คอลัมนิสต์

คิด-วิเคราะห์การเมืองระหว่างประเทศกับ จอร์จ เอฟ. เคนแนน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คิด-วิเคราะห์การเมืองระหว่างประเทศกับ จอร์จ เอฟ. เคนแนน บทความพิเศษ โดย... ศุภมิตร ปิติพัฒน์

 


          ก่อนเปิดเทอมมีนิสิตเคยเรียนด้วยมาปรารภกับผมว่า การเรียนการสอนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเราที่ผ่านมายังมีช่องว่างอยู่ เขาหาสิ่งที่ต้องการไม่เจอในวิชาที่เรียน ผมถามเขาว่าเป็นช่องว่างแบบไหน ? พอได้ฟังและรู้ว่าเขาหมายถึงอะไร ผมเลยได้ความคิดว่า ถ้าหากจะตอบโจทย์ตามที่เขาต้องการ เขียนออกมาเป็นบทความจะดีกว่า และถ้าเขียน ก็จะมีเรื่องให้เขียนได้หลายตอนต่อกันทีเดียว

 

 

          เขาบอกให้ผมฟังว่าทฤษฎีหลักต่างๆ ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เราเรียนกันมานั้นก็มีสอนและหาเรียนได้ไม่ยาก ไม่ว่าจะในชั้นเรียน ในการเรียนทางไกล หรือจะอ่านจากหนังสือตำราสารพัด ก็พอหาเรียนหาอ่านได้ ในขณะเดียวกัน ถ้าอยากได้ข้อมูล อยากได้ข้อถกเถียงโต้แย้ง หรืออยากได้ความรู้ทางเทคนิคหรือการจัดการประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เป็นอยู่ ไม่ว่าจะเรื่องไหนด้านไหน ก็มีให้ค้นคว้าได้ไม่ยาก


          แต่เขาว่าส่วนที่ขาดหายไป ยังไม่สู้จะเห็นการนำเสนอออกมาชัดๆ คือเรื่องกระบวนวิธีคิดเมื่อมีปัญหารูปธรรมมาให้วิเคราะห์ หรือแนวพินิจสำหรับคิดหาข้อเสนอเพื่อเป็นทางเลือกในเชิงนโยบาย หรือในเชิงยุทธศาสตร์ ว่าทำไมควรทำแบบนี้ หรือทำไมไม่ควรเลือกแบบนั้น มันมีทางคิดอะไรแบบไหนบ้าง


          การวิเคราะห์ และการแสดงความเห็นของนักวิชาการในเรื่องที่เขามีความรอบรู้ เช่นในการวิเคราะห์ข่าวและเหตุการณ์ต่างๆ มาจากกระบวนวิธีคิดอย่างมีแบบแผนและประกอบด้วยหลักวิชา และเมื่อต้องแสดงความเห็นในเรื่องเฉพาะเจาะจง หรือต้องตอบคำถามในประเด็นปัญหาที่มีคนมาถามมาสัมภาษณ์ นักวิชาการที่เป็นผู้เชี่ยวชาญก็จะปรับแนวคิดและกระบวนวิธีคิดตามหลักวิชาที่เขามีอยู่นั้นมาใช้ตอบคำถามให้คนฟังทั่วไปเข้าใจเหตุผลต้นปลายได้ง่าย หรือไม่ก็ใช้เป็นกรอบการวิเคราะห์ หรือเป็นแนวพินิจปัญหานั้นๆ พร้อมกับเสนอทางเลือกสำหรับดำเนินการที่เขาเห็นว่าเหมาะสมออกมา

 



          นิสิตที่มาพบบอกว่า เขาอยากรู้เกี่ยวกับกระบวนท่าหรือวิธีคิดวิเคราะห์ดังที่ว่านี้ คือไม่ถึงกับจะเป็นตัวทฤษฎีแท้ๆ และก็ไม่ใช่การประมวลข้อเท็จจริงในพื้นที่ ซึ่งมีเปลี่ยนแปลงไปได้อยู่ตลอด แบบนั้นเขารู้ว่าต้องติดตามเอาเอง สิ่งที่เขาอยากได้คือแนวทางว่าเวลานักวิชาการต้องเจอกับโจทย์จริงนอกตำรา การประยุกต์แนวคิดทฤษฎีที่มีอยู่มาพินิจพิเคราะห์ หาทางเลือก และต้องหาเหตุผลสนับสนุนการตัดสินใจเลือก พวกนักวิชาการเขาทำกันอย่างไร


          สรุปคือ เขาอยากได้เคล็ดวิชา ว่าอย่างนั้นเถิด
          คำขอของเขานั้นตอบให้กันสั้นๆ ยากแท้ เพราะความรู้ความเข้าใจแบบนี้เป็นทางคิดหรือเป็นกระบวนวิธีคิดติดตัว อย่างที่เรียกว่า tacit knowledge ความรู้ความคิดของใครก็ของคนนั้น การจะให้คนที่รู้บอกชัดๆ ในสิ่งที่รู้อยู่ในใจออกมาเป็น หนึ่ง สอง สาม เพื่อให้คนอื่นๆ ใช้ทางคิดแบบเดียวกันนั้นได้ บางทีคนที่รู้จะบอกเป๊ะๆ ออกมาอย่างนั้นไม่ได้ แต่ผมคิดว่าคำขอของเขาก็น่าสนใจ และถึงเราจะถามจากนักคิดนักวิเคราะห์ชำนาญการโดยตรงไม่ได้ถนัด แต่ผมคิดว่ามันยังมีอีกวิธีหนึ่งที่จะสกัดทางการคิด-วิเคราะห์อย่างที่เขาอยากได้ออกมาพิจารณากัน นั่นคือ สกัดจากงานของนักคิดนักวิชาการในสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและรัฐศาสตร์จำนวนหนึ่งที่เป็นผู้ได้รับนับถือในวงการ


          เมื่อคิดว่าน่าลองและเพื่ออุดช่องว่างในการเรียนของเรา ผมจึงขออนุญาตท่านผู้อ่านที่จะเขียนเรื่องนี้ต่อกันไปหลายตอนนะครับ


          ในบริบทที่การเมืองระหว่างประเทศขณะนี้กำลังทวีความตึงเครียดขึ้นมาอย่างรวดเร็วจากการลอบสังหารนายพลกอเซ็ม สุไลมานี ผู้นำกองกำลังคุดส์ของอิหร่าน โดยคำสั่งของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา คำถามหนึ่งที่ผมได้ยินมากที่สุดจากรายการวิเคราะห์ข่าวช่องทางต่างๆ คือสงครามใหญ่ในตะวันออกกลางเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว ใช่ไหม? จากคำถามนี้เอง เมื่อผมต้องคิดว่าจะเลือกกระบวนวิธีคิดของใครมาประเดิมบทความตอนแรกในชุดนี้ดี บุคคลแรกที่ผมนึกถึงคือ George F. Kennan (1904-2005) หรือ Mr. X นักการทูต นักยุทธศาสตร์ชาวอเมริกัน เจ้าของบทความ “The Sources of Soviet Conduct” ที่มาของความคิดยุทธศาสตร์การสกัดล้อมสหภาพโซเวียตอันโด่งดังเมื่อเริ่มต้นสงครามเย็น


          ทำไมผมจึงคิดถึงเคนแนน?
          ในทางทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เคนแนนถูกจัดไว้ให้อยู่ในพวก political realism ความคิดและข้อเสนอเชิงนโยบายของคนที่ถูกจัดให้เป็น political realists ด้วยกันอันที่จริงมีความแตกต่างระหว่างกันอยู่มาก แต่ส่วนที่พวกเขามักถูกคนนอกวงเข้าใจผิดเหมือนๆ กัน คือความเข้าใจผิดที่ว่า political realists เป็นพวกสนับสนุนการใช้กำลังความรุนแรงและสงครามเป็นเครื่องมือดำเนินนโยบายต่างประเทศ เป็นพวกที่เห็นว่า might is right และถ้าการทำสงครามเกิดขึ้นมาจริงๆ คนก็มักเข้าใจว่าเป็นการดำเนินนโยบายตามยุทธศาสตร์ที่พวก political realists เป็นผู้ต้นคิด


          แต่ความจริงวิธีคิดของคนที่ถูกจัดให้เป็น political realists ไม่ได้คิดแต่เรื่องการใช้กำลังแบบนั้น และผมคิดว่าถ้าหากเคนแนนยังอยู่ เขาจะเป็นคนแรกๆ ที่จะออกมาคัดค้านการปล่อยให้ความขัดแย้งระหว่างประเทศในกรณีสหรัฐกับอิหร่านไต่ระดับสูงขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วจำกัดทางเลือกอื่นลงจนหมด เหลือแต่การใช้กำลังบีบบังคับต่อกันเป็นหลัก จนทำให้ความคิดที่ว่าสงครามเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จะกลายเป็นเงื่อนไขที่ทำให้สงครามเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ขึ้นมาจริงๆ


          จะเข้าใจทางคิดของเคนแนนในแบบกะทัดรัดก็คงต้องเปรียบเทียบกับของนักยุทธศาสตร์อย่าง Thomas C. Schelling (1921-2016) และ Herman Kahn (1922-1983) 2 คนหลังนี้เลือกแนวทางการใช้กำลังเป็นทางวิเคราะห์หลัก วิธีคิดของเชลลิ่งและคาห์นจึงมุ่งไปที่การคิดเชิงยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการใช้กำลังว่าในสถานการณ์ที่ความขัดแย้งมีโอกาสไต่ระดับสูงขึ้นไปในแต่ละขั้นๆ การใช้กำลังเพื่อบีบบังคับ ควรทำอย่างไรจึงจะผสมความกลัวกับการคาดคะเนถึงผลได้ผลเสียและความเชื่อให้ได้ประสิทธิผลออกมาดีที่สุด หรือในพิสัยของความขัดแย้งแต่ละระดับ ไม่ว่าอีกฝ่ายจะเลือกปฏิบัติการเคลื่อนไหวในรูปแบบหรือนอกรูปแบบวิธีไหนก็ตาม ทำอย่างไรฝ่ายสหรัฐจึงสามารถคุมเกมการใช้กำลังรุก ป้องปราม หรือตอบโต้ฝ่ายตรงข้าม รวมทั้งเลือกที่จะยกหรือลดระดับความขัดแย้งได้ ด้วยทางเลือกที่เหนือกว่า ยืดหยุ่นได้มากกว่า และอยู่ในจุดได้เปรียบในการกดดันอีกฝ่ายได้สูงกว่า


          แต่วิธีคิดทางยุทธศาสตร์ของเคนแนนต่างออกไปจากของเชลลิ่งและคาห์น ด้วยความที่เขาเป็นหรือถูกจัดให้เป็น political realist เคนแนนมองตามสภาพความเป็นจริงว่าในความขัดแย้งระหว่างประเทศ สงครามย่อมเป็นทางเลือกหนึ่งที่เป็นไปได้ และเมื่อมีอาวุธนิวเคลียร์เข้ามาเกี่ยวข้อง ก็มิใช่ว่าอาวุธนิวเคลียร์จะมีฤทธิ์แต่ในทางป้องปรามอย่างเดียว โอกาสที่จะเกิดสงครามระหว่างประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองมีอยู่เสมอ และเมื่อสงครามเกิดขึ้นแล้ว ก็ไม่อาจตัดความเป็นไปได้ว่าอาวุธนิวเคลียร์จะไม่ถูกนำมาใช้ในสงคราม อย่างน้อยสงครามที่ใช้นิวเคลียร์อย่างจำกัดวง ยังอยู่ในวิธีคิดและแผนยุทธศาสตร์ของประเทศเหล่านี้


          ถึงแม้ว่าสภาพตามความเป็นจริงจะทำให้ความเป็นไปได้ของสงครามยังมีอยู่เสมอไป แต่เคนแนนก็เสนอว่ามันก็มิได้ตัดความเป็นไปได้แบบอื่นๆ และโอกาสที่จะใช้เครื่องมือและวิธีการอื่นๆ นอกเหนือจากสงครามและการใช้กำลังบีบบังคับ ในการจัดการแก้ไขข้อขัดแย้งระหว่างประเทศที่แต่ละฝ่ายมีอยู่ต่อกัน


          ความเป็นไปได้ที่สงครามจะเกิดขึ้นและมีโอกาสจะยกระดับเป็นสงครามนิวเคลียร์กลับยิ่งทำให้การสร้างทางเลือกแบบอื่นๆ ในการแก้ไขความขัดแย้ง และยุทธศาสตร์เพื่อรักษาสันติภาพ กลายเป็นเรื่องสำคัญจำเป็นและเร่งด่วน ซึ่งรวมทั้งการหาทางลดเงื่อนไขทั้งด้านที่เป็นเหตุผลในการทำสงคราม และการลดความรุนแรงของสงครามลงไปให้เหลือน้อยที่สุด และความรับผิดชอบในเรื่องนี้เป็นของสหรัฐ พอๆ กับฝ่ายที่สหรัฐถือว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม ซึ่งในเวลานั้น คือสหภาพโซเวียต


          โดยวิธีคิดแบบนี้ ด้านหนึ่ง เคนแนนจึงเสนอให้เห็นอันตรายของการที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะมองฝ่ายตรงข้าม “แบบ idée fixe” โดยเห็นว่าอีกฝ่ายเป็นศัตรูอย่างสมบูรณ์ และกำหนดชัยชนะในการทำสงครามกับศัตรูแบบนี้ไว้ที่การขจัดทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามอย่างสมบูรณ์ อีกด้านหนึ่ง เมื่อสงครามยังเป็นไปได้ เพื่อลดความรุนแรงในสงครามลง เคนแนนเสนอให้ยุติการใช้นิวเคลียร์เป็นอาวุธ รวมทั้งการเป็นอาวุธเพื่อการป้องปราม ในความหมายว่าอาวุธคือเครื่องมือที่ใช้จัดการกับเป้าหมายฝ่ายตรงข้ามเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์และผลประโยชน์บางอย่าง แต่เมื่อผลของการใช้นิวเคลียร์คือการทำลายล้างมนุษยชาติและอารยธรรม จึงไม่ควรที่ใครจะใช้มันเป็นอาวุธ


          ความคิดทางยุทธศาสตร์ของเคนแนนจึงมองไปไกลกว่าการใช้กำลังในการพิจารณา และเปิดทางเลือกที่เป็นไปได้หลายด้านสำหรับดำเนินความสัมพันธ์ไปสู่จุดมุ่งหมาย ไม่ได้ตั้งต้นและไม่ได้หยุดอยู่ที่การใช้กำลังกดดัน และคิดแต่เฉพาะยุทธศาสตร์การทำสงครามเป็นหลักสำหรับรักษาสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ของสหรัฐ


          ในแง่นี้ เคนแนนจึงเป็น political realist ที่ยืนอยู่กับความคิดกระแสสำคัญสายหนึ่งของอเมริกัน นั่นคือ ปฏิบัตินิยม ความหมายของปฏิบัตินิยมดังกล่าว สุนทรพจน์นี้ของโรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี้แสดงไว้ชัดเจนดี


          “Our future may lie beyond our vision, but it is not completely beyond our control. It is the shaping impulse of America that neither fate nor nature nor the irresistible tides of history, but the works of our own hands, matched to reason and principle, will determine destiny.”


          อย่างไรก็ดี เทียบกันแล้วทางคิดยุทธศาสตร์แบบเชลลิ่งและคาห์นคงเป็นที่สนใจของทรัมป์และนักยุทธศาสตร์ของเขามากกว่า


          ก็เพราะเหตุนี้ ผมเลยอดคิดถึงเคนแนนไม่ได้.


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ