คอลัมนิสต์

หยุดปีใหม่ไร้กังวล.. วสท. แนะวิธีลดเสี่ยงอัคคีภัย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หยุดปีใหม่ไร้กังวล.. วสท. แนะวิธีลดเสี่ยงอัคคีภัย คอลัมน์...  สายตรวจระวังภัย  โดย...  กรกมล อักษรเดช

 

 


          หลายคนคงได้ยินประโยคที่ว่า โจรขึ้นบ้าน 10 ครั้งก็ไม่เท่าไฟไหม้บ้านครั้งเดียว ความประมาทเพียงชั่วครั้งชั่วครู่อาจสร้างความเสียหายต่อทั้งชีวิตและทรัพย์สินอย่างประเมินค่าไม่ได้ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลหยุดยาวปีใหม่ยิ่งต้องระมัดระวังหยุดพฤติกรรมที่ก่อให้เกิด “อัคคีภัย”!

 

 

          เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) บอกว่า ในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวส่งท้ายปีเก่า 2562 ต้อนรับปีใหม่ 2563 กิจการร้านค้าและประชาชนส่วนใหญ่ต่างพากันเดินทางไปต่างจังหวัดเพื่อพักผ่อนท่องเที่ยว อัคคีภัยเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ โดยมีองค์ประกอบหลักได้แก่ อากาศ ความร้อน เชื้อเพลิง อุปกรณ์ไฟฟ้า และรวมไปถึงกิจกรรมทุกประเภทที่เกี่ยวกับไฟ เช่น การจุดพลุ ดอกไม้ไฟ หรือการก่อไฟให้ความอบอุ่น

 

 

หยุดปีใหม่ไร้กังวล.. วสท. แนะวิธีลดเสี่ยงอัคคีภัย


          สำหรับผู้ประกอบการ เจ้าของอาคารและแหล่งท่องเที่ยว ธุรกิจประเภทเครื่องเล่น ซุ้มประดับไฟ ศูนย์การค้าต่างๆ ควรใส่ใจในการใช้อุปกรณ์ที่มีมาตรฐาน ติดตั้งและตรวจสอบ ตลอดจนมีการบำรุงรักษาด้วยช่างผู้เชี่ยวชาญและมีวิศวกรควบคุมดูแล ตลอดจนเตรียมแผนบริหารจัดการพร้อมบุคลากรกรณีเหตุฉุกเฉิน โดยเฉพาะสวนสนุกในกรุงเทพฯ ซึ่งมีอยู่ 48 แห่ง สวนสนุกแบบถาวรภายในอาคารต้องมีใบอนุญาตก่อสร้างและใบอนุญาตประกอบกิจการและสวนสนุกที่ติดตั้งชั่วคราวตามเทศกาล ทั้งนี้ต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ด้านสุขลักษณะความปลอดภัยและชีวอนามัยสำหรับกิจการสวนสนุกตามพ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ.2535 และกฎกระทรวงว่าด้วยการควบคุมเครื่องเล่น พ.ศ.2558

 



          นอกจากนี้ คุณบุษกร แสนสุข ประธานสาขาวิศวกรรมป้องกันอัคคีภัย และประธานสาขาวิศวกรรมความปลอดภัย วสท. ยังแนะนำการป้องกันไฟไหม้ก่อนออกจากบ้านไปเที่ยวช่วงวันหยุดยาวอย่างสบายใจไร้กังวล ดังนี้ 1.ก่อนออกจากบ้าน ปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าและถอดปลั๊กไฟที่ไม่ใช้งานให้สนิททุกครั้ง 2.ติดตั้งระบบป้องกันเพลิงไหม้ 3.หลีกเลี่ยงการเฉลิมฉลองด้วยพลุ ดอกไม้ไฟ ภายในอาคารบ้านเรือนหรือสถานที่ปิดต่างๆ 4.ไฟประดับต้นคริสต์มาส หรืออุปกรณ์ตกแต่งปีใหม่ เป็นไฟต่อพ่วงที่ใช้งานแบบชั่วคราว โดยเฉพาะการต่อพ่วงบริเวณนอกบ้าน เมื่อถูกแสงแดด ฝนสาด ลมพัด หรืออยู่ใกล้กับแหล่งความร้อน จนทำสายไฟฟ้าชำรุด/ขาดอาจเกิดไฟฟ้าลัดวงจร หรือกรณีปลั๊กหลวมเกิดความร้อนสะสม ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดไฟลุกไหม้ 5.ตรวจสอบปลั๊กไฟพ่วงต่างๆ ให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ควรเลือกใช้ปลั๊กไฟพ่วงที่มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ทั้งสายไฟและรางปลั๊กไฟ 6.เพิ่มความระมัดระวังในการใช้งานอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ เช่น กล่องสัญญาณอินเทอร์เน็ต ธูปเทียนไฟฟ้า กริ่งไร้สาย ควรถอดปลั๊กหลังใช้งานและเก็บให้เรียบร้อย 


          7.จัดอาคารบ้านเรือนให้เป็นระเบียบเรียบร้อย โดยวัสดุในบ้านที่สามารถติดไฟได้ง่ายและมักถูกมองข้าม อาทิ กระดาษ เสื้อผ้า น้ำมัน ทินเนอร์ สีทาบ้าน ควรแยกเก็บสารเคมีที่ติดไฟง่ายในบริเวณที่แห้ง อากาศถ่ายเทสะดวก ห่างจากแหล่งความร้อนที่เป็นตัวเร่งให้เกิดเพลิงไหม้ 8.หากใช้ฟืนไม่ควรปล่อยให้มอดดับเองเป็นอันขาด ต้องดับให้สนิททุกครั้ง 9.งดเว้นการเผาขยะ หญ้าแห้ง และเศษวัสดุ ในช่วงอากาศแห้งหรือช่วงที่ลมพัดแรง 10.กรณีมีผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียง ควรมีผู้ดูแลและจัดให้อยู่ชั้นล่างของอาคารหรือใกล้กับประตูทางออก 11.สำหรับสถานประกอบกิจการ ให้เพิ่มความเข้มงวดและความถี่ในการตรวจตราระบบดับเพลิงให้พร้อมใช้งานอยู่ตลอดเวลา และสำรวจจุดเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย 12.โรงงาน อาคารโรงพยาบาล อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ อาคารที่มีความเสี่ยงอัคคีภัย อาคารที่ผู้ใช้อาคารหนาแน่น ในช่วงเทศกาล จะต้องวางแผนรองรับเหตุฉุกเฉิน จัดเตรียมบุคลากรให้อยู่ประจำอาคารในช่วงวันหยุดยาวหรือเทศกาล เพื่อทำหน้าที่ดูแลอาคาร ป้องกันการเกิดอัคคีภัยและสามารถระงับเหตุได้ทันที และ 13.อบรมให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องด้านความปลอดภัยในการป้องกันอัคคีภัยและเส้นทางอพยพแก่ทุกคนในครอบครัว และพนักงานหรือผู้ใช้อาคาร


          มีสติ รอบคอบ ลดความเสี่ยงตามคำแนะนำ จะทำให้อาคารบ้านเรือนไม่วอดวาย..!!
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ