คอลัมนิสต์

เปิดแผน สทนช.ปฏิรูปน้ำประเทศ20ปี 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดแผน"สทนช."ปฏิรูปน้ำประเทศ20ปี  บูรณาการหน่วยงานแก้"ท่วม-แล้ง"ซ้ำซาก

 

 

          สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นเหตุให้เกิดน้ำท่วมน้ำแล้งซ้ำซาก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก “แผนบริหารจัดการน้ำของประเทศ” ล้มเหลว หากย้อนไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องประสบปัญหาภัยแล้งไปทั่วทุกหย่อมหญ้า จากปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่เริ่มมาตั้งแต่เดือนมีนาคม ก่อนมาถึงช่วงพีคสุดในช่วงกรกฎาคม-สิงหาคม ขณะเดียวกันน้ำในแม่น้ำโขงยังแห้งขอด เนื่องจากมีการกักเก็บน้ำในเขื่อนตั้งแต่ประเทศจีนลงมาถึงประเทศลาว โดยเฉพาะหลายจังหวัดในภาคอีสานจะได้รับผลกระทบหนักสุด 

 

 

          ถึงคราวเคาะห์ซ้ำกรรมซัด ถัดมาเพียงเดือนเดียวก็เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในภาคเหนือ-อีสาน จากผลพวงของพายุโซนร้อน “โพดุล” และ “คาจิกิ” สร้างความเสียหายอย่างย่อยยับทั้งชีวิตและทรัพย์สินตลอดจนเรือกสวนไร่นา 


          จากการประเมินของ "มงคล ตันสุวรรณ" เลขาธิการกลุ่มหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถึงความเสียหายจากภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งนั้น โดยผลกระทบส่วนใหญ่เกิดที่ภาคอีสานตอนกลางและตอนล่าง ส่วนภาคอีสานตอนบนได้รับผลกระทบเพียงบางส่วน รวมพื้นที่ทางการเกษตรได้รับความเสียหายทั้งหมดประมาณ 1 ล้านไร่ ขณะเดียวกันมีผลกระทบที่เกิดขึ้นกับโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคม เช่น ถนนถูกตัดขาด รวมถึงระบบไฟฟ้าบางแห่งเสาไฟฟ้าโค่นล้ม น้ำท่วมเข้าในเขตพื้นที่เศรษฐกิจของหลายแห่ง โดยประเมินภาพรวมความเสียหายไม่น้อยกว่า 8,000 ล้านบาท

 

เปิดแผน สทนช.ปฏิรูปน้ำประเทศ20ปี 

 


          หลังเหตุการณ์คลี่คลาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เรียกประชุมคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ เพื่อติดตามงานปี 2562 และปรับแผนการบริหารจัดการน้ำในปี 2563 พร้อมย้ำ ต้องไม่มีพื้นที่ประสบภัยแล้งซ้ำซากอีกต่อไป โดยรัฐบาลทุ่มงบกลางกว่า 19,000 ล้านบาทเพื่อแก้ปัญหาฉุกเฉินในการเพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำและเพิ่มต้นทุนน้ำ จำนวน 144 โครงการ โครงการก่อสร้างฝายชะลอน้ำ 30,000 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งงบประมาณที่กระจายให้ทุกจังหวัดแก้ไขและบรรเทาปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย

 



          ขณะเดียวกันยังเร่งรัดดำเนินการโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง 9 แผนงาน การขอใช้พื้นที่ป่าสำหรับพัฒนาแหล่งน้ำ 85 โครงการ พร้อมทั้งเห็นชอบโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำจากคลองภาษีเจริญถึงคลองสนามชัย และโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง พร้อมกันนี้ได้ร่วมกันพิจารณาแผนปฏิบัติการภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประจำปี 2563 ประกอบด้วย 28 หน่วยงาน จำนวน 57,975 โครงการ วงเงินกว่า 3.1 แสนล้านบาท ที่กระจายลงทุกภาคทั่วประเทศ และเห็นชอบกรอบโครงสร้างการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจและกองอำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ ที่มีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) รับผิดชอบ

 

 

เปิดแผน สทนช.ปฏิรูปน้ำประเทศ20ปี 

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ


          “ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง น้อมนำพระบรมราโชบายของรัชกาลที่ 10 ในการสืบสาน รักษาและต่อยอด มาดำเนินงานโดยเฉพาะ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นหลัก เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ร่วมกันบริหารจัดการน้ำเชิงรุก ทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้งไปพร้อมกัน โดยต้องเก็บสถิติและพยายามบริหารจัดการลดความเสียหายจากน้ำท่วมเป็นพื้นที่ให้มากที่สุด”


          นอกจากนี้ยังเร่งบริหารจัดการลุ่มน้ำหลัก ควบคู่กับเร่งจัดทำแหล่งเก็บน้ำอุปโภคบริโภคผิวดินในแต่ละชุมชน โดยเร่งจัดทำแก้มลิง ฝายชะลอน้ำในลำน้ำต่างๆ และการผันน้ำเข้าอ่างเก็บนำ้ขนาดใหญ่ให้มากที่สุดในทุกโอกาส โดยต้องหยุดปัญหาพื้นที่แล้งซ้ำซากให้ได้โดยด่วน พร้อมกันนี้ให้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ทราบสถานการณ์น้ำและมีส่วนร่วมบริหารจัดการไปพร้อมๆ กัน โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ที่อาจมีประชาชนได้รับผลกระทบ  


          โดยต้องพยายายามขับเคลื่อนดำเนินงานให้ ครอบคลุมทั้ง 6 ด้าน คือ การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต การจัดการ น้ำท่วมและอุทกภัย การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นนำ้ที่เสื่อมโทรมและป้องกันการทลายของดิน รวมทั้งการบริหารจัดการ และย้ำว่ารัฐบาลได้ทุ่มงบประมาณ กระจายแก้ปัญหาน้ำลงทุกพื้นที่และจะติดตามขับเคลื่อนอย่างใกล้ชิด โดยต้องให้เกิดผลเป็นรูปธรรมกับประชาชนในพื้นที่ปี 2563 


          จากนั้น พล.อ.ประวิตร ได้เน้นย้ำอีกครั้งในระหว่างเป็นประธานการประชุมทรัพยากรน้ำระดับนานาชาติ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ณ ห้องประชุมเดอะริเวอร์ โรงแรมชาเทรียม ริเวอร์ไซด์ ถึงกลไกด้านกฎหมายสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรของประเทศและเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างความเป็นระเบียบ ความยุติธรรม และป้องกันรักษาผลประโยชน์ของประชาชน เนื่องจากปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาที่เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ ไม่ว่าจะปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง หรือปัญหาคุณภาพน้ำ ที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำมีความยุ่งยาก ซับซ้อน กว่าในอดีตที่ผ่านมา

 

 

เปิดแผน สทนช.ปฏิรูปน้ำประเทศ20ปี 

 


          ด้วยปัญหาที่เพิ่มขึ้นนี้ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งและความเห็นต่างในการบริหารทรัพยากรน้ำ รวมถึงการบริหารจัดการที่ไม่มีการบูรณาการและขาดธรรมาภิบาล ส่งผลต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในภาพรวม โดยหลักการสากลยอมรับว่าระบบกฎหมายเป็นกลไกสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรของประเทศ เป็นเครื่องมือเพื่อสร้างความเป็นระเบียบ ความยุติธรรม และป้องกันรักษาผลประโยชน์ของประชาชน 


          ดังเช่น กรณีของประเทศไทย ที่รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญของการบูรณาการการบริหารทรัพยากรน้ำ จึงได้ออกพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารทรัพยากรน้ำของประเทศ รวมถึงการจัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ขึ้นเป็นหน่วยงานกำกับกลาง บูรณาการการทำงานของหน่วยงานด้านน้ำที่มีมากกว่า 40 หน่วยงานเข้าด้วยกัน


          อาจกล่าวได้ว่าการประชุมระดับนานาชาติในครั้งนี้ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหา นโยบาย กฎหมาย ระเบียบ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำ ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องและจะเป็นผลดีกับหน่วยงานของไทยที่จะสามารถนำไปต่อยอดประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานให้เกิดประโยชน์เพื่อสิทธิในการเข้าถึงน้ำของประชาชนได้อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งสอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) มุ่งสู่การแก้ปัญหาด้านน้ำของประเทศให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็วต่อไป  


          สองวันต่อมาจากนั้น ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำแผนป้องกันภัยแล้ง ปี 2562/63 และการกำหนดพื้นที่แหล่งน้ำสำรอง ตามที่ได้รับมอบหมายจาก พล.อ.ประวิตร ให้สามารถรับมือกับฤดูแล้งที่ใกล้จะมาถึงได้อย่างครอบคลุมทุกมิติ ซึ่งประกอบด้วย 5 แผนปฏิบัติการหลัก ได้แก่ 1.แผนปฏิบัติการรองรับภาวะเสี่ยงการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค 2.แผนปฏิบัติการรองรับสถานพยาบาลเสี่ยงขาดแคลนน้ำ 3.แผนปฏิบัติการจัดหาแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่การเกษตร (ไม้ผล-ไม้ยืนต้น)  4.แผนปฏิบัติการจัดสรรน้ำแหล่งน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง และ 5.แผนปฏิบัติการเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือช่วยเหลือภัยแล้ง 

 

 

เปิดแผน สทนช.ปฏิรูปน้ำประเทศ20ปี 

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์

 


          “เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนในปีนี้มีอยู่อย่างจำกัด จึงจำเป็นจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานของภาครัฐในการจัดสรรน้ำให้เป็นไปตามแผน ปรับแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และปฏิบัติตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด รวมไปถึงภาคประชาชนในการช่วยกันประหยัดน้ำ และคอยติดตามข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานเพื่อนำไปปฏิบัติ" เลขาธิการสทนช.กล่าวย้ำ


          อย่างไรก็ตามที่ประชุมได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานเร่งจัดทำแผนปฏิบัติการรับรองภาวะเสี่ยงภัยแล้ง รวมทั้งงบประมาณที่จะขอรับการสนับสนุนงบกลาง โดยเน้นเป็นแผนระยะสั้นสามารถดําเนินการเพื่อแกไขปญหาพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำใหแลวเสร็จในฤดูแล้งนี้เพื่อสรุปเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.)ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป


          ส่องแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี(พ.ศ.2561 - 2580)
          สำหรับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580)  ประกอบด้วย 6 ด้านหลัก ได้แก่ 1.การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค 2.การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต 3.การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย 4.การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ 5.การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน และ 6.การบริหารจัดการ ทั้งนี้ เพื่อใช้เป็นกรอบและแนวทางในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาทรัพยากรน้ำของประเทศ เปรียบเสมือนแผนที่นำทางให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติภารกิจหน้าที่ได้อย่างสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

 

 

เปิดแผน สทนช.ปฏิรูปน้ำประเทศ20ปี 

 


          อย่างไรก็ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปีนั้น เป็นส่วนหนึ่งของ 3 เสาหลักในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ซึ่งประกอบด้วย เสาแรก คือ กฎหมาย ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2562 เสาที่สอง แผนแม่บท ซึ่งครม.ได้ผ่านความเห็นชอบแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำดังกล่าว และเสาที่สาม หน่วยงานหลักในการบริหารจัดการน้ำที่มีเอกภาพ ซึ่งหัวหน้าคสช.ได้มีคำสั่งที่ 46/2560 จัดตั้งสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)ขึ้นมา ให้เป็นหน่วยงานหลักด้านนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ เพื่อลดความซ้ำซ้อนของหน่วยงานด้านน้ำที่มีอยู่กว่า 40 หน่วยงานใน 7 กระทรวง 


          ซึ่งขณะนี้ได้มีการปรับปรุงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศเพิ่มเสาหลักที่ี่สี่ คือ การพัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะขับเคลื่อนแผนแม่บทให้ไปสู่เป้าหมายตามวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้ คือ “ทุกหมู่บ้านมีน้ำสะอาดอุปโภค บริโภค น้ำเพื่อการผลิตมั่นคง ความเสียหายจากอุทกภัยลดลง คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน บริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ภายใต้การพัฒนาอย่างสมดุล โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน"


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ