คอลัมนิสต์

ทฤษฎีว่าด้วยความเบื่อทางการเมือง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทฤษฎีว่าด้วยความเบื่อทางการเมือง โดย...  ทวี สุรฤทธิกุล

 

 


          เบื่อไม่ใช่หมดรัก แต่เป็นเพราะไม่ได้ดังใจ


          ในสังคมการเมือง การตัดสินใจทางการเมืองของผู้คนจะขึ้นอยู่กับสิ่งที่เรียกว่า “ความคาดหวัง” เป็นหลัก คือความคาดหวังที่มีต่อการทำหน้าที่ของผู้ปกครอง ส่วน “ความรัก” หรือ “ความเกลียดชัง” นั้นจะเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังจากได้พบว่า ตนเอง “สมหวัง” หรือ “ผิดหวัง” จากการทำหน้าที่ของผู้ปกครองนั้นๆ ซึ่งในตำรารัฐศาสตร์มีการศึกษาเป็นทฤษฎีสำคัญเมื่อกว่า 50 ปีที่ผ่านมา เรียกว่า “ทฤษฎีความคาดหวังทางการเมือง” (Theory of Political Expectation)

อ่านข่าว-ทศวรรษ ใบหน้า ม็อบการเมือง

 

 

          ทฤษฎีนี้ค้นพบว่า พฤติกรรมอย่างหนึ่งของมนุษย์ในทางการเมืองก็คือการตัดสินใจเลือกผู้ปกครอง โดยเฉพาะในประเทศที่มีผู้ปกครองที่มาจากการเลือกตั้ง ประชาชนจะมีอิสระในการเลือกผู้ปกครองโดยเสรี และสิ่งที่จะทำให้ประชาชน “ตัดสินใจเลือก” ก็คือ ข้อเสนอที่ตรงกันหรือใกล้เคียงกับความคาดหวังของประชาชน ซึ่งพรรคการเมืองหรือนักการเมืองนำเสนอผ่านนโยบายในการเลือกตั้ง และนโยบายเหล่านั้นจะถือว่าเป็น “สัญญาประชาคม” ที่ผู้ปกครองได้ให้คำมั่นสัญญาไว้กับประชาชน หากผู้ปกครองทำได้ตามที่สัญญากับประชาชน ประชาชนก็จะเกิดความชอบพอในระยะแรก ตามมาด้วยความรัก ที่สุดก็คือความศรัทธา หรือความรักอย่างมั่นคงในผู้ปกครองนั้นๆ นั่นเอง ตรงกันข้ามถ้าผู้ปกครองทำไม่ได้ตามที่สัญญา ทำให้ประชาชนผิดหวัง ความผิดหวังนั้นก็จะนำมาซึ่ง “ความเบื่อหน่าย” และหากไม่มีการแก้ไขหรือสร้างให้เกิดขึ้นในสิ่งที่ประชาชนต้องการ ต่อไปก็จะกลายเป็น “ความเกลียดชัง” และ “การต่อต้านล้มล้าง” ในที่สุด


          แม้แต่ในระบบการเมืองแบบเผด็จการ ประชาชนแม้จะขาดอิสระในการเลือกผู้ปกครอง แต่ประชาชนก็มีการตั้งความหวังต่อผู้ปกครอง(เผด็จการ)นั้นได้เช่นเดียวกัน แต่เป็นความคาดหวังที่จะให้ “ความยินยอม” (Consent) เพื่อให้ผู้เผด็จการนั้นได้รับความชอบธรรม ซึ่งก็คือความยินยอมที่จะให้ผู้ปกครองนั้นได้ใช้อำนาจแบบเผด็จการทำหน้าที่ต่อไป โดยที่ผู้เผด็จการก็ต้องคำนึงอยู่เสมอว่า การทำหน้าที่เหล่านั้นได้สร้างความพึงพอใจ หรือทำให้ประชาชนได้รับในสิ่งที่ประชาชนคาดหวัง เพราะถ้าไม่สามารถทำได้ตามที่ประชาชนคาดหวังแล้ว ความยินยอมที่เคยมีก็จะกลายเป็นความรู้สึกต่อต้าน เริ่มต้นคือความรู้สึกอึดอัดและความคับข้องใจ ที่ฝรั่งเรียกว่า Frustration กระทั่งเกิดความเกลียดชังและอาจกลายเป็น “การต่อสู้” กับการกดขี่นั้นได้ในที่สุด

 



          ปรากฏารณ์ “เบื่อลุง” ที่กำลังเป็นอยู่ในการเมืองไทย ก็เป็นไปตามทฤษฎีดังกล่าว เพราะถ้าท่านทั้งหลายที่สนใจติดตามการเมืองมาโดยตลอด ย่อมจะจำได้ว่าในการขึ้นมามีอำนาจของ คสช. เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 นั้น ก็สืบเนื่องมาจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ยุคอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ใน พ.ศ.2548 จนกระทั่งทหารเข้ามายึดอำนาจในวันที่ 19 กันยายน 2549 แต่ว่าความขัดแย้งก็ยังมีต่อเนื่อง จนเกิดความรุนแรงทางการเมืองหลายครั้ง จนกระทั่งเกิดม็อบ กปปส.ในปลายปี 2556 ที่ก่อความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกับว่าจะเชิญชวนให้ทหารเข้ามาจัดการ เพื่อให้ทหารเข้ามาช่วยแก้ไขและสร้าง “การเมืองใหม่” ดังที่มีคำพูดกันตอนนั้นว่า “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง”


          ทหารโดย คสช.ก็ดูเหมือนจะทราบความต้องการของประชาชนเป็นอย่างดี เพราะทันทีที่ยึดอำนาจได้ก็ประกาศนโยบายเร่งด่วนและสำคัญที่สุดว่า จะเข้ามาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและสร้างการเมืองใหม่ให้เกิดขึ้นให้ได้ โดยการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศให้เรียบร้อย จากนั้นก็จะให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว ซึ่งไม่เพียงแต่จะประกาศเป็นนโยบายผ่านการให้ข่าวอย่างเป็นทางการแล้ว ยังใช้เพลง “กล่อมใจ” ให้ประชาชนเชื่อตามไปด้วย โดยเฉพาะเพลงแรกในท่อนที่ว่า “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน” จากนั้นเมื่อเวลาผ่านไปนานๆ เข้าโดยที่ยังไม่ได้ทำอะไรตามสัญญานั้นให้เป็นชิ้นเป็นอัน ก็มีเพลงกล่อมใจตามมาอีกหลายเพลง เช่นเพลงที่มีเนื้อว่า “พรุ่งนี้ต้องดีกว่าวันนี้” ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนั้นคือการแสดงออกถึงความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการทำรัฐประหาร อันนำมาซึ่งความผิดหวังและคับข้องใจมาตั้งแต่บัดนั้น


          จุดแตกหักของความรักและความศรัทธาที่ประชาชนส่วนหนึ่งมอบให้แก่ คสช.ก็มาสิ้นสุดลงที่การทำรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ซึ่งแสดงเจตนาอย่างชัดเจนว่า คสช.ต้องการที่จะสืบทอดอำนาจ ด้วยการสร้างวุฒิสภาขึ้นมาค้ำยันรัฐบาลที่ คสช.ยังสามารถกำกับดูแล ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติไปอีก 5 ปี พร้อมกับการสร้างระบบรัฐสภาที่อ่อนแอ ผ่านกฎหมายพรรคการเมืองและกฎหมายการเลือกตั้ง โดยไม่ได้มีภาพของ “การเมืองใหม่” อะไรเกิดขึ้น แถมยังรุงรังและโสโครกไปด้วย “การเมืองเก่า” จากการที่ฝ่ายผู้มีอำนาจพยายามหนุนพรรคการเมืองบางพรรคให้ได้เปรียบพรรคอื่น พร้อมกับการที่พรรคการเมืองพรรคนั้นได้กวาดต้อนเอานักการเมืองพันธุ์เดิมๆ ที่เคยสร้างปัญหาให้แก่ประเทศนั่นแหละ เข้ามาช่วยเป็นเสียงค้ำจุนรัฐบาล และยิ่งเห็นสภาพที่น่าสังเวชนี้ภายหลังการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่พยายามหาเสียง ส.ส.มาสนับสนุนรัฐบาลทุกวิถีทาง แม้กระทั่งการ “แจกกล้วย” และ “เลี้ยงงูเห่า” เอาไว้มาในฝ่ายของตน ร่วมกับการใช้ยุทธวิธีทำลายฝ่ายตรงข้าม กีดกันคู่ต่อสู้ ในหลายๆ รูปแบบ ทั้งการใช้กฎหมายและการใช้กระแสสังคม อย่างเช่นการสร้างวาทกรรม “ชังชาติ” อย่างที่คนในฝ่ายของรัฐบาลกำลังก่อขึ้น โดยที่รัฐบาลไม่ได้ตำหนิอะไร แถมยังให้ท้ายและร่วมเห็นชอบให้การสนับสนุนไปด้วย


          หน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของผู้ปกครองคณะนี้ที่พวกเขาอาจจะลืมไปแล้วก็คือ “การบริหารความคาดหวังของประชาชน” ซึ่งก็คือการรักษาสัญญา ตามนโยบายที่เป็น “สัญญาประชาคม” อันให้ไว้กับประชาชน แต่เมื่อพวกเขาไม่ทำตามสัญญา แถมยังเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ร่วมสร้างความขัดแย้งนั้น ก็ย่อมเป็น “สิทธิอันชอบธรรม” ของประชาชนที่จะแสดงปฏิกิริยาต่อต้าน


          นี่แค่เริ่มเป็นความเบื่อหน่าย แต่อย่าให้กลายเป็นความเกลียดชังและคลั่งแค้น


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ