คอลัมนิสต์

ฟิลลิป มอร์ริสฯ เขย่า รัฐบาลลุงตู่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ปลาย ม.ค.หรือ ต้น ก.พ.ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลจะเริ่มขึ้น ซึ่งหนึ่งในเรื่องสำคัญที่ฝ่ายค้านจะนำมาซักฟอก คือ การแก้ไข ก.ม.ศุลกากร เอื้อบริษัทบุหรี่ต่างชาติ

          "สอบผ่าน"ไปเรียบร้อยแล้วสำหรับรัฐบาลกับ ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีพ.ศ. 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท หลังพิจารณาต่อเนื่องติดต่อกันถึง 4 วัน เมื่อสภาผู้แทนราษฎรลงมติในวาระสาม โดยเสียงข้างมาก 253 เสียงเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 63 ของรัฐบาล

         แต่ศึกร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีฯ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ในการที่รัฐบาลจะฝ่าฟัน

        "อภิปรายไม่ไว้วางใจ" ต่างหากที่เป็นบททดสอบ "รัฐบาลลุงตู่" ที่แท้จริงว่าแข็งแกร่งแค่ไหน

          สำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ทางพรรคเพื่อไทยได้วางไว้ว่า จะมีการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจในช่วง
วันที่ 20 มกราคม และคาดว่าจะมีการอภิปรายในช่วงเดือนปลายเดือนมกราคมหรือต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ โดยมีรัฐมนตรีที่อยู่ในข่ายที่จะถูกยื่นอภิปราย 5 คน

          โดย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง   ประธานคณะทำงานกิจการพิเศษ พรรคเพื่อไทย ในฐานะหัวหน้าทีมอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในครั้งนี้ บอกว่าพรรคเพื่อไทยจะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐ 5 คน ประกอบด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ,พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย, นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ, นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ และนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ

     แต่ล่าสุดมีการ"หัก" ร.ต.อ.เฉลิม จากทางพรรคเพื่อไทย โดยจะมีการเพิ่มรายชื่อรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจเพิ่มอีก 2 คน และมีการเพิ่ม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ  รองนายกฯ เข้าไปด้วย ซึ่งเดิม พล.อ.ประวิตร หลุดโผถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจไปแล้ว

      และหนึ่งในเรื่องสำคัญที่จะหยิบขึ้นมาอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล คือ การกล่าวหาว่ารัฐบาลช่วยเหลือ “บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส” ในคดีนำเข้าบุหรี่ หลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรและสำแดงเท็จ 

      ซึ่งรัฐมนตรีที่จะโดนอภิปรายไม่ไว้วางใจเต็มๆในเรื่องนี้ คือ ดอน ปรมัตถ์วินัย  รมว.ต่างประเทศ โดยพ่วง วิษณุ เครืองาม  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าไปด้วย

       ก็เป็นเรื่องเหนือความคาดหมายพอสมควรที่มีการเตรียมอภิปราย นายดอน ปรมัตถ์วินัย ที่เป็น รมว.ต่างประเทศ เพราะเรื่องของกระทรวงการต่างประเทศ ไม่พบว่ามีอะไรหวือหวา ต่างจากกระทรวงอื่นๆ ที่มีหลายประเด็น ที่น่าจะหยิบยกขึ้นมาอภิปรายได้อย่างเมามัน

        อย่างไรก็ตาม “ร.ต.อ.เฉลิม” วาง “นายดอน” เป็นหนึ่งในผู้ต้องถูกอภิปราย เพราะต้องการสะสางประเด็นข้อกังขา รัฐบาล
ช่วยเหลือ “บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส” ในคดีนำเข้าบุหรี่หลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรและสำแดงเท็จ 

       คดี “ฟิลลิป มอร์ริส” เป็นเรื่องค้างคายาวนานหลายปี โดยบริษัทดังกล่าวถูกฟ้องร้องคดีนำเข้าบุหรี่หลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรและสำแดงเท็จ 

         โดยในขณะที่คดีกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้มีหนังสือหารือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี

      ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2561  เสนอมีข้อพิจารณาว่า ข้อพิพาทระหว่างไทยกับฟิลิปปินส์ที่เกี่ยวกับ WTO เกิดจากการที่กฎหมายไทยที่เกี่ยวข้อง อาทิ มาตรา 27 ของพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ที่ใช้ถ้อยคำเปิดช่องให้ผู้บังคับใช้กฎหมาย สามารถตีความไปในทางที่ไม่สอดคล้องกับการประเมินราคาศุลกากรไทย อาจจำเป็นต้องพิจารณาทบทวนและปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การเปิดประเมินราคาศุลกากรของไทยสอดคล้องกับพันธกรณีภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ

    ครั้งที่ 2  เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2562 ขอให้อัยการสูงสุดพิจารณาทำให้คำสั่งไม่ฟ้องกลับมามีผลใหม่ ให้ยุติการฟ้องคดีอาญากับบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส ทบทวนการตีความและการบังคับใช้กฎหมาย  

     ต่อมาสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) แก้ไขกฎหมายศุลกากร พ.ศ.2496 มาตรา 27 โดยมีการมองว่าเอื้อต่อบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส เพราะในคดีนี้ หากบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส แพ้คดี อาจต้องชดใช้มูลค่าประมาณ 84,000 ล้านบาท ตามคำฟ้องของพนักงานอัยการ แต่ตามพระราชบัญญัติศุลกากรฉบับใหม่ อัตราโทษปรับจะลดลง

       ต่อมาเมื่อวันที่  29 พฤศจิกายน  2562 ศาลอาญาพิพากษาปรับบริษัทฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด เป็นเงินกว่า 1.2 พันล้านบาท ฐานหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้าบุหรี่ มาร์ลโบโร และ แอลแอนด์เอ็ม และสำแดงราคาบุหรี่ไม่ตรงตามราคา

        ซึ่งเรื่องนี้นายดอน  ชี้แจงว่า  เรื่องนี้เกิดขึ้นนานแล้ว กระทรวงการต่างประเทศเป็นเพียงปลายทางโดยมีความเชื่อมโยงกับต่างประเทศในแง่ที่เป็นบริษัทต่างชาติ รวมถึงพันธกรณีของไทยใน WTO ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่กระทรวงการต่างประเทศต้องให้ความเห็นจากข้อเสนอของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ตนพร้อมให้ข้อเท็จจริง เพื่อให้คนที่เข้าใจผิดได้มีความกระจ่าง ถ้าขุดค้นกันจริงๆ ต้องไปถามจากหน่วยงานอื่นๆ ไม่ใช่กระทรวงการต่างประเทศ เพราะไม่มีอะไรอยู่แล้ว

      อย่างไรก็ตามการนำเรื่องดังกล่าวมาอภิปราย  ถือเป็นงานหนักของรัฐบาล เพราะนักการเมืองมือฉมังอย่าง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง มุ่งมั่นกับเรื่องนี้เป็นอย่างมากถึงกับเตรียมข้อมูลเรื่องนี้ด้วยมือตัวเอง จึงไม่ใช่เรื่องง่าย ที่รัฐบาล จะสอบผ่านไปโดยสะดวก
 

   

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ