คอลัมนิสต์

แล้งนี้ น้ำโขง สุดวิกฤติ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แล้งนี้ น้ำโขง สุดวิกฤติ คอลัมน์... กระดานความคิด  โดย... บางนา บางปะกง 

 

 


          สองเดือนข้างหน้า ฤดูแล้งจะมาเยือน แม่น้ำโขง กำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยงสูง ที่นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ระหว่างวันที่ 5-6 พฤศจิกายน 2562 คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) จัดการประชุมปรึกษาหารือและให้ข้อมูลระดับภูมิภาค ครั้งที่ 8 เพื่อรวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาลุ่มน้ำโขง โดยมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจาก 4 ประเทศสมาชิกคือ กัมพูชา ลาว ไทย และเวียดนาม ตัวแทนจากคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง เอ็นจีโอ ภาคประชาสังคม นักพัฒนาโครงการและภาคเอกชนเข้าร่วม

 

 

 

แล้งนี้ น้ำโขง สุดวิกฤติ

 

 

 

          ที่ประชุม MRC ให้ข้อมูลว่า สาเหตุที่แม่น้ำโขงแห้งแล้งมากเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ มาจากฤดูฝนที่มาช้ากว่าปกติ โดยเฉพาะในแม่น้ำโขงตอนบน รวมทั้งการกักน้ำบางช่วงของประเทศจีน


          นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยจากการทดสอบและการกักน้ำของเขื่อนในแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง และแม่น้ำโขงสายหลัก ซึ่งข้อมูลส่วนนี้ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงยังไม่มีข้อมูลที่เป็นทางการ


          ปลายเดือนตุลาคม 2562 “เขื่อนไซยะบุลี” ที่กั้นแม่น้ำโขงใน สปป.ลาว จะเริ่มเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าอย่างเป็นทางการ หลังทดลองผลิตไฟฟ้ายูนิตแรกให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มาแล้ว


          เขื่อนไซยะบุลี เป็นเขื่อนแรกที่สร้างบนแม่น้ำโขง ตอนล่าง มีเสียงคัดค้านจากภาคประชาชนไทย กัมพูชาและเวียดนาม พร้อมเอ็นจีโอนานาชาติเนื่องจากมีข้อกังวลอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับแม่น้ำโขงและระบบนิเวศ ทั้งผลกระทบข้ามพรมแดนต่อประเทศเพื่อนบ้าน


          รัฐบาลลาวไม่สนใจเสียงทักท้วง เดินหน้าสร้างเขื่อนไซยะบุลี จนเสร็จสมบูรณ์ในปลายเดือนตุลาคมนี้ ซึึ่งเป็นผลงานชิ้นโบแดงของกลุ่มทุนไทยคือ ช.การช่าง


          11 ตุลาคม 2562 ได้มีการทดลองเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เครื่องที่ 1 ของโครงการ “เขื่อนดอนสะโฮง” ซึ่งมีจุดที่ตั้งเขื่อนอยู่บนแม่น้ำโขง บริเวณสี่พันดอน เมืองโขง แขวงจำปาสัก โดยมีการสร้างเขื่อนกั้น “ฮูสะโฮง” ทางน้ำไหลธรรมชาติ ซึ่งเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำขนาด 260 เมกะวัตต์ ความสูง 25 เมตร

 

 

แล้งนี้ น้ำโขง สุดวิกฤติ

 



          โครงดอนสะโฮง มีมูลค่าราว 723.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือหุ้นใหญ่ 80% โดย บริษัท Mega First Corporation Berhad (MFCB) จากมาเลเซีย รัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าลาว 20%


          ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากเขื่อนดอนสะโฮง จะสนอง 4 แขวงภาคใต้ คือแขวงสาละวัน แขวงอัตตะปือ แขวงเซกอง และแขวงจำปาสัก และที่เหลือส่งขายให้กัมพูชา


          แผนการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าของ สปป.ลาว จากนี้ไปจนถึงปี 2563 จะให้บรรลุเป้าหมายการแสวงหาแหล่งผลิตไฟฟ้า 60 แห่ง ซึ่งปัจจุบัน ทั้งเขื่อนพลังน้ำ และโครงการไฟฟ้าถ่านหิน ก่อสร้างสำเร็จไปแล้ว 38 แห่ง ด้วยเม็ดเงินลงทุน 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีกำลังติดตั้ง 6,265 เมกะวัตต์


          รัฐบาลลาว ยังมีแผนจะสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงอีก 3 แห่งคือ เขื่อนปากแบ่ง แขวงอุดมไซ ที่มีการสำรวจออกแบบเรียบร้อยแล้ว เขื่อนหลวงพระบาง แขวงหลวงพระบาง และเขื่อนปากลาย แขวงไซยะบุลี


          สำหรับเขื่อนหลวงพระบาง เป็นการร่วมทุนของรัฐบาลลาวกับบริษัท ช.การช่าง ของไทย และบริษัท PetroVietnam Power Corporation ของรัฐบาลเวียดนาม


          เขื่อนหลวงพระบางจะเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าแบบน้ำไหลผ่าน (Run-of-river Dam) ตัวสันเขื่อนมีความยาว 275 เมตร สูง 79 เมตร กว้าง 97 เมตร ขนาดกำลังผลิต 1,460 เมกะวัตต์ อยู่ในแม่น้ำโขงตอนบนของนครหลวงพระบางประมาณ 25 กิโลเมตร


          กระบวนการปรึกษาหารือฯ อันเป็นกลไกร่วมของ MRC กำหนดให้โครงการพัฒนาในแม่น้ำโขง ต้องแจ้งและรับฟังความเห็นจากประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขง


          เอาเข้าจริง กระบวนการปรึกษาหารือฯ มิใช่สิทธิในการ “ยับยั้ง” หรือสิทธิในการดำเนินการ “ฝ่ายเดียวโดยไม่คำนึงถึงผู้อื่น” และไม่ได้เป็นกระบวนการตัดสินใจต่อโครงการว่า ”ให้หรือไม่ให้ก่อสร้าง” แต่เป็นการให้ประเทศสมาชิกอื่นตกลงกำหนดมาตรการร่วมกันในการป้องกันผลกระทบข้ามพรมแดน


          ไม่ว่า MRC จะว่าอย่างไร? รัฐบาล สปป.ลาว ประกาศเดินหน้าสร้างเขื่อนหลวงพระบาง ภายในปี 2563 อย่างแน่นอน


          

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ