คอลัมนิสต์

คำขวัญวันเด็กแห่งชาติ กระจกสะท้อนผู้นำไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คำขวัญวันเด็กแห่งชาติ กระจกสะท้อนผู้นำไทย คอลัมน์...  Exclusive Talk 

 

 

 


          วันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม ทุกปี จะเป็นวันเด็กแห่งชาติ โดยปีนี้ตรงกับวันที่ 11 มกราคม แน่นอนว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองอย่างสร้างสรรค์ของเยาวชน

 

 

          หน่วยงานภาครัฐต่างๆ ให้ความสำคัญกับการจัดงานวันเด็กแห่งชาติเป็นอย่างมาก เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบการเรียนการสอนของไทยถูกปลูกฝังมาด้วยวาทกรรมติดปากว่า “เด็กฉลาดชาติเจริญ” ตามคำขวัญวันเด็กประจำปี 2516 เมื่อครั้งจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี


          การให้ความสำคัญกับวันเด็กแห่งชาติของหน่วยงานรัฐหลายหน่วยงานจะเห็นได้จากการที่เปิดโอกาสให้เด็กและผู้ปกครองเข้ามาชมสถานที่สำคัญของทางราชการ ที่ปกติโดยทั่วไปแล้วบุคคลภายนอกจะไม่สามารถเข้าชมได้โดยง่าย เช่น ห้องทำงานของนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล หรือห้องประชุมรัฐสภา ไม่เว้นแม้แต่ภายในบริเวณกองบัญชาการของแต่ละเหล่าทัพ ซึ่งจะนำยุทโธปกรณ์มาจัดแสดงให้เด็กและเยาวชนได้สัมผัสอย่างใกล้ชิด


          อย่างไรก็ตาม จุดเด่นที่สำคัญของวันเด็กแห่งชาติแต่ละปีไม่ได้อยู่ที่การจัดแสดงของหน่วยงานภาครัฐ แต่อยู่ที่การมอบ คำขวัญวันเด็กแห่งชาติ ของนายกรัฐมนตรีไทย เนื่องจากคำขวัญวันเด็กที่ปรากฏออกมาในต่างช่วงเวลาและต่างนายกฯ นั้น ด้านหนึ่งเป็นการสะท้อนบุคลิกของนายกฯ และบริบทของสังคมไทยได้เป็นอย่างดี


          ยุคจอมพล “เด็กสมัยปฏิวัติ”
          โดดเด่นชัดเจนที่สุดต้องยกให้ “จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” เป็นที่ทราบกันดีว่าการบริหารประเทศในสมัยนั้นขับเคลื่อนด้วยคำสั่งของคณะปฏิวัติเป็นหลัก ทำให้คำขวัญวันเด็กตั้งแต่ปี 2502-2506 มีประโยคที่ขึ้นต้นว่า “ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า...” ทุกปี เช่น ปี 2502 “ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความก้าวหน้า” อันเป็นคำขวัญที่สอดรับกับบริบทของประเทศไทยในเวลานั้นที่เพิ่งเริ่มมีการบริหารประเทศผ่านแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อต่อสู้กับคอมมิวนิสต์




          หรือในช่วงสมัยของ ‘สัญญา ธรรมศักดิ์’ ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ระหว่างปี 2517-2518 ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ปรากฏคำว่า “สามัคคี” ไว้ในคำขวัญวันเด็กแห่งชาติถึงสองครั้ง ได้แก่ ปี 2517 “สามัคคีคือพลัง” และปี 2518 “เด็กดีคือทายาทของชาติไทย ต้องร่วมใจร่วมพลังสร้างความสามัคคี”


          ‘ป๋าเปรม-ชวน’ เดินตามคล้ายกัน
          ‘พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์’ อดีตประธานองคมนตรี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกฯ ยาวนานถึง 8 ปี ก็ได้สะท้อนตัวตนผ่านคำขวัญวันเด็กไม่ต่างกัน ด้วยคำว่า “คุณธรรม” และ “ซื่อสัตย์สุจริต” อย่างปี 2524 “เด็กไทยมีวินัย ใจสัตย์ซื่อ รู้ประหยัด เคร่งครัดคุณธรรม” ปี 2526 “รู้หน้าที่ ขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด มีวินัยและคุณธรรม” หรือในปีสุดท้ายของการเป็นนายกฯ ปี 2529 “นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม”


          ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าผู้นำประเทศส่วนใหญ่จะเน้นหนักคำว่า “คุณธรรม” และ “ความสามัคคี” ผ่านคำขวัญวันเด็ก แต่เมื่อมาถึงในยุคของ 'ชวน หลีกภัย' ที่เป็นนายกฯ ถึงสองครั้ง จะพบว่ามีการบัญญัติคำว่า “ประชาธิปไตย” ไว้ในคำขวัญด้วย เช่น ปี 2537 “ยึดมั่นประชาธิปไตย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม” หรือ ปี 2544 “วินัย ใฝ่เรียนรู้ คู่คุณธรรม นำประชาธิปไตย” อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจและการปลูกฝังประชาธิปไตยของผู้อาวุโสทางการเมืองรายนี้


          ‘ทักษิณ-บิ๊กตู่’ ความเหมือนที่แตกต่าง
          นายกฯ อีกคนหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเมื่อครั้งก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกฯ มาพร้อมกับแนวคิดการบริหารประเทศที่ว่า “คิดใหม่ ทำใหม่” และเน้นการใช้เทคโนโลยี เนื่องจากเคยมีประสบการณ์ในฐานะเป็นผู้บริหารธุรกิจโทรคมนาคมมาก่อน ดังที่ปรากฏในคำขวัญวันเด็กปี 2546 “เรียนรู้ตลอดชีวิต คิดอย่างสร้างสรรค์ ก้าวทันเทคโนโลยี” และ ปี 2548 “เด็กรุ่นใหม่ ต้องขยันอ่าน ขยันเรียน กล้าคิด กล้าพูด”


          ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม คนปัจจุบัน นับเป็นนายกฯ อีกคนหนึ่งที่อยู่ในตำแหน่งต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน โดยผู้นำประเทศที่เน้นวาทกรรม “ความมั่นคง” และ “ไทยแลนด์ 4.0” แน่นอนว่าคำขวัญวันเด็กที่ปรากฏออกมาก็เป็นกระจกสะท้อนวาทกรรมที่ว่านั้น เช่น ปี 2560 “เด็กไทย ใส่ใจศึกษา พาชาติมั่นคง” ปี 2561 “รู้คิด รู้เท่าทัน สร้างสรรค์เทคโนโลยี” จนมาถึงล่าสุดปี 2563 “เด็กไทยยุคใหม่ รู้รักสามัคคี รู้หน้าที่พลเมืองไทย”


          ปลูกฝังเด็กเรื่องอำนาจนิยม
          ทั้งนี้ มีแง่มุมในทางวิชาการต่อการจัดกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติน่าสนใจจาก รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ให้ทัศนะว่า สำหรับคำขวัญวันเด็กในแต่ละปี ได้สะท้อนภาพให้เห็นว่าคือสิ่งที่รัฐอยากให้เด็กนั้นเป็นอย่างไร และมีทิศทางแบบไหนอย่างที่รัฐต้องการ ทำให้คำขวัญวันเด็กแต่ละยุคแต่ละสมัย สอดคล้องกับอุดมการณ์ทางการเมือง และสอดคล้องจากที่มาของผู้นำในยุคนั้น


          “เช่น ถ้าผู้นำในยุคนั้นมาจากการรัฐประหาร หรือมีอุดมการณ์ความคิดแบบอำนาจนิยม คำขวัญวันเด็กจะเป็นลักษณะสั่งให้ทำ ตั้งแต่การมีวินัย สั่งให้เด็กตั้งใจเรียน เพื่อเป็นสิ่งที่รัฐต้องการให้เด็กเป็น แต่ในบางยุคบางสมัยถ้าผู้นำมาจากการเลือกตั้ง และมีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบเสรีนิยม จะมีการพูดถึงความก้าวหน้า พูดถึงเทคโนโลยี พูดถึงเรื่องทุนนิยม หรือพูดเรื่องการสะสมเงินทอง ทำให้สิ่งเหล่านี้เป็นภาพสะท้อนให้เห็นอุดมการณ์ทางการเมืองของผู้นำในแต่ละสมัย” อาจารย์ยุทธพร กล่าว


          “ส่วนใหญ่กลายเป็นว่า ในกิจกรรมวันเด็ก กลับเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่อยากให้เด็กได้เป็น จึงสะท้อนภาพให้เห็นการยังคงมีระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทย ยังมีเรื่องลำดับชั้น และยังมีเรื่องความอาวุโสต่างๆ” อาจารย์ยุทธพร กล่าว


          สำหรับกิจกรรมวันเด็กหรือคำขวัญวันเด็กแต่ละปี รศ.ดร.ยุทธพร มองว่า เป็นความคิดจากระบบราชการ เพราะงานวันเด็กที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มาจากการจัดของโรงเรียน สถานศึกษา หน่วยงานภาครัฐต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เข้าไปดู เพื่อปลูกฝังอุดมการณ์รัฐราชการ เช่น ให้เด็กไปดูรถถัง ไปดูอาวุธ ไปดูเครื่องบินรบ


          “สิ่งเหล่านี้เป็นการปลูกฝังความคิดอำนาจนิยม และความคิดแบบรัฐราชการ เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นแบบนี้ทำให้การนำความคิดไปใช้อย่างจริงจังไม่ได้เกิดขึ้น เพราะมาจากการปลูกฝังของรัฐเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นงานวันเด็กและคำขวัญวันเด็กที่เกิดขึ้น เป็นงานประจำอย่างหนึ่งในการบริหารราชการ ทำให้เรื่องคำขวัญวันเด็กไม่ได้ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่องยั่งยืนจริงๆ” อาจารย์ยุทธพร สรุป
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ