คอลัมนิสต์

สภาวิศวกรชงรัฐ 8 แนวทางแก้ฝุ่น

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สภาวิศวกรเสนอ 8 แนวทางแก้ฝุ่นพิษ เก็บภาษีฝุ่นจากเจ้าของอาคารที่ละเลย ห้ามรถควันดำเข้าเมืองกรุง

 

               สภาวิศวกรเสนอ 8 แนวทางแก้ฝุ่นพิษให้เก็บภาษีฝุ่นจากเจ้าของอาคารที่ละเลย-ห้ามรถควันดำเข้าเมืองกรุง ด้านนักวิชาการแนะเลิกใช้เครื่องยนต์ดีเซล ขณะที่ “วราวุธ” เผยจ่อทำความเข้าใจกลุ่มรถบรรทุกปมห้ามวิ่งวันคี่เชื่อไร้ปัญหามาตรการระยะสั้นแค่ 2 เดือน

 

               เมื่อวันที่ 16 มกราคม ที่สภาวิศวกร ซอยรามคำแหง 39 ถนนรามคำแหง กทม. ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร พร้อมด้วย ดร.ประเสริฐ ตปนียางกูร คณะอนุกรรมการประสานงานด้านภัยพิบัติ และผศ.ยุทธนา มหัจฉริยวงศ์ ประธานคณะทำงานศึกษาหาแนวทางป้องกันแก้ไขไฟป่าและฝุ่น พีเอ็ม 2.5 ร่วมแถลงข่าวแนวทางการรับมือฝุ่นพีเอ็ม 2.5 มหันตภัยร้ายควบคุมน่านฟ้า กทม.

 

               โดยเสนอ 8 แนวทางสร้างมาตรการรองรับภัยฝุ่นละอองขนาดเล็กในระยะยาว ได้แก่ 1.ระบบแจ้งเตือนมลพิษในเมือง 2.แนวคิดการพัฒนาภาษีฝุ่น 3.แนวคิด Smart mobility 4.กำหนดจุดเสี่ยงและพื้นที่เสี่ยง Risk Area 5.การติดสปริงเกอร์บนตึกสูงแก้ไม่ตรงจุด 6.พัฒนาระบบบิ๊กดาต้า 7.เตือนกลุ่มเสี่ยงเด็กเล็กและ 8.นโยบายแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

 

               ประชาชนควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ลดกิจกรรมที่เกิดขึ้นในเขตมลพิษและสวมหน้ากากอนามัยชนิดเอ็น 95 รวมทั้งขอเสนอให้มีการแจ้งข้อมูลพื้นที่เสี่ยงและอัพเดทสถานการณ์ฝุ่นผ่านโทรศัพท์มือถือ พร้อมเดินหน้ามาตรการด้านกฎหมาย

 

               ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวว่า การประกาศสงครามกับรถควันดำต้องห้ามจริงจังไม่ให้รถที่ไม่ได้ดูแลสภาพเข้ามาวิ่งในพื้นที่ กทม. ทั้งรถบรรทุก รถกระบะขนส่งสำหรับงานก่อสร้าง รวมทั้งรถประจำทางของขสมก. ที่ยังใช้เครื่องยนต์ดีเซลอยู่

 

สภาวิศวกรชงรัฐ 8 แนวทางแก้ฝุ่น

 

               ดังนั้นภาครัฐควรออกกฏหมายเช่นเดียวกับการเสนอให้เอาผิดเจ้าของอาคารที่ปล่อยปละละเลย จนทำให้เกิดปัญหาฝุ่น ควรจัดเก็บค่าภาษีฝุ่นเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการหรือเจ้าของอาคารมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมให้มากขึ้น อาคารไหนไม่รับผิดชอบต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น

 

               ด้าน ดร.ประเสริฐ กล่าวว่า มีข้อพิสูจน์ออกมาชัดเจนว่าฝุ่นพิษเป็นอันตรายต่อชีวิต โดยองค์การอนามัยโลก (ฮู) ได้ระบุเมื่อฝุ่นเข้าสู่ร่างกายลงปอดและสมองจะมีอันตรายถึงแก่ชีวิต โดยเฉพาะเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ หรือแม้แต่คนที่มีสุขภาพแข็งแรง หากสูดฝุ่นเข้าไปนานๆ ก็ถือว่าเป็นอันตรายเช่นกัน จึงเรียกว่าตายผ่อนส่ง

 

               ดังนั้นภาครัฐและประชาชนต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาและป้องกันสุขภาพด้วยการทำ 3 หยุด ดังนี้ 1.หยุดสูบบุหรี่ 2.หยุดการเผา และ 3.หยุดเครื่องที่มันชำรุด พวกเครื่องยนต์ดีเซลที่ใช้งานมานาน จึงขอเสนอให้รัฐบาลเอาจริงกับพวกรถบรรทุก รถโดยสารสาธารณะ

 

               ทุกคันต้องตรวจสภาพ ปรับแก้เครื่องยนต์ให้ดี หากไม่ดำเนินการแก้ไขต้องหยุดวิ่งทันที โดยเฉพาะพวกรถบรรทุก ปัจจุบันวิ่งอยู่ใน กทม.ประมาณ 1.4 แสนคัน และพวกรถวิ่งมานานเกิน 5 ปี ต้องมาตรวจควันดำเพื่อช่วยลดฝุ่น ต้องเร่งแก้ไขที่ต้นตอของปัญหาโดยตรง

 

               ขณะที่ นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุถึงจุดอ่อนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นตามแผนวาระแห่งชาติที่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่ารัฐไม่ได้ทำอะไร คือ 1.ไม่มีเจ้าภาพที่แท้จริงหรือหน่วยงานหลักในการสั่งการแก้ไขปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จ 2.ระบบการพยากรณ์ความรุนแรงของฝุ่นยังไม่ชัดเจนและไม่แม่นยำ

 

               3.การประชาสัมพันธ์เรื่องอันตรายและการให้ประชาชนป้องกันตัวเป็นรูปแบบเดิมๆไม่ได้กระตุ้นหรือจูงใจให้เกิดความตระหนักมากขึ้น 4.ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือที่มีปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ทุกปียังไม่ได้บูรณาการในการจัดการเรื่องการเผาวัสดุทางการเกษตรเหลือใช้ให้ชัดเจน

 

               5.ปีนี้รัฐบาลโดยสำนักงานอ้อยและน้ำตาลกำหนดให้โรงงานน้ำตาลรับอ้อยไฟไหม้เข้าโรงงานได้ร้อยละ 50 โดยจะหักเงินค่าปรับ 30 บาทต่อตัน ซึ่งจะเกิดการเผาไร่อ้อยประมาณ 6 ล้านไร่ โดยอ้อยไฟไหม้เมื่อตัดแล้วต้องเข้าหีบอ้อยภายใน 2 วันไม่เช่นนั้นความหวานจะลดลงมาก ดังนั้นจะเห็นว่าในเดือนมกราคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์จะเกิดการเผาไร่อ้อยจำนวนมากในเรื่องนี้รัฐบาลยังไม่ชัดเจนเช่นกัน

 

               เช่นเดียวกับ นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้ความเห็นถึงยาแรงใช้มาตรการกำหนดจำนวนรถยนต์เข้าเมืองซึ่งภาครัฐเตรียมห้ามรถบรรทุก 10 ล้อวิ่งในวันคี่ยกเว้นรถบรรทุกอาหารสด เป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น

 

สภาวิศวกรชงรัฐ 8 แนวทางแก้ฝุ่น

 

               เพราะปัญหาระยะยาวคือรถยนต์ใช้น้ำมันดีเซล กล้าแก้ปัญหาเรื่องภาษี เรื่องการลดจำนวนรถลงหรือไม่ ระยะสั้นอาจะจำกัดวันรถยนต์ได้แต่นอกเวลาก็จะมีรถยนต์วิ่งเข้าเมืองทำให้รถติดมากยิ่งขึ้นก็เป็นปัญหาอีก จึงเป็นแค่เปลี่ยนแปลงปัญหาจากเวลาหนึ่งไปอีกเวลาหนึ่ง

 

               ทั้งนี้หลักการใครก่อมลพิษคนนั้นต้องรับภาระเป็นหลักการสำคัญที่รัฐบาลควรนำมาใช้ในการจัดลำดับความสำคัญของการแก้ปัญหาฝุ่นจากการขนส่งและคมนาคม เช่น การขึ้นภาษีน้ำมันดีเซล การยุติการใช้เครื่องยนต์ดีเซลเก่า แต่มาตรการเหล่านี้ก็ต้องใช้ความกล้าหาญของรัฐบาลในการเดินหน้าเพื่อสร้างความเข้าใจและทำให้การแก้ปัญหาฝุ่นที่ต้นทางเกิดขึ้นจริง

 

               ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมาตรการยาแรงห้ามรถบรรทุก 10 ล้อยกเว้นรถบรรทุกขนอาหารสดวิ่งเข้าเมืองในวันคี่ เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นพิษพีเอ็ม 2.5 ว่ากระทรวง ทส.

 

               โดยคณะกรรมการควบคุมมลพิษเตรียมนำเสนอมาตรการเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันอังคารที่ 21 มกราคมนี้ ซึ่งแต่ละมาตรการที่จะออกมานั้นต้องเรียงจากการขอความร่วมมือและเพิ่มความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ

 

               ส่วนเรื่องการทำความเข้าใจระหว่างกระทรวง ทส. กับผู้ประกอบการขนส่งรถบรรทุกจะมีการหารือพูดคุยกันและภาคอุตสาหกรรมก็ได้ติดต่อเข้ามาเพื่อระบุว่ายินดีช่วยลดปริมาณการผลิต

 

               ทั้งนี้มาตรการที่ขอความร่วมมือนี้ไม่ใช่การบังคับใช้ทั้ง 365 วัน เรื่องรถบรรทุกก็ขอความร่วมมือเพียงแค่เดือนมกราคมและกุมภาพันธ์เท่านั้นเพื่อบรรเทาสถานการณ์ลง จากนั้นก็จะเปิดให้รถวิ่งเหมือนเดิม เชื่อว่าทุกคนมีจิตสำนึกและความตื่นตัวเรื่องมลภาวะซึ่งมาตรการของเราคงไม่ต้องไปถึงการใช้ยาแรง

 

               ด้านกรมควบคุมลพิษ (คพ.) ได้รายงานข้อมูลคุณภาพอากาศประจำวันนี้ เวลา 07.00 น. ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยกรมควบคุมมลพิษร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) จำนวน 47 สถานี ตรวจวัดค่าได้ 26–57 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ซึ่งค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม

 

               โดยปริมาณฝุ่นละอองในภาพรวมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกือบทุกพื้นที่เมื่อเทียบกับเมื่อวานนี้ (15ม.ค.) โดยพบพื้นที่ที่มีปริมาณฝุ่นละอองเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ 7 พื้นที่ คาดว่าสถานการณ์ฝุ่นละอองจะดีขึ้นในวันที่ 17 มกราคมไปแล้ว

 

               ขณะที่กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน 7 เขตพื้นที่ คือ เขตวังทองหลาง ด้านหน้าปั๊มน้ำมันเอสโซ่ ซอยลาดพร้าว 95, เขตบางคอแหลม ริมถนนพระราม 3-เจริญกรุง, เขตบางเขน ริมถนนพหลโยธิน, เขตพระนคร ริมถนนสามเสน

 

               เขตคลองเตย ภายในสำนักงานเขตคลองเตย, เขตหลักสี่ ภายในสำนักงานเขตหลักสี่ และเขตดินแดง ริมถนนวิภาวดี วัดได้สูงสุด 87 มคก./ลบ.ม. ทั้งนี้ดัชนีคุณภาพอากาศส่วนใหญ่อยู่ในระดับปานกลางถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ