คอลัมนิสต์

เสรีภาพและความเป็นธรรม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เสรีภาพและความเป็นธรรม โดย...  โคทม อารียา

 


          ในเทศกาลขึ้นปีใหม่ 2563 ผมอยากเขียนอะไรที่ผู้อ่านอ่านแล้วเพลินๆ สบายๆ แต่ก็รู้ตัวว่าเป็นคนที่เขียนให้อ่านง่ายไม่ค่อยเป็น จึงขอเริ่มต้นด้วยการอวยพรก่อนก็แล้วกัน ขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คิดอะไรที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนก็ขอให้สมปรารถนา ขอให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นนักการเมืองที่มีหลักการ (กรุณาอย่าลืมว่าการเมืองที่ไม่มีหลักการเป็นบาป 1 ใน 7 ข้อของคานธี) และเป็นนักยุทธศาสตร์ที่สามารถนำพาพรรคพลังประชารัฐให้เจริญรุ่งเรือง ขอให้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา สามารถดูแลข้าราชการกระทรวงมหาดไทยและข้าราชการการปกครองท้องถิ่นได้อย่างทั่วถึง โดยไม่มีใครกระทำการที่ขัดนโยบายที่ว่าข้าราชการประจำต้องวางตัวเป็นกลางในการเลือกตั้ง และที่สำคัญ ขอให้นายพลเอกทั้งสามมีความสามัคคีกลมเกลียวกันอีกนาน มิเสียแรงที่ร่วมคิดร่วมทำรัฐประหารมาด้วยกัน

 

 

          ขอให้สังคมไทยลดความรุนแรงทางวัฒนธรรม ลดการปลุกเร้าด้วยวาทกรรมที่แบ่งแยก เช่น วาทกรรมชังชาติ วาทกรรม Manichean ที่แบ่งเป็นสอง (เช่น ฝ่ายเราดี ฝ่ายเขาชั่ว) วาทกรรมกล่าวโทษมุสลิม เป็นต้น ขอให้สังคมไทยลดความรุนแรงทางเศรษฐกิจ ลดการผูกขาดโดยตระกูลใหญ่ที่รวยผิดปกติ ลดความเหลื่อมล้ำ โดยยึดคติไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ขอให้การเมืองไทยเป็นประชาธิปไตยที่มีประสิทธิผล ไม่เกื้อกูลแต่พรรคพวกโดยไม่นำพาต่อหลักนิติรัฐ ขอให้คนไทยมีจิตสำนึกต่อส่วนรวมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งหมายรวมถึงการคำนึงถึงความยั่งยืนของระบบนิเวศเพื่ออนุชนรุ่นหลัง


          เมื่ออวยพรแบบโลกสวยไปอย่างหอมปากหอมคอแล้ว ก็ขอออกความเห็นต่อเนื่องไปในสองประเด็นที่ผมติดใจที่พอจะอธิบายได้บ้างว่า ทำไมผมถึงไม่ชอบ คสช. และไม่ชอบรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจ คสช. คือ 1.เรื่องเสรีภาพ และ 2.เรื่องความไม่เป็นธรรม


          เมื่อผมเป็นเด็ก ผมเป็นเหมือนเด็กทั้งหลาย ที่ชอบเล่น ชอบซน ชอบทำอะไรโดยไม่ต้องรับผิดชอบ ผมอยู่ในการดูแลของครอบครัวโดยไม่ต้องกังวล เชื่อแน่ว่าแม่รักและรักแม่ เชื่อฟังครูแต่ก็ไม่ขัดใจเพื่อน แม่สอนให้เคร่งครัดในศาสนา มีมารยาทและรู้จักเกรงใจผู้อื่น บราเดอร์ที่โรงเรียนอัสสัมชัญสอนให้เชื่อในพระเจ้า แม้ผมจะมีปัญหาปกติตามแต่วัย แต่ก็มีความทรงจำว่าวัยเด็กเป็นเวลาที่วิเศษสุดของชีวิต เมื่ออายุราว 15 ปี เป็นครั้งแรกที่รู้สึกเหมือนตื่นขึ้นมา ถามตัวเองว่า “ฉันเป็นใคร เกิดมาทำไม” รู้สึกว่าอย่างน้อยเราต้องรับผิดชอบต่อตัวเองให้มากขึ้น แต่ระบบความเชื่อ ระบบคุณค่าเดิมก็ดำเนินต่อไปโดยไม่ถูกตั้งคำถามมากนัก อานิสงส์ของ “ธรรมะจัดสรร” ทำให้ผมบังเอิญได้ไปเรียนต่อในต่างประเทศโดยไม่ต้องขวนขวาย หรือคิดมาก หรือลังเลใจ ขณะที่เรียนต่อ แม้จะต้องทุ่มเทกับการเรียนวิชาต่างๆ แต่ผมอยู่ในบรรยากาศที่ต้องเรียนรู้และปรับปรุงตัวเองให้เข้ากับสังคม จากที่ไม่เคยรู้อะไรเกี่ยวกับสังคมภายนอกมาก่อนเลย คำถามแรกๆ ที่ถามตัวเองก็คือทำไมสังคมการเมืองไทยจึงล้าหลัง ทำไมระบบการศึกษาจึงคับแคบ ผมจึงเริ่มคิดว่าต่างประเทศที่นี่คือบ้านเมืองเขา ผมเริ่มเลือกแล้วว่าเมื่อเรียนจบจะกลับไปทำงานเพื่อให้บ้านเรา คือสังคมการเมืองไทยมีการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนา




          เมื่อผมประสบมรสุมชีวิตครั้งสำคัญ ผมได้ถามตัวเองอีกครั้งว่าผมจะเลือกอย่างไรระหว่างการเป็นคนที่เคร่งครัดในศาสนากับเสรีภาพที่จะใช้ชีวิตโดยไม่มีความแน่นอนใจ แล้วผมก็เลือกการใช้ชีวิต เลือกที่จะไม่เคร่งคุณค่า หากผมยังอยู่ในกรอบของคุณค่าเดิม ผมจะต้องเลือกระหว่างชีวิตที่จำทนกับการเป็นคนบาปไปชั่วนิรันดร์ ผมจึงเลือกที่จะออกจากกรอบที่ชี้บุญ-ชี้บาปอย่างชัดเจน มาสู่กรอบที่ไม่เชื่อสนิทใจ กรอบใหม่มีความสงสัยและความคลุมเครือ กรอบที่ทำให้ผมต้องใคร่ครวญในการใช้ชีวิต ในการเลือกที่ทำให้ผมต้องรับผิดชอบอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ผมได้เลือกเสรีภาพที่จะวางจุดมุ่งหมายที่จะกระทำการตามโครงการที่นำพาไปสู่จุดหมาย ผมเลือกเสรีภาพที่จะเปลี่ยนโครงการเมื่อมีเหตุปัจจัยใหม่หรืออุปสรรคที่ไม่อาจข้ามไปได้ ผมเลือกเสรีภาพที่จะปรับจุดมุ่งหมายในบางครั้ง ผมยอมรับว่าจุดมุ่งหมายของผมไม่สมบูรณ์ คนอื่นอาจมีจุดมุ่งหมายที่ดีกว่า ที่สำคัญคือคนอื่นและผมควรมีเสรีภาพในการเลือกจุดมุ่งหมายที่อาจขัดหรือเสริมกันได้


          อย่างไรก็ดีจุดมุ่งหมายที่เป็นนามธรรมของผมคือ ประชาธิปไตย สันติวิธี และสิทธิมนุษยชน ส่วนโครงการต่างๆ นั้น หมายถึงงานที่ทำหรือเคยทำในองค์กรพัฒนาเอกชน และในองค์กรของรัฐ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล


          เมื่อ คสช. กระทำรัฐประหาร ผมย่อมขัดแย้งเป็นธรรมดา เพราะนอกจากจุดมุ่งหมายจะขัดกันแล้ว การกระทำของ คสช. โดยเฉพาะการใช้มาตรา 44 และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับ “ปราบโกง” เพื่อสืบทอดอำนาจ ก็เป็นอุปสรรคต่อการใช้เสรีภาพของผมในการขับเคลื่อนจุดมุ่งหมายที่กล่าวถึงข้างต้น


          มีนายทหารคนหนึ่งพูดเปรยๆ ออกมาว่า “ทหารไปทำอะไรให้” เขาพาดพิงถึงการที่มีคนออกมาพูดเรื่องการเกณฑ์ทหาร หรือวิจารณ์งบประมาณกระทรวงกลาโหม แต่เรื่องที่ออกมาพูดไม่ใช่เรื่องที่มีเฉพาะทหารจึงควรพูด อันที่จริงทหารไม่ควรพูดด้วยซ้ำ เพราะเป็นเรื่องนโยบายทางการเมือง แต่ในสังคมไทยมีหลายคนที่เป็นพวกเคร่งคุณค่าที่ยกระดับคุณค่าของตนเหมือนเป็นรูปเคารพ โดยไม่ตั้งคำถามแก่เรื่องอื่นใดเลย สำหรับทหารกองทัพเป็นประโยชน์ สำหรับผู้บริหารการขนส่ง ถนนเป็นประโยชน์ สำหรับนักปฏิวัติการปฏิวัติเป็นประโยชน์ กองทัพ ถนน การปฏิวัติล้วนกลายมาเป็นรูปเคารพ เพื่อรูปเคารพเช่นนี้ ผู้เคร่งคุณค่าไม่ลังเลที่จะเสียสละมนุษย์เองให้แก่มัน เขาไม่ตระหนักถึงคุณค่าของเสรีภาพของเพื่อนมนุษย์ เขาไม่ลังเลที่จะเอารัฐมาบังคับ เพื่อประโยชน์ของรูปเคารพ มิใช่ของปวงชน และเขาก็นิยมใช้กฎหมายแบบสองมาตรฐาน ซึ่งเป็นที่มาของความรู้สึกไม่เป็นธรรม


          ขอน้อมนำพระราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาประกอบความคิดเรื่องกฎหมายและเสรีภาพ ดังนี้ “กฎหมายมีสำหรับให้มีความสงบสุขในบ้านเมือง มิใช่ว่ากฎหมายมีไว้สำหรับบังคับประชาชน ถ้ามุ่งหมายที่จะบังคับประชาชนก็กลายเป็นเผด็จการ กลายเป็นสิ่งที่บุคคลหมู่น้อยจะต้องบังคับบุคคลหมู่มาก ในทางตรงกันข้าม กฎหมายมีไว้สำหรับให้บุคคลส่วนมากมีเสรีและอยู่ได้ด้วยความสงบ” ผมเชื่อว่าคณะ คสช. ก็ปรารถนาที่จะให้บ้านเมืองอยู่ได้ด้วยความสงบ แต่ด้วยเหตุที่เป็นผู้เคร่งคุณค่าจึงมองว่าผู้ที่ไม่คล้อยตามเป็นผู้ไม่ปรารถนาดี และพร้อมที่จะใช้มาตรการทางกฎหมายและมาตรการอื่นๆ มาบังคับแก่ผู้ใช้เสรีภาพในการกำหนดจุดมุ่งหมายและวิธีการที่ต่างออกไป


          ผมจึงไม่ชอบ คสช. เพราะเขาจำกัดเสรีภาพของการเลือกและใช้มาตรการที่ไม่เป็นธรรมเพื่อให้ตนอยู่ในอำนาจและให้ผู้อื่นคล้อยตาม ผมจึงได้กล่าวคำอวยพรแก่ คสช.ไว้ในตอนต้น มิใช่เพื่อประชดประชัน หากแต่อยากให้ คสช. เห็นแก่ประโยชน์สุขของประชาชนตามที่พูดไว้จริงๆ และคนที่อยากเล่นการเมืองก็ออกมาเล่นแบบแฟร์ๆ แล้วอดีต คสช. ก็จะไม่ทำให้การรัฐปะหารของเขาเสียของ ทั้งนี้ ในสายตาของอนุชนรุ่นหลัง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ