คอลัมนิสต์

เพื่อไทย ขาลง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เพื่อไทย ขาลง โดย...ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์

 

 

          ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว ก่อนการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 พรรคเพื่อไทยมีคะแนนนิยมจากการสำรวจของนิด้าโพล ประมาณ 32%  ในขณะที่ผลการสำรวจความนิยมทางการเมืองรายไตรมาสครั้งที่หนึ่งเมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา คะแนนนิยมพรรคเพื่อไทยมีเพียง 19% ซึ่งน้อยกว่าพรรคอนาคตใหม่ประมาณ 11 %

 

 

          สำหรับผลการเลือกตั้งเมื่อ 24 มีนาคม 2562 พรรคเพื่อไทยได้จำนวนที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุด โดยมีคะแนนป๊อปปูลาร์โหวต จากทั้งประเทศเป็นอันดับสองประมาณ 7.9 ล้านเสียง ซึ่งน้อยลงกว่าการเลือกตั้งในปี 2554 ที่เคยได้ 15.7 ล้านเสียง  อย่างไรก็ตามหลังจากที่พรรคเพื่อไทยไม่สามารถรวบรวมคะแนนเสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาลในปี 2562 ได้ จึงกลายเป็นพรรคแกนนำฝ่ายค้าน โดยมี นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และคุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นประธานยุทธศาสตร์ของพรรค


          ในการเลือกตั้งซ่อมที่ จ.ขอนแก่น เมื่อปลายปี 2562 พรรคเพื่อไทยพ่ายแพ้ให้พรรคพลังประชารัฐ ทั้งๆ ที่ พื้นที่นี้เป็นฐานคะแนนเสียงของพรรคเพื่อไทยมาเป็นเวลานาน และส่งผลให้คุณหญิงสุดารัตน์ ลาออกจากการเป็นประธานยุทธศาสตร์ของพรรค เปิดช่องให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง แสดงบทบาทนำในพรรคแทน (ทำไมไม่ใช่หัวหน้าพรรคสมพงษ์ อมรวิวัฒน์?) ในขณะเดียวกันการโหวตลงคะแนนเสียงในสภาหลายครั้งที่ผ่านมาดูเหมือนว่าจะมีงูเห่าที่เปิดเผยตัวอย่างชัดเจนและที่ยังไม่เปิดเผยตัวอาศัยอยู่ในพรรคเพื่อไทยจำนวนหนึ่ง (บางกระแสคาดการณ์ว่าจะมีประมาณ 10–20 คน) งูเห่าเหล่านี้มีทั้งที่โหวตสวนมติพรรค (แสดงตนชัดเจน) และกลุ่มตัดสินใจไม่โหวตใดๆ (น่าจะมีความละอายใจอยู่เล็กๆ)

 



          คะแนนที่หายไปเกือบ 8 ล้านเสียง ผลโพลล์ที่แสดงให้เห็นถึงคะแนนนิยมที่ลดลง ความขัดแย้งภายในพรรค ที่ออกมาตามหน้าสื่อรวมถึงพฤติกรรมงูเห่าของสมาชิกพรรคบางคนทำให้เกิดคำถามว่าพรรคเพื่อไทยอยู่ในช่วงขาลงจริงหรือ? อะไรคือปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้พรรคดูอ่อนแอลง


          ประเด็นแรก พรรคเพื่อไทยวางยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพลาดจุดเดียวทำให้แพ้ทั้งกระดาน การแบ่งออกเป็นหลายพรรคแต่เป็นพันธมิตรกัน ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อชาติ พรรคไทยรักษาชาติ  เป็นยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องหากจะเอาชนะภายใต้รัฐธรรมนูญปัจจุบัน  แต่ข้อผิดพลาดคือกลยุทธ์การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีที่มิบังควรของพรรคไทยรักษาชาติจนนำไปสู่การถูกยุบพรรคและการถูกตัดสิทธิทางการเมืองของแกนนำพรรคจำนวนหนึ่ง ข้อผิดพลาดเชิงกลยุทธ์ที่ตามมาคือการเทคะแนนของพรรคไทยรักษาชาติให้พรรคอนาคตใหม่และการเสนอชื่อหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสภา ซึ่งในที่สุดกระแสพรรคอนาคตใหม่ก็แรงขึ้นอย่างรวดเร็วและกลายมาเป็นคู่แข่งที่สำคัญที่สุดของพรรคเพื่อไทยในขณะนี้และอาจรวมถึงในอนาคตด้วย


          ประเด็นที่สอง พรรคเพื่อไทยถูก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรคพลังประชารัฐ แย่งฐานคะแนนเสียงดั้งเดิมของพรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับรากหญ้าที่เป็นฐานคะแนนเสียงที่สำคัญตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเกิดจากอดีตแกนนำพรรคเพื่อไทยกลุ่มหนึ่งย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ พร้อมทั้งนำเสียงสนับสนุนตามไปด้วย และอีกส่วนหนึ่งคือนโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามุ่งเอาใจคนรากหญ้า เช่น โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นต้น ทำให้คะแนนจากกลุ่มคนรากหญ้าจำนวนหนึ่งหันไปสนับสนุนนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์


          ประเด็นที่สามคือกระแสข่าวมากมาย (ไม่รู้จริงหรือเปล่า) ว่าคนแดนไกลถอดใจแล้ว เพราะมองออกว่าในระยะเวลา 5 ปีจากนี้ (2562) เป็นเรื่องยากที่พรรคเพื่อไทยจะเอาชนะ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ว่าจะเป็นด้วยเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญและนโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่มุ่งชิงคะแนนเสียงคนรากหญ้ามาจากพรรคเพื่อไทย จึงทำให้คนแดนไกลลดบทบาททางการเมืองของตัวเองลงและไปมุ่งเน้นทำธุรกิจในต่างแดนมากขึ้น (ไม่มั่นใจว่าลดการสนับสนุนพรรคในด้านอื่นๆ ด้วยหรือเปล่า) ในประเด็นที่เกี่ยวกับคนแดนไกลนี้มีอีกสิ่งหนึ่งที่รอคอยการพิสูจน์ คือพรรคเพื่อไทยจะสามารถมีความเป็นสถาบันได้หรือไม่หากขาดคนแดนไกล หรือจะเป็นเพียงแค่พรรคเฉพาะกิจที่มีระยะยาวหน่อยแต่ไม่สามารถสร้างความเป็นสถาบันอย่างพรรคประชาธิปัตย์ได้


          ประเด็นที่สี่ คือ พรรคเพื่อไทยขาดผู้นำที่มีบารมีที่แท้จริง ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะเกิดจากการลดบทบาททางการเมืองของคนแดนไกลและไม่ได้ชี้ชัดว่าจะให้ใครจะนำพรรคแทน เมื่อมองเข้าไปในพรรคเพื่อไทยจะพบว่าแม้ว่านายสมพงษ์จะเป็นหัวหน้าพรรคแต่กลับไม่เคยมีบทบาทนำพรรคเลยและไม่รู้ว่าสามารถทำงานร่วมกับเลขาธิการพรรค น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ได้หรือเปล่า ส่วนคุณหญิงสุดารัตน์ ที่พยายามแสดงบทบาทนำในพรรคในขณะที่เป็นประธานยุทธศาสตร์พรรคก็ถูกเตะตัดขาจากสมาชิกพรรคบางส่วน จนทนไม่ได้และมีกระแสข่าวทิ้งพรรคตลอดเวลาในช่วงหลังการแพ้เลือกตั้งที่ขอนแก่น ในที่สุดคนที่กำลังแสดงบทบาทนำของพรรคในปัจจุบันกลับกลายเป็น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง จอมเก๋าทางการเมืองที่รู้ว่าเมื่อไรควรแสดงบทบาททางการเมืองและเมื่อไรควรสงบปากสงบคำ หายไปจากหน้าสื่อสักพักหนึ่ง อย่างไรก็ตามยังไม่มั่นใจว่า ร.ต.อ.เฉลิม จะรอดจากการถูกสมาชิกพรรคต่อต้านหรือไม่ คงต้องรอดูกันอีกระยะหนึ่ง


          ประเด็นที่ห้า สมาชิกพรรคจำนวนหนึ่งทนไม่ได้กับการเป็นฝ่ายค้าน (ไม่รู้ว่าเพราะนึกถึงอมตะวาจาของอดีตนักการเมืองคนหนึ่งที่บอกว่า “เป็นฝ่ายค้านแล้วอดอยากปากแห้ง” หรือเปล่า) จึงเกิดงูเห่าขึ้นในพรรค ไม่ว่าจะเป็นประเภทเปิดเผยหรือซ่อนเร้น เพราะการเป็นฝ่ายค้านนั้นยากต่อการทำงานเพื่อพัฒนาพื้นที่เขตเลือกตั้งของตนเอง แต่ถ้าเป็นฝ่ายรัฐบาลก็จะสามารถเจรจานอกรอบ (หรือลับๆ) เพื่อหางบประมาณมาลงในพื้นที่รวมถึงผลักดันนโยบายต่างๆ ได้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น (สรุปคือทุกคนแย่งกันเป็นรัฐบาล)


          ประเด็นสุดท้าย บทบาทการเป็นแกนนำฝ่ายค้านของพรรคเพื่อไทยยังไม่เฉียบคม รวมถึงยังไม่โดนใจประชาชน เพราะดูเหมือนว่าจะเล่นบทเดิมๆ ยังไม่สามารถหาประเด็นสำคัญๆ ที่สามารถมัดรัฐบาลจนดิ้นไม่หลุด แต่กลับพูดถึงเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำงานของรัฐบาลชุดปัจจุบันเลย หรือเปิดประเด็นที่ทำให้คนฟังหัวเราะว่า เก่าไปมั้ง!


          อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าประเด็นหนึ่งที่แกนนำพรรคเพื่อไทยส่วนใหญ่ (ไม่ใช่ทั้งหมด) ทำถูกต้องในเชิงกลยุทธ์ในขณะนี้คือการไม่ประกาศสนับสนุนการเมืองนอกสภาของพรรคอนาคตใหม่ แม้ว่าจะมีสมาชิกพรรค หรือแกนนำพรรคบางคนทะเร่อทะร่า กระโดดเข้ารวมวงในบางกิจกรรม เพราะการเข้าร่วมกิจกรรมนอกสภานั้นออกจะสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำผิดกฎหมายในบางเรื่องหากพลาดขึ้นมา ฉะนั้นแนวทางที่ดีที่สุดคืออยู่เฉยๆ รอเก็บตกผลประโยชน์จากความผิดพลาดของทั้งฝ่ายพรรคอนาคตใหม่และรัฐบาลดีกว่า อย่างน้อยหากมีพรรคการเมืองถูกยุบก็อาจจะมีส้มหล่นมาบ้าง...


          ช่วงนี้ว่างๆ นอกจากจะอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลแล้ว (ซึ่งก็รู้อยู่แล้วว่าผลจะเป็นอย่างไร) ก็คุยกันให้รู้เรื่องว่าใครควรจะนำพรรคที่แท้จริง หากช้าเดี๋ยว ร.ต.อ. เฉลิม จะยึดพรรคเอา…

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ