คอลัมนิสต์

ย้อนคดีที่ดินหญิงอ้อ กับที่ดินพ่อนายกฯ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ย้อนคดีที่ดินหญิงอ้อ กับที่ดินพ่อนายกฯ

 

 


          ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นสำหรับการยื่นญัติติไม่ไว้วางใจรัฐบาลโดยเฉพาะแกนนำฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทย เตรียมเปิดบัญชีล็อกเป้า 5 รัฐมนตรีในเวทีซักฟอกครั้งแรกในรอบ 5 ปี แต่ขณะนี้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธานคณะทำงานด้านกิจการพิเศษพรรคเพื่อไทย ในฐานะแม่ทัพรับผิดชอบดูแล ได้ออกมาเปิดประเด็นเชื่อมโยงไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าการซื้อขายที่ดินระหว่างบริษัทเอกชน กับบิดา พล.อ.ประยุทธ์ เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กัน

 

 

          ข้อมูลที่อดีตดาวสภาผู้นี้นำมาเปิดเผยมาจากกรณีบริษัท 69 พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ซึ่งจดทะเบียนเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2556 ด้วยทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท ไปซื้อขายที่ดิน พ.อ.ประพัฒน์ จันทร์โอชา บิดานายกฯ ย่านบางบอน ซอย 3 เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2556 รวม 9 แปลง เนื้อที่รวม 50 ไร่ 3 งาน 8 ตารางวา มีราคาประเมินตามราคาราชการอยู่ที่ 197,565,000 บาท แต่มีการอ้างว่าซื้อขายกันที่ 600,000,000 บาท บริษัทแห่งนี้ได้จดทะเบียนก่อนซื้อที่ดินเพียง 7 วัน โดยในวันซื้อขายที่ดินยังมีทุนจดทะเบียนเพียง 1 ล้านบาท 


          จากนั้นวันที่ 21 มิถุนายน 2556 ได้เพิ่มทุนเป็น 200 ล้าน และวันที่ 2 ธันวาคม 2556 เพิ่มทุนอีกครั้งเป็น 628 ล้าน โดยเฉพาะกรรมการและผู้ถือหุ้นบริษัท 69 พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ในช่วงก่อตั้ง 2 คน คือ นายศราวุธ เทียนสุวรรณ เป็นกรรมการ 26 บริษัท ส่วนนายประมวล ศรีรัตนา เป็นกรรมการ 27 บริษัท ที่สำคัญทั้งสองคนเป็นกรรมการร่วมกัน 22 บริษัท หนึ่งในนั้นมีบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นเป็นเจ้าสัวชื่อดังของไทย


          ประเด็นที่ ร.ต.อ.เฉลิม พุ่งเป้าไปจึงอยู่ที่เหตุใดการตั้งบริษัท 69 พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ขึ้นมาเพียงแค่ 7 วัน ก่อนซื้อขายที่ดินที่มีมูลค่าสูงกว่าราคาประเมินมีส่วนต่างถึง 402,435,000 บาท จะเป็นการเอื้อประโยชน์ระหว่างบริษัทนอมินีกับผู้มีอำนาจในช่วงรัฐบาล คสช.หรือไม่


          แต่สิ่งที่ “ไพศาล พืชมงคล” อดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ออกมาให้ความเห็น “โต้แย้ง” ร.ต.อ.เฉลิมมี 6 ประเด็น 1.เป็นที่ดินของบิดา ไม่ใช่ของลุง ลุงไม่ใช่ผู้ขาย 2.เป็นการซื้อขายในปี 2556 ก่อนลุงยึดอำนาจ ยังไม่เป็นนายก ไม่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน 3.ราคาที่ดินที่ขายย่อมสูงกว่าราคาประเมินเป็นปกติอยู่แล้ว ถ้าคิดโกง สามารถจดทะเบียนขายเท่าราคาประเมินก็ได้ การแสดงราคาขายมากกว่าราคาประเมินจึงถูกต้องแล้ว




          4.ราคาซื้อขายเท่าใดย่อมขึ้นอยู่กับการตกลงโดยเฉพาะการคิดคำนวณการลงทุนของผู้ซื้อมากรายราคาซื้อขายสูงกว่าราคาประเมินนับพันเท่า เพราะราคาประเมินเป็นมูลค่าต่ำสุดเพื่อเก็บภาษี หากตั้งสูงประชาชนย่อมเดือดร้อน 5.บริษัทคุณเจริญซื้อที่ดินแล้วจะพัฒนาเมื่อใด จะมีรายได้อย่างไรเป็นวิธีการลงทุนของคุณเจริญ ไม่เกี่ยวกับลุงแก และ 6.ตอนซื้อขายไม่มีใครรู้ว่าลุงแกจะเป็นนายกฯ เพราะตอนนั้นคุณยิ่งลักษณ์มีอำนาจมาก


          สำหรับประเด็นเรื่องการซื้อขาย “ที่ดิน” หากยังจำกันได้ ยังมีคดีซื้อขาย “ที่ดินรัชดา” ระหว่างคุณหญิงพจมาน ประมูลซื้อที่ดินริมถนนเทียมร่วมมิตร ย่านถนนรัชดาภิเษก ใกล้ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย มีเนื้อที่จำนวน 33 ไร่ 78 ตารางวา ในราคา 772 ล้านบาท จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินในกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกฯ ในขณะนั้น ร่วมลงนามยินยอมในฐานะคู่สมรส


          สำหรับที่ดินรัชดาภิเษกเป็นหนึ่งในที่ดินสองแปลงที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซื้อจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอราวัณทรัสต์ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2538 มูลค่า 2,749 ล้านบาท ต่อมาปี 2544 กองทุนได้ปรับปรุงราคาที่ดินลดลงกว่า 2,000 ล้านบาท เหลือ 700 กว่าล้านบาท โดยอ้างว่าเป็นการปรับปรุงบัญชีเพื่อปรับมูลค่าหนี้ให้ลดลงเพื่อให้เกิดสภาพคล่อง ก่อนนำออกประมูลวันที่ 16 ธันวาคม 2546 โดยไม่กำหนดราคาขั้นต่ำ โดยคุณหญิงพจมาน ส่งทนายความเป็นตัวแทนเข้าประมูล และชนะการประมูลด้วยราคาสูงสุด 772 ล้านบาท พร้อมนัดทำสัญญาซื้อขาย และโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินวันที่ 30 ธันวาคม 2546


          จากนั้นภายหลังเหตุรัฐประหารปี 2549 มีการให้ข้อมูล คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งถูกแต่งตั้งโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ให้ตรวจสอบพฤติกรรมทุจริตประพฤติมิชอบ โดย คตส.มีมติรับเรื่องนี้ไว้พร้อมแต่งตั้ง “นาม ยิ้มแย้ม” ประธาน คตส.เป็นผู้รับผิดชอบ


          จนนำมาสู่การแต่งตั้งอนุกรรมการไต่สวนคดีการซื้อขายที่ดินรัชดา และส่งสำนวนวันที่ 8 พฤษภาคม 2550 ให้อัยการสูงสุดสั่งฟ้องศาลศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กระทำความผิดมาตรา 100 กฎหมาย ป.ป.ช.ห้ามนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีและคู่สมรส ทำการซื้อขายกับหน่วยงานของรัฐ โดยศาลมีคำสั่งรับฟ้องเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2550


          จนมาถึงวันที่ 21 ตุลาคม 2551 องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษา “ทักษิณ ชินวัตร” จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 100 (1) วรรคสาม และมีบทลงโทษตามมาตรา 122 วรรคหนึ่ง ให้ลงโทษจำคุก 2 ปี และยกฟ้องโจทก์ “คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร” จำเลยที่ 2


          โดยข้อห้ามตามมาตรา 100(1) อยู่ในหมวด 9 หัวข้อ การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดดําเนินกิจการเป็นคู่สัญญา หรือมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทํากับหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมีอํานาจกํากับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดี


          จากนั้นถัดอีกมา 3 ปีวันที่ 24 กันยายน 2553 ศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้คุณหญิงพจมาน คืนที่ดิน 4 แปลง 33 ไร่ ให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พร้อมพิพากษาให้กองทุนฟื้นฟูฯ คืนเงินค่าซื้อขาย 772 ล้านบาท กลับคืนให้แก่คุณหญิงพจมาน พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี


          ถึงแม้เป็น 2 ประเด็นอยู่ต่างเวลา แต่กำลังถูกเปรียบเทียบกับการซื้อถูกและนำไปขายแพง จะเข้าข่ายความผิดเช่นเดียวกันหรือไม่ เมื่อในนาทีนี้ “เฉลิม” ยังเร่งขุดข้อมูลเก่าในช่วงนาทีทอง ได้รับความไว้วางใจจาก “ทักษิณ” กุมบังเหียนพรรคเพื่อไทย คุมปฏิบัติการเปิดแผลรัฐบาลในเดือนกุมภาพันธ์นี้

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ