คอลัมนิสต์

หยุดตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หยุดตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ บทบรรณาธิการ นสพ.คมชัดลึก ฉบับวันจันทร์ที่ 30 ธันวาคม 2562

 

 

          การประชุมร่วม 4 หน่วยงานหลักด้านเศรษฐกิจของประเทศ ได้แก่ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) และสำนักงบประมาณ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาโดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีการอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ไว้ที่ 3.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณรายจ่ายปี 2563 จำนวน 1 แสนล้านบาท โดยมีงบประมาณเพื่อการลงทุนจะอยู่ที่ 6.93 แสนล้านบาท หรือ 21% ของงบประมาณรายจ่ายทั้งหมด ทั้งนี้ยังประมาณการรายได้สุทธิที่ 2.77 ล้านล้านบาท และกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 5.23 แสนล้านบาท ซึ่งการประมาณการงบประมาณรายจ่ายและรายได้ดังกล่าว อยู่ภายใต้สมมติฐานการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ 3.1-.4.1% และอัตราเงินเฟ้อ 0.7-1.7%

 

 

          กรอบวงเงินดังกล่าวจะถูกนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติในวันที่ 7 มกราคม 2563 จากนั้นสำนักงบประมาณและหน่วยรับงบประมาณต้องนำไปเป็นรายละเอียดและจัดทำเป็นร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ต่อไป โดยนายกรัฐมนตรีบอกว่าการจัดทำงบประมาณปี 64 ต้องควบคู่กับการพิจารณา พ.ร.บ.งบปี 63 ที่ยังไม่เรียบร้อย แต่ได้ใช้งบปี 63 ส่วนหนึ่งไปพลางก่อนตามกฎหมายที่ใช้ได้คาดต้นเดือนกุมภาพันธ์การพิจารณาแล้วเสร็จ ซึ่งคำขอจัดทำงบปี 64 ที่ไม่สอดคล้องกับแผนจะไม่ได้รับการพิจารณาสนับสนุนหรือถือว่ามีความสำคัญระดับต่ำ โดยสิ่งที่ต้องทบทวนกันวันนี้เนื่องจากเรากำลังเผชิญสิ่งท้าทายของโลก ทั้งสภาพเศรษฐกิจ สงครามการค้า ความตึงเครียดทางการเมือง ทั้งในและต่างประเทศ สภาพเศรษฐกิจฝืดเคือง กระทบไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


          เป็นที่รับทราบกันดีว่าสถานะรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ส่งผลในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 63 เกิดความล่าช้า ดังนั้นรัฐบาลจึงเร่งจัดทำงบในปีถัดไปตั้งแต่หัวปีเพื่อให้สอดรับกับยุทธศาตร์ชาติ 20 ปีที่ได้จัดวางไว้แล้ว เนื่องด้วยการลงทุนของภาครัฐเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งหลายฝ่ายรวมทั้งรัฐบาลเชื่อว่าจีดีพีไตรมาส 3 จะดีขึ้น ส่งต่อไปยังไตรมาส 4 รวมถึงไตรมาส 1 ปีหน้าอย่างแน่นอน ดังนั้นการใช้จ่ายงบปี 63 ต้องเร่งดำเนินการโครงการต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการตรวจสอบอย่างมีหลักฐานถูกต้องตามกฎหมาย คำนึงถึงผลประโยชน์ประเทศชาติเป็นสำคัญ ซึ่งงบประมาณขาดดุลนี้ถือเป็นธรรมดาของประเทศที่ยังมีรายได้ไม่มากนัก ประเทศไทยเองก็อยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาประเทศเพราะมีงบที่ต้องลงทุนจำนวนมากเพื่อสร้างโอกาสให้ประชาชนด้วย

 



          ขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของรายได้เกษตรกรขยายตัวกลับมาเป็นบวกแล้ว หลังจากติดลบมานาน แสดงว่าเศรษฐกิจฐานรากเริ่มกลับมาดีขึ้นเล็กน้อย พร้อมกับความหวังว่า ปี 2563 น่าจะเป็นปีของการกลับมาลงทุนของภาครัฐและเอกชนเพิ่มขึ้น แม้สถานการณ์หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ยังไม่คลี่คลาย สถาบันการเงินยังเข้มงวดการปล่อยสินเชื่ออยู่ก็ตาม แต่ในปี 2563 ยังมีความเสี่ยง โดยยังต้องระมัดระวังความเสี่ยงจากภัยแล้งที่จะมีผลทั้งต่อภาคการผลิตและภาคการท่องเที่ยวบริการ ความเสี่ยงจากการผ่านกฎหมายฮ่องกงของรัฐสภาสหรัฐ ดังนั้นทุกฝ่ายต้องปรับตัวเพื่อช่วยกันแก้ไข จะทำงบโครงการอย่างเดียวเพื่อให้ใช้จ่ายเงินให้หมดลงไป แล้วไม่สัมฤทธิ์ผล เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ทุกคนต้องมีสำนึกการใช้จ่าย และการจัดทำแผนงบจะต้องสะท้อนความต้องการของประชาชนในพื้นที่และสอดคล้องการพัฒนาตามนโยบายของรัฐบาลด้วย

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ