คอลัมนิสต์

เราช็อกแล้วตั้งแต่ต้องมี ส.ว.250คน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เราช็อกแล้วตั้งแต่ต้องมี ส.ว.250 คน คอลัมน์... EXCLUSIVE TALK

 

 

          ปฏิเสธไม่ได้การเมืองว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังคงเป็นประเด็นร้อนแรงต่อเนื่องข้ามปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ของสภาผู้แทนราษฎร

 

 

          หนึ่งในกรรมาธิการวิสามัญที่น่าสนใจ คือ ศ.ดร.อุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นหนึ่งในคนที่ร่วมยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มากับมือ จึงไม่แปลกที่จะได้รับความสนใจและถูกตั้งคำถามว่าเหตุใดถึงมาร่วมกับคณะกรรมาธิการวิสามัญที่มีชื่อในทำนองอยากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเช่นนี้


          แค่ให้ความเห็น ไม่ได้ชี้นำปัญหา
          ในประเด็นเหล่านี้ ได้มีโอกาสสนทนากับอาจารย์อุดม โดยมีเนื้อหาของการสัมภาษณ์ที่น่าสนใจและน่าติดตามดังนี้


          ก่อนอื่นอาจารย์อุดม อธิบายถึงเหตุผลในการเข้ามาร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญว่า “ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าคนที่ทาบทามผม เขาบอกว่าไม่ใช่เป็นการไปชี้ว่าควรจะแก้ไขประเด็นไหนในรัฐธรรมนูญ เขาอธิบายอย่างนี้ ในขณะเดียวกัน ถามว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้จะทำหน้าที่อะไร เขาอธิบายว่าเขาต้องการให้มีคนที่เคยร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาอธิบายว่าการจะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะสามารถทำได้ในขอบเขตตรงไหน และด้วยวิธีการอะไร หมายถึงว่าแค่ในเชิงของการให้อธิบายวิธีการเป็นหลัก”


          “ผมก็เรียนยืนยันว่าการจะไปให้บอกว่าควรแก้อะไรหรือไม่ควรแก้อะไร ผมไม่อยู่ในฐานะที่จะไปพูด เพราะผมเป็นคนยกร่างรัฐธรรมนูญเอง มันจบแล้วสำหรับผม ยืนยันว่าผมให้เหตุผลกับคนที่ทาบทามแล้วเขาก็บอกว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญทำเพียงแค่ศึกษาว่ากฎหมายได้วางเรื่องเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้อย่างไรเท่านั้นเอง ไม่ได้พูดถึงว่าควรแก้หรือไม่ควรแก้ ไม่ใช่ประเด็นนี้”


          “จุดประสงค์ของการเอาคนที่รู้เกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญเข้าไปเป็นกรรมาธิการวิสามัญมันชัดเจนอยู่แล้วว่าเราไม่ได้เข้าไปเพื่อที่จะไปบอกว่าประเด็นไหนที่บกพร่อง เพื่อจะให้แก้ไข ซึ่งถ้าเป็นประเด็นเหล่านั้น ผมพูดได้เลยว่าผมก็อยู่ในฐานะที่จะคอยปกป้อง ผมก็ยืนยันตรงนี้ เพราะเหตุที่ว่าเราเป็นคนร่างมาเอง เราไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะไปพูดในทางแตกต่างกัน”

 



          “เหมือนคนมาถามผมว่าตอนที่ร่างระบบการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่หลายคนอาจมีความรู้สึกว่าข้อความในรัฐธรรมนูญกับข้อความในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมันไม่ค่อยไปด้วย ผมก็ยืนยันว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้คิดมาก่อนแล้ว และเห็นว่าสิ่งที่ทำไปนั้นถูกต้อง ไม่ได้มีส่วนที่จะไปคิดในทางที่เราร่างผิดพลาด ดังนั้น ผมไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะไปพูดแทนใครว่ารัฐธรรมนูญนี้ผิดพลาด ผมพูดตรงนี้ไม่ได้เลย”


          “เวลาเข้าไปในคณะกรรมาธิการวิสามัญ จากสิ่งที่ได้รับทาบทามก็ดี หรือจากสถานะที่เราเคยเป็นกรธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญมาเองก็ดี จึงไม่ได้จะมาเป็นคนที่บอกว่าประเด็นไหนไม่ว่าการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หรือ การแก้ไขบทบาท ส.ว. หรือ วิธีการเลือกตั้ง ควรแก้ไขหรือไม่ควรแก้ไข”


          อาจารย์อุดมแสดงทัศนะต่อกระแสเกี่ยวกับการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า “เวลาเราคิดว่าเรื่องรัฐธรรมนูญมีปัญหา ส่วนใหญ่มันเกิดจากความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ความคิดเห็นที่แตกต่างนั้นถามว่ามันมีเฉพาะรัฐธรรมนูญหรือไม่ ผมเชื่อว่าในกฎหมายเกือบทุกฉบับ ถ้าเมื่อไรมีการใช้เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งที่คนเห็นแตกต่างกัน แล้วเราเรียกว่ามันเป็นปัญหา ทุกกฎหมายมันเป็นปัญหาหมดทุกเรื่อง”


          รัฐธรรมนูญ 60 ไม่ได้เลือกปฏิบัติ
          “ในความคิดเห็นผม ผมก็ยังคิดว่ารัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นมานั้นล้วนแล้วแต่มีที่มา ยิ่งในประเด็นที่คนโต้แย้งกันมากเท่าไรก็ยิ่งสะท้อนสิ่งที่เรียกว่าเป็นประเด็นที่เราคิดกันมาก่อน เช่น อย่างปัญหาการถือหุ้นสื่อ ถามว่าคนร่างรัฐธรรมนูญคิดมาก่อนหรือไม่ เราก็คิดมาก่อนแล้ว เพราะมันเป็นตัวร่างที่เคยมีในรัฐธรรมนูญ 2550 เพียงแต่จุดที่เปลี่ยนไป คือ แทนที่จะเป็นเรื่องที่ ส.ส.จะต้องไม่ถือหุ้น กลายมาเป็นผู้สมัคร ส.ส.ต้องไม่ถือหุ้นสื่อ ก็แค่นั้น หรือเรื่องที่โต้แย้งกันมากในเรื่องการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ผมคิดว่าเวลาเรานึกถึงการยกร่างกฎหมาย เราคิดอะไร เรามีหลักการหรือไม่ ผมก็บอกว่ามี ข้อที่คนเห็นต่างเป็นเพราะเขาไม่ได้มาคิดกับเรา ทุกอย่างมันเป็นไปตามเกณฑ์ ไม่ได้เป็นการไปเลือกปฏิบัติ”


          “เราร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาเพราะเรารู้ถึงปัญหาที่ต้องแก้ไข ไม่ได้ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาเพื่อต้องการให้เกิดปัญหา มีคนมักจะพูดว่า กรธ.เห็นอยู่แล้วว่าจะเกิดปัญหาความไม่มีเสียงข้างมากในสภา ผมถามว่าแล้วมันจะใช้หลักอะไรที่จะไปเขียนกฎเพื่อให้ได้เสียงข้างมาก อย่างนั้นมันจะถูกหรือ”


          “ผมเชื่อว่าในรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ใช้ระบบเลือกตั้งสองบัตรก็คงไม่ได้มีใครคิดหรอกว่าจะได้เสียงข้างมากแบบเด็ดขาด มีพรรคไทยรักไทยคะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาด คงไม่มีใครไปคิดอย่างนั้น ทุกอย่างคิดออกมาจากหลักที่ว่าประชาชนเป็นคนที่กำหนดเก้าอี้ของคนในสภา แล้วหลักของเราถามว่ามันไม่ถูกหรือ ถ้าคนเขาเลือกด้วยบัตรเลือกตั้งใบเดียวมันยิ่งชัดเจนใหญ่ว่าคุณเลือกใคร คุณเลือกพรรคไหน เราไม่ควรจะไปคิดว่าการเลือกคนกับการเลือกพรรคมันแยกออกจากกันได้ เพราะในท้ายที่สุดเราก็บังคับให้คนสมัคร ส.ส.สังกัดพรรคอยู่ดี”


          ช็อกกับข้อเสนอของคสช.
          ในช่วงหนึ่งของการสนทนา เมื่อถามถึงที่มาที่ไปของการให้มี ส.ว. ตามบทเฉพาะกาลตามข้อเสนอของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปรากฏว่าอาจารย์อุดมยอมรับว่าเวลานั้นเมื่อได้เห็นหนังสือที่เป็นข้อเสนอจากคสช.แล้วรู้ช็อกขึ้นมาทันที


          “เราช็อกแล้วตั้งแต่ต้องมี ส.ว.250 คน เพราะเราก็รู้สึกว่ามาได้อย่างไร แต่พอเขาพยายามจะอธิบายว่าการเลือกตั้้งครั้งแรกการเมืองก็ยังไม่เปลี่ยน หมายความว่า ความขัดแย้งที่แบ่งเป็นสองฝ่ายก็ยังไม่เปลี่ยน แล้วเราจะทำให้การรัฐประหารเสียเปล่าอย่างนั้นหรือ ข้อนี้เราก็คิดในใจนะ เป็นโจทย์ที่ทุกคนต้องมาตั้งคำถามว่าบ้านเมืองเราหยุดชะงักไป เราจะย้อนกลับมาเป็นแบบเดิมอย่างนั้นหรือ หรือว่าจะให้มันเดินไปได้ในระดับหนึ่งและพอถึงขั้นหนึ่งจะเข้ามาสู่ระบบก็ว่าไป”


          “เราก็ตกใจ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราอาจจะไม่ได้คิดมาก่อน เพราะเราเป็นคนยกร่างเกี่ยวกับส.ว.ว่า ส.ว.ควรจะต้องมาเลือกกันเอง แต่พอมาบอกว่าคสช.ขอจะตั้ง 194 คนและบวกกับอีก 6 ตำแหน่ง และขอเลือกอีก 50 คนที่มาจากการเลือกกันเอง เราก็ตกใจ แต่ถามว่ามันพอมีเหตุผลหรือไม่นั้น เราก็คิดแต่เพียงว่าบ้านเมืองเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน”


          “ผมว่ามันมีเหตุผลอยู่ในระดับหนึ่ง เพียงแต่ว่า 5 ปียาวเกินไปหรือไม่ แต่การเปลี่ยนผ่านจากการเมืองที่เป็นแต่งตั้งไปสู่การเลือกตั้ง การปรับไปทันทีทันใดมันจะมีอะไรที่เปลี่ยนหรือไม่ มันก็เป็นเรื่องที่น่ากลัวเหมือนกัน”


          เมื่อในรัฐธรรมนูญมีสิ่งที่ คสช.เสนอเข้ามา จึงทำให้รัฐธรรมนูญกลายเป็นมรดกของคสช.ไปด้วยหรือไม่? อาจารย์อุดม ตอบว่า “จะเรียกว่าเป็นมรดกหรือไม่ ผมไม่รู้ แต่ถ้าเราว่ากันตามตัวบท ระยะเวลา 5 ปีที่จะมี ส.ว.จากการแต่งตั้งของคสช.และมีส่วนมาเลือกนายกฯ ด้วย ผมก็คิดว่าเราก็ไม่สามารถที่จะไปบอกว่ามันต้องเป็นคนของคสช.เท่านั้น เราไม่ได้เป็นคนกำหนดให้ประชาชนเลือกแบบนั้นแบบนี้ ทุกคนเล่นเกมในทางการเมือง ทุกคนอาจจะอยู่พรรคเดียวกันหรือต่างพรรคกัน ผมเชื่อว่ากรธ.ไม่มีใครอยากจะเอาส.ว.ไปเลือกนายกฯ เพราะถ้าทำแบบนั้นเราก็คงยกร่างไปตั้งแต่แล้ว”


          ยอมรับแก้ยาก แต่ผ่าน 5 ปีจะกลับมาปกติ
          อีกประเด็นหนึ่งที่หลายคนสงสัย คือ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีขั้นตอนซับซ้อนตามมาตรา 256 เหตุใด กรธ.ถึงได้กำหนดไว้แบบนั้นจนกลายเป็นที่วิจารณ์กันหนักในทำนองว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่มีทางแก้ไขได้ เว้นเสียแต่ฉีกทิ้งทั้งฉบับ ซึ่งในเรื่องนี้ก็ได้มีคำอธิบายจากอาจารย์อุดมน่าสนใจเช่นกัน


          “การทำรัฐธรรมนูญแตกต่างจากกฎหมายทั่วไป รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายแม่บทของสังคม การจะเปลี่ยนแปลงเอาง่ายๆ ก็เท่ากับเป็นการทำลายหลักการ มันไม่ใช่กฎหมายธรรมดาที่จะไปเสียงข้างมากในสภาธรรมดาแล้วไปเปลี่ยนแปลงเอาง่ายๆ เราจึงบอกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องแตกต่างจากกกฎหมายธรรมดา ความยากที่ดูเหมือนยากกว่าปกติ คือ ต้องมีเงื่อนไขอัตราส่วนของ ส.ว. แต่ถ้าเราพูดตามหลักการทั่วไปตั้งแต่แรก ส.ว.จะต้องมาจากการเลือกกันเอง เพราะตอนที่ กรธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้คิดเรื่อง ส.ว.แต่งตั้ง”


          “ความรู้สึกที่คิดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ยาก คือ ช่วงระยะเวลา 5 ปีนี้เท่านั้น สิ่งที่เขาไม่ชอบมันบ่อนเซาะและทำลายความเป็นประชาธิปไตย มันคือช่วง 5 ปีที่ส.ว.มาจากการแต่งตั้งและมีบทบาทในการเลือกนายกฯ ด้วย แต่หลัง 5 ปีไปเราก็อาจจะไม่รู้สึกอะไรเลย เพราะการแก้ไขเพิ่มเติมโดยเสียงข้างมากแล้วมีสัดส่วนของ ส.ว.หนึ่งในสามหรือฝ่ายที่ไม่ได้เป็นรัฐบาลอย่างน้อย 20% มันไม่ได้เป็นเรื่องผิดปกติอะไรเลย ผมก็ขอย้ำคำของผมว่าคุณจะรอไม่ได้สัก 5 ปีเชียวหรือ”


          “เขาไม่ต้องการเพียงแก้รัฐธรรมนูญหรอกครับ เขาต้องการทำรัฐธรรมนูญใหม่ อันนี้ต้องพูดให้ประชาชนได้เข้าใจ เขาไม่ได้พอใจแค่ตัวบทบางมาตราเท่านั้น แต่เขาไม่ชอบกระบวนการในการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 การมาบอกว่าเนื้อหามันไม่ดี ผมเชื่อว่าถึงคุณไปร่างรัฐธรรมนูญเองก็อาจมีหลายมาตราที่ไปร่างให้ดีกว่านี้ไม่ได้ เพราะมันเป็นเรื่องที่เป็นมาอยู่แล้ว กรธ.ไม่ได้ร่างให้ผิดแปลกจารีตในอดีตทุกมาตราเลย หลายเรื่องก็เป็นอย่างนั้น ในหมวดที่เกี่ยวข้องหมวดทั่วไปและพระมหากษัตริย์”


          สุดท้าย อาจารย์อุดม ยืนยันหนักแน่นว่าเมื่อได้เข้ามาเป็นกรรมาธิการวิสามัญแล้วก็จะหยุดบทบาทของตัวเองไว้เพียงเท่านี้ โดยจะไม่ขอเข้าไปเป็นกรรมาธิการวิสามัญที่จะเข้าไปแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในอนาคตอีก หากมีการตั้งขึ้นมา เพราะต้องการปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคนอื่นเข้ามาดำเนินการรับผิดชอบบ้าง


          “ผมยืนยันว่าผมหมดแล้ว หน้าที่ที่เราจะไปทำรัฐธรรมนูญใหม่ ผมอายุปูนนี้แล้วและเข้าใจว่าเมืองไทยมีคนที่มีความรู้ความสามารถอีกเยอะ เราอาจจะให้ความเห็นได้ แต่ไม่น่าจะเข้าไปทำเอง เพราะผมไม่ได้ถวิลหาในการมาทำหน้าที่แบบนี้ สำหรับครูบาอาจารย์ประสบการณ์ครั้งหนึ่งที่เข้าไปทำตรงนี้ อาจเป็นประโยชน์ที่ทำให้รู้ว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญทำกันอย่างไร เพื่อเป็นประโยชน์แก่การเรียนการสอน ผมพอแล้ว ไม่มีอะไรจะมากไปกว่านี้” อาจารย์อุดมทิ้งท้าย

 

 


 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ