คอลัมนิสต์

จัดการน้ำเชิงรุก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จัดการน้ำเชิงรุก บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันอังคารที่ 14 มกราคม 2563

 

 

 

          ตามวิเคราะห์คาดการณ์ของนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำที่ระบุว่าภัยแล้งปีนี้จะหนักหนาสาหัสมากที่สุดในรอบ 40 ปี นับเป็นเรื่องที่หลายๆ คนก็วิตกกังวลกับเหตุเภทภัยที่กำลังคืบคลานก่อหายนะให้ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นน้ำกินน้ำใช้ในระดับครัวเรือน ภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม จนถึงความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมและปัญหาทางสังคมโดยรวมอันจะเกิดตามมา แต่ดูเหมือนว่ากลุ่มที่มองไม่เห็นภัยพิบัตินี้ล่วงหน้าก็คือรัฐบาล ซึ่งแม้แต่แกนนำเองยังออกมายอมรับว่าอาจเป็นเพราะที่ผ่านมาบ้านเมืองบริหารโดยรัฐบาลทหารที่ขาดการยึดโยงกับประชาชนในพื้นที่จนมองไม่เห็นปัญหา ซึ่งก็สอดคล้องกับที่นักวิชาการบอกไว้ว่าภาวะภัยแล้งเกิดสะสมหมักหมมมานานหลายปีติดต่อกัน โดยที่ไม่มีแผนงานแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

 

 

          ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคตะวันออก อยู่ในภาวะวิกฤติ เพราะระดับน้ำในเขื่อนเหลือน้อยไม่ถึง 30% ในภาคเกษตรกรรมนั้น กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือพื้นที่เพาะปลูกในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เนื้อที่ 2.25 ล้านไร่ ครอบคลุม 22 จังหวัด สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร คาดการณ์ว่าจะมีนาข้าวได้รับความเสียหายจากการทำนาปรังถึงครึ่งหนึ่ง หรือ 800,000 ไร่ จากทั้งหมด 1.59 ล้านไร่ และก็เป็นเหมือนเช่นหลายๆ ปีที่แล้งติดต่อกัน ที่กรมชลประทานจะออกประกาศห้ามเกษตรกรทำนาปรัง เพราะไม่สามารถบริหารจัดการน้ำเพื่อสนับสนุนได้ หาก


          ยังฝืนทำก็จะเกิดความเสียหายต่อเกษตรกรเอง ส่วนภาคอีสานซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นนาน้ำฝนก็จะได้รับผลกระทบด้านน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค รวมทั้งกิจกรรมด้านการเกษตรอื่นๆ ขณะที่ภาคตะวันออก น่าห่วงเรื่องน้ำเพื่ออุตสาหกรรม ขณะเดียวกันเมื่อหันมาดูการบริหารจัดการน้ำของฝ่ายรัฐบาลก็จะพบว่า “วิธีการ” ในการรับมือวิกฤติครั้งนี้ถูกเน้นไปในเรื่องของ “โครงสร้าง” การทำงานอันเน้นหนักไปที่ภาคราชการ โดยสถานการณ์ปกติจะสั่งการโดยเลขานุการคณะกรรมการนโยบายน้ำแห่งชาติ (กนช.) หากสถานการณ์รุนแรงจะอยู่ในกำกับดูแลของรองนายกรัฐมนตรี สั่งการลงมาถึงระดับปลัดกระทรวงและหน่วยงานในกระทรวงที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ถ้าหากถึงขั้นวิกฤตินายกรัฐมนตรีจะทำหน้าที่ประธานกนช. ทั้งนี้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 มกราคม ที่ผ่านมา ในการจัดตั้งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ

 



          จะว่าไปแล้วความผิดพลาดจากการจัดการน้ำเมื่อปี 2555 ตามแผนทดลองระบายน้ำจากเขื่อนชัยนาทเป็นผลให้น้ำในระบบกักเก็บลดระดับลงอย่างต่อเนื่อง นั่นคือการบทเรียนการจัดการน้ำโดย “การเมืองนำ” แต่ในขณะเดียวกันนับจากนั้นเป็นต้นมาประเทศไทยประสบภัยแล้งมาอย่างต่อเนื่อง แม้บางปีจะเกิดอุทกภัยแต่ก็เป็นเพียงบางพื้นที่่และปริมาณน้ำฝนไม่ได้มีนัยสำคัญต่อการกักเก็บในอ่างเก็บน้ำ ยกเว้นแต่เขื่อนในภาคตะวันตกที่รอดพ้นจาก “การเมือง” เมื่อ 7-8 ปีก่อน ที่ยังเหลือน้ำใช้การในปริมาณเพียงพอ และสามารถสนับสนุนน้ำให้กลุ่มเจ้าพระยาได้ โดยสรุปก็คือ การจัดการน้ำจะต้องปลอดจากการเมือง ขณะเดียวกันกลไกการทำงานก็ต้องใช้แผนเชิงรุก ต้องเข้าถึงและสามารถแก้สถานการณ์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งต่างจากระบบราชการที่สั่งการตามขั้นตอนและอาจขาดการติดตาม

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ