คอลัมนิสต์

รัฐธรรมนูญเดือด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รัฐธรรมนูญเดือด คอลัมน์...  เกาะขอบรั้วสภา

 

 

          การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณที่ผ่านมาของสภาผู้แทนราษฎร มีหลากหลายแง่มุมที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการเสนอให้ตัดงบประมาณแบบ 100% ของกรรมาธิการวิสามัญฯ ในสัดส่วนของพรรคเพื่อไทย โดยงบประมาณที่เสนอให้มีการตัดออกทั้งหมดมีด้วยกัน 3 ส่วน

 

 

          ทั้งนี้ ในสามส่วนดังกล่าวประกอบด้วย กระทรวงกลาโหมและหน่วยงานในกำกับ 125,918,522,500 บาท กระทรวงการต่างประเทศ 5,134,473,000 บาท งบประมาณรายจ่ายของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นที่จัดสรรให้องค์การบริหารส่วนตำบลและเทศบาล จำนวน 253,125,221,300 บาท เหตุผลของฝ่ายค้านที่เสนอแบบนี้ คือ เห็นว่าเป็นการจัดทำงบประมาณที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายวิธีการงบประมาณ อย่างในกรณีของกระทรวงการต่างประเทศที่ไปพบว่ามีการกองงบประมาณไว้ที่สำนักปลัดกระทรวงการต่างประเทศเพียงหน่วยงานเดียว


          ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ปรากฏว่าผู้แทนของกระทรวงการต่างประเทศก็ไม่สามารถชี้แจงเพื่อให้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ในสัดส่วนของฝ่ายค้านเกิดความกระจ่างได้ ส่งผลให้ต้องเสนอตัดงบประมาณออก 100%


          ประเด็นในการพิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณยังไม่หมดเพียงเท่านั้น เพราะอีกด้านคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ยังได้มีการจัดทำรายงานและข้อเสนอแนะไว้มากมาย เช่น ในกรณีของการจัดสรรงบประมาณของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ทางคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ก็มีข้อเสนอแนะพอสังเขป ดังนี้


          “สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ควรมีการส่งเสริมกิจกรรมประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้ ด้านการเมืองระบอบประชาธิปไตย เพื่อเป็นการวางรากฐานวัฒนธรรมทางการเมืองและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ต้องมีการเผยแพร่ผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา อันจะเป็นประโยชน์ต่อภาคประชาชน นักเรียน นักศึกษา และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง”

 



          “รัฐสภา ควรพัฒนาให้เป็นองค์กรที่ทันสมัย โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินงานควบคู่กับสร้างสภาพแวดล้อมให้เป็นองค์กรสีเขียว (Green Office) รวมทั้งจัดให้มีลานกิจกรรมในพื้นที่รัฐสภา เพื่อให้รัฐสภาเป็นพื้นที่ของประชาชนในการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวกับประชาธิปไตย”


          หรือแม้แต่หน่วยงานที่รับผิดชอบแผนงานด้านความมั่นคง คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ก็มีข้อเสนอแนะแบบจริงจังเช่นกัน โดยระบุว่า “การจัดโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ควรมีความรอบคอบและระมัดระวัง โดยควรหลีกเลี่ยงการจัดโครงการหรือกิจกรรมที่เป็นการครอบงำความคิดทางการเมืองกับเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นหลักสากลที่จะต้องได้รับความคุ้มครอง


          เสร็จสิ้นการพิจารณากฎหมายงบประมาณ แน่นอนว่าความสนใจจะเทมาที่การประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 โดยจะนัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 14 มกราคม และ 17 มกราคม ซึ่งวาระสำคัญคือ การเปิดโอกาสให้กรรมาธิการวิสามัญฯ แสดงความคิดเห็นเต็มที่ พร้อมกับกำหนดแนวทางการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน


          เบื้องต้น พรรคฝ่ายค้านเตรียมประเด็นที่จะเสนอต่อที่ประชุม คือ การเสนอให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ แต่กรรมาธิการวิสามัญฯ ในสัดส่วนของรัฐบาลโดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ จะตั้งธงค้านเต็มที่ เพราะไม่เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เพราะเห็นว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหาเฉพาะบางมาตราเท่านั้น ดูๆ ไปแล้วคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้คงเดือดเป็นไฟแน่นอน


          ปิดท้ายด้วยภารกิจของ ‘ชวน หลีกภัย’ ประธานสภา ได้ไปเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการขอข้อมูลส่วนบุคคลหรือการเปิดเผยข้อมูลการกู้ยืมเงินระหว่างสถาบันพระปกเกล้ากับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดย ศ.วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และนายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อคัดกรองว่าบุคคลที่จะเข้ามารับการศึกษาจากสถาบันแห่งนี้มีประวัติการชำระหนี้กับกยศ.ในลักษณะที่เป็นลูกหนี้ที่ดีหรือไม่ต่อไป

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ