คอลัมนิสต์

คนในอยากออก คนนอกไม่อยากเข้า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คนในอยากออก คนนอกไม่อยากเข้า คอลัมน์...  วงในวงนอก   โดย...   สถิตย์ ธรรม

 

 


          บรรดาพรรคการเมืองที่สมควรยกให้เป็น "สถาบันทางการเมือง” เห็นจะมีแต่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เท่านั้นล่ะครับ คนเก่าคนแก่มักเรียกกันติดปาก “พรรคพระแม่ธรณีบีบมวยผม” เพราะมีการนำองค์พระแม่ธรณีบีบมวยผม มาประดิษฐานไว้บริเวณหน้าที่ทำการพรรค ใครผ่านไปผ่านมายกมือกราบไหว้สักการะ

 

 

          ตามความเชื่อของคนไทยมาแต่โบร่ำโบราณ แม่พระธรณี เปรียบเหมือนเทพผู้คุ้มครองแผ่นดินให้มีความสงบสุขร่มเย็น ด้วยความเป็นพรรคการเมืองต้องการความยึดโยงจิตใจให้คนที่เข้ามาร่วมอุดมการณ์เดียวกันได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสงบสุข ทว่านับตั้งแต่บุคคลสำคัญๆ ทยอยลาออกชักไม่แน่ใจซะแล้วว่าพรรคจะมีความสงบสุขอยู่หรือเปล่า


          นับตั้งแต่ พันตรีควง อภัยวงศ์ เป็นผู้ก่อตั้งพรรคผ่านมาถึงปัจจุบันพรรคมีอายุร่วม 73 ปี เทียบได้กับอายุรุ่นราวคราวปู่กันเลยทีเดียว นักการเมืองคนแล้วคนเล่าเติบโตจากพรรคการเมืองแห่งนี้ หลายท่านล่วงลับกันไปหลายท่านดำรงอยู่เป็นปูชนียบุคคล เมื่อถึงวันครบรอบก่อตั้งพรรค จึงมีการชุมนุมของผู้อาวุโสทางการเมืองมากหน้าหลายตา ถึงได้บอกว่า นี่เป็นสถาบันทางการเมืองไปแล้ว


          แต่การยกระดับให้เป็นสถาบันทางการเมืองเกือบจะล่มสลายหายไปจากสารบบพรรค เห็นเป็นช่วงการต่อสู้ทางการเมืองกับพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นมาใหม่อย่างพรรคไทยรักไทย ของ ทักษิณ ชินวัตร ตอนนั้นรัฐธรรมนูญมีการบัญญัติกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองและมีบทลงโทษเกี่ยวกับการยุบพรรค ปรากฏว่า มีการหาช่องทางฟ้องร้องกันไปมาถึงขั้นให้ยุบพรรค


          ประชาธิปัตย์ก็ติดบ่วงแห่งคำร้อง แต่ในที่สุดรอดสันดอนชนิดคอการเมืองเป่าปากโล่งใจ สามารถรักษาสภาพพรรคให้ยืนหยัดอยู่ต่อไปได้ ฝ่ายร้องให้ยุบพรรคก็ไม่พอใจจึงให้ฉายาเป็น "พรรคแมลงสาบ” แบบว่า เกิดง่ายตายยากอะไรทำนองนั้น




          มาถึงการเมืองพ.ศ.นี้ มีอะไรต่อมิอะไรอยู่เหนือขอบเขตการควบคุม ทั้งการเกิดขึ้นใหม่ของพรรคการเมืองต่างๆ และความมีอุดมการณ์ทางการเมืองซึ่งดูจะเป็นแค่คำพูดหล่อๆ แต่ไม่สามารถนำมาสร้างความรักและศรัทธาพรรคการเมืองดำรงอยู่ต่อไป


          พรรคการเมืองจึงเหมือนเป็นแค่ตราประทับติดหน้าอกเสื้อของนักการเมืองแค่เป็นคนมีสังกัดให้ถูกต้องตามกรอบกติกากฎหมายรัฐธรรมนูญเท่านั้นเอง ไม่ใช่ภาพของสถาบันทางการเมืองให้มั่นคงแข็งแรงเหมือนคนรุ่นก่อนเคยทำไว้


          “ถือเป็นสัจธรรมครับ ไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน สรรพสิ่งย่อมมีการเปลี่ยนแปลง อยู่ที่จะมาช้าหรือเร็ว”


          หากแต่สัญญาณสั่นไหวเริ่มมาตั้งแต่การเปลี่ยนผ่านหัวหน้าพรรคจาก "บัญญัติ บรรทัดฐาน” มาเป็น "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” กอปรกับแกนนำพรรคบางส่วนออกไปเคลื่อนไหวนอกสภาขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ในนามมวลมหาประชาชน ความไม่เป็นเอกภาพต่างคนต่างเคลื่อนไหว มองหลักการประชาธิปไตยไปคนละแบบ


          กระทั่งมาถึงการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม ปีที่ผ่านมา ประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของหัวหน้าพรรคอภิสิทธิ์ ต้องพ่ายแพ้หมดรูปในสนามเลือกตั้งเขตกทม. และประกาศแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก จนมีการเปิดแข่งขันชิงหัวหน้าพรรคคนใหม่ โดย จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏิ ได้เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่


          ขณะที่ผู้เข้าแข่งขันชิงตำแหน่งอย่าง พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค, กรณ์ จาติกวณิช ลาออกจากพรรคไปแล้ว และก็ยังมีรายอื่นตามมาอีก อย่างเช่น อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ที่มีข่าวจะจับมือ "กรณ์” ตั้งพรรคการเมืองใหม่


          หรือนึกถึงคนเก่าแก่กว่านั้นคงต้องเป็น สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำมวลมหาประชาชน ที่เคยเคียงบ่าเคียงไหล่ ชวน หลีกภัย, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองแต่ก็ยังเป็นที่ปรึกษาให้แก่พรรครวมพลังประชาชาติไทย โดยมีอดีต ส.ส.ปชป.ร่วมด้วย โดยเฉพาะ หมอวรงค์ เดชกิจวิกรม ที่เพิ่งลาออกจากปชป.มาเมื่อไม่นานนี้ ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน "ลัทธิชังชาติ” ในปัจจุบัน


          จึงต้องกลับไปที่คำกล่าวข้างต้น “พรรคพระแม่ธรณีบีบมวยผม จะกลับคืนสู่ความสงบยั่งยืนสถาพรให้สมกับความเป็นสถาบันการเมืองยาวนาน 73 ปี ได้หรือไม่"


          เข้าใจดีครับ ต่อความพยายามรีแบรนด์ปชป.สร้างคนรุ่นใหม่ จะเป็นทีมอเวนเจอร์ หรือยุวประชาธิปัตย์หรืออะไรก็ตาม แต่การบริหารพรรคพร้อมกันไปกับการบริหารบ้านเมืองในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล นับตั้งแต่ “จุรินทร์” ขึ้นมาเป็นแม่ทัพ ก็ยังไม่ตอบโจทย์ เหตุใดคนในอยากออกคนนอกไม่อยากเข้า !?!
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ