมายมาแต่ไม่เคยทำงานด้านงบประมาณมาก่อน เราเข้าไปทำงานนี้ก็ได้เห็นภาพรวมของการใช้งบประมาณ ความคาดหวังในการทำหน้าที่ในคณะอนุกรรมาธิการก็หวังว่าจะได้เข้าไปตัดงบประมาณที่มีความซับซ้อนหรือรายการใช้เงินงบประมาณที่ไม่เป็นประโยชน์ แต่เรียนตามตรงว่ามันมีสัดส่วนของระบบพรรคการเมืองและระบบรัฐบาลและฝ่ายค้าน อย่างในคณะอนุกรรมาธิการที่ผมทำหน้าที่นั้นมีฝ่ายรัฐบาล 6 คน ฝ่ายค้าน 4 คน เวลาโหวตอะไรก็แพ้ อันนี้คือความจริง”


          “แม้จะเข้าไปคุยกับฝ่ายรัฐบาลจนสามารถตัดงบประมาณบางรายการได้ แต่สุดท้ายเมื่อคณะอนุกรรมาธิการตัดงบประมาณได้ ปรากฏว่าก็ต้องเข้าไปคณะกรรมาธิการชุดใหญ่ แล้วบอกให้คืนหน่วยงาน ทุกอย่างก็จบ”


          “ที่ผมรู้สึกอึดอัดที่สุด คือ การที่เราเป็นนักการเมือง เราต้องวางตัวในระดับหนึ่ง และอย่าเกรงใจข้าราชการ แต่ปรากฏว่าในสภาพความเป็นจริง พอปลัดกระทรวงหรืออธิบดีกรมเข้ามา เวลาไม่ผ่านงบประมาณให้หรือต้องมีการเจรจา ก็ไปคุยกันข้างหลัง ปลัดและอธิบดีมีอะไรมาคุยกันกินข้าวกัน ผมว่าอย่างนี้ผมถือว่าไม่ได้ทำหน้าที่เพื่อประชาชน อย่างนี้ใช้ไม่ได้ นี่คือเรื่องผิดปกติ”


          จิรวัฒน์ สรุปว่าความผิดปกติในส่วนของงบประมาณที่ผมเห็นตั้งแต่ระดับเบาไปถึงหนัก อย่างเบา เช่น ค่าเช่าคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งราคา 6 หมื่นบาทต่อปี แต่พอคณะอนุกรรมธิการสอบถามไปยังสำนักงบประมาณพบว่าส่วนใหญ่มีการจัดซื้อ 17,000 บาท เท่านั้น หรืออย่างหนัก เช่น งบประมาณของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ที่พยายามดึงประชาชนออกมาจากระบบการเมืองเพื่อให้ไปอยู่ในระบบทหาร เราจึงได้เห็นงบประมาณแจกจ่ายไปเพื่อทำภารกิจนี้


          ด้าน สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ระบุว่า “ผมเหมือนกับส.ส.อนาคตใหม่หลายคนที่เข้ามาทำงานด้วยเจตนาที่ดี เพื่อตรวจการใช้เงินอย่างละเอียด และเราก็ทำการบ้านมา แต่ก็ไปเจอกฎตามรัฐธรรมนูญ คือ มาตรา 144 วรรค 3 ที่เป็นอุปสรรคต่อการพิจารณางบประมาณ โดยกฎหมายให้ตัดอย่างเดียว แต่เปลี่ยนให้ไปเพิ่มเป็นอย่างอื่นไม่ได้”


          “ในการทำงานของคณะอนุกรรมาธิการก็มาเจอเรื่องโควตาทางการเมือง ฝ่ายรัฐบาล 6 คน ฝ่ายค้าน 4 คน โหวตอย่างไรฝ่ายค้านก็แพ้ ดังนั้นสิ่งที่ตัดงบประมาณได้จริงๆ นั้น ก็ต้องเป็นไขมันในทางงบประมาณจริงๆ แต่ไม่ได้มีการตัดรายการใช้งบประมาณที่ไม่มีความจำเป็นอย่างแท้จริง”


          “เราชี้แจงสารพัดเหตุผลเพื่อให้ตัดงบประมาณ แต่สุดท้ายมาจบด้วยการโหวต โดยฝ่ายรัฐบาลที่มีมากกว่าพยายามจะไม่ใช้การโหวตเพื่อไม่ให้เสียบรรยากาศการทำงาน ต่อให้เราพยายามพูดมากอย่างไร สุดท้ายประธานในที่ประชุมก็จะบอกว่าจะยอมรับการลดงบประมาณได้เท่าไหร่ในภาพรวม แทนที่จะตัดรายการที่ไม่มีความจำเป็นจริงๆ”


          สุดท้าย เอกการ ซื่อทรงธรรม ส.ส.แพร่ พรรคอนาคตใหม่ กล่าวในทำนองเดียวกันว่า “การเข้าไปทำงานในคณะอนุกรรมธิการ ทีแรกนึกว่าทุกคนจะแฮปปี้ ปรากฏว่ามีการล็อบบี้ตำแหน่งกันเรียบร้อย ทั้งประธาน เลขานุการ และโฆษกคณะกรรมาธิการ เมื่อเราเข้ามาทำงานก็พบว่าเจอการทำงานในลักษณะที่มองทุกอย่างเป็นง่ายๆ แต่มีการทำกันตอนไหนก็ไม่รู้ ไปคุยกันแบบไหนก็ไม่ทราบ หรือมีการล็อบบี้ก่อนเข้ามาในห้องประชุมกันหรือเปล่า”


          “คณะอนุกรรมาธิการที่ผมเข้าไปทำงานไม่มีการลงมติ แต่มีลักษณะอะลุ้มอล่วยในเชิง "เอาน่า..“ ”ปล่อยๆ ไป" หรือมีการเสนอเพื่อให้เราเคารพการตัดสินใจของพรรครัฐบาล และทุกอย่างก็อยู่ที่ประธานคณะอนุกรรมาธิการ”


          ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าพรรคอนาคตใหม่กลายเป็นผู้สร้างมาตรฐานใหม่ในการอภิปรายแล้ว จึงไม่แปลกที่กระแสของพรรคอนาคตใหม่ยังคงแรงดีต่อเนื่องและไม่ตกลงอย่างที่ใครหลายคนสบประมาทเอาไว้


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ