คอลัมนิสต์

หางกระรอก กัญชาสายพันธุ์ไทย จากพืชเสพติดสู่ยารักษาโรค

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หางกระรอก กัญชาสายพันธุ์ไทย จากพืชเสพติดสู่ยารักษาโรค ในภาวะไร้ข้อพิสูจน์มะเร็งหายจริงหรือบำบัดใจ

       ลูกชายที่มาขอรับยากัญชาไปให้แม่ที่ป่วยด้วยโรคไตระยะสุดท้ายและเป็นผู้ป่วยติดเตียงที่มีแผลกดทับ  คุณยายที่ป่วยด้วยโรคมะเร็ง ชายที่ป่วยด้วยโรคพาคินสัน หรือผู้ป่วยที่ต้องเจ็บปวดจากอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ตะเวนรักษาด้วยการฉีดสเตอรอยมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน  

      ทั้งหมดนี้คือกลุ่มผู้ป่วยผ่านการรักษาในระบบแพทย์แผนปัจจุบันมาแล้วแต่อาการไม่ดีขึ้น บางรายยอมรับเคยซื้อยากัญชาจากตลาดมืดมาใช้เอง วันนี้พวกเขา จึงตัดสินใจเข้ารักษาในระบบแพทย์ทางเลือก ทดสอบการใช้ยาที่มีส่วนผสมจากกัญชา เมื่ออาการดีขึ้นจึงไม่แปลกที่พวกเขาจะเชื่อแบบหมดใจ และเลือกที่จะรักษาต่อเนื่อง     

        ประสาน ทองยืน วัย 55 ปี เป็นผู้ป่วยใหม่ที่เดินทางมาพร้อมสามี จากบ้านใน อ.นาแก จ.นครพนม มายังโรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น อจาโร จ.สกลนคร เพื่อทำทะเบียนประวัติผู้ป่วยกับ “คลินิกหางกระรอก” ขอทดสอบใช้น้ำมันกัญชาบำบัดอาการข้างเคียงจากมะเร็งเต้านมระยะสุดท้าย ก่อนหน้านี้ เธอเคยเข้ารักษาโรคมะเร็งเต้านมที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดรักษาต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2559 หมอติดตามอาการทุก 3 เดือน ทำเคมีบำบัดหรือคีโมมาแล้วถึง 6 ครั้ง และทุกครั้งจะมีอาการอ่อนเพลีย อาเจียน ไม่มีแรง เจ็บปวดทรมาน  

หางกระรอก กัญชาสายพันธุ์ไทย จากพืชเสพติดสู่ยารักษาโรค

       กระทั่งเมื่อต้นปี 2562 ผลซีทีสแกนพบว่า มะเร็งได้ลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง ปอด ตับ และกระดูกแล้ว เธอจึงถามหมอตรงๆว่า ยังมีโอกาสไหม ซึ่งหมอแนะนำให้รักษาแบบประคับประคองอาการ เธอจึงบอกกับครอบครัวว่าจะไม่ทำเคมีบำบัดอีกแล้ว แต่จะขอใช้น้ำมันกัญชาเพื่อยืดระยะเวลาออกไป หากบุญยังมี “กัญชา” คงทำให้หายเจ็บปวด   ชีวิตยังมีความหวัง แม้ลึกๆจะรู้ว่าทำได้แค่เพียงยื้อเวลาให้ได้อยู่กับคนที่รักให้นานที่สุดเท่านั้น

หางกระรอก กัญชาสายพันธุ์ไทย จากพืชเสพติดสู่ยารักษาโรค

        พ.ญ.กัญญาภัค  ศิลารักษ์ ผอ.โรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้นฯ เปิดคลินิกหางกระรอก ให้ทีมงานป.ป.ส. เข้าศึกษาดูงานระบบการคัดกรอง การตรวจรักษา การจ่ายยาของคลินิกหางกระรอก และกระบวนการผลิตยาตลอดจนการเก็บรักษายาเข้ากัญชา 16 ตำรับ ของรพ.พระอาจารย์ฝั้นฯ ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ป่วย 388 คน ลงทะเบียนขอรับการรักษา แต่ผ่านการคัดกรอง 120 คน จากการประเมินผลอาการดีขึ้น 116 คน ส่วนอีก 4 รายมีอาการข้างเคียงจึงขอหยุดการรักษา ในจำนวนนี้เป็น ผู้ป่วยมะเร็ง 20 ราย ทั้งมะเร็งเต้านม มะเร็งโพรงจมูก มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และมีผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย  5 ราย ตั้งแต่เปิดคลินิกจ่ายยา ยังไม่มีผู้ป่วยมะเร็งเสียชีวิต 

หางกระรอก กัญชาสายพันธุ์ไทย จากพืชเสพติดสู่ยารักษาโรค

       “ที่ผ่านมาแพทย์ไม่เคยยืนยันกับผู้ป่วยว่า ยากัญชาใช้รักษาโรคมะเร็ง จึงไม่เคยตรวจวัดค่าเลือดเพื่อหาค่ามะเร็ง เพราะข้อบ่งใช้ยากัญชาตามหลักสากลจะใช้รักษาใน 4 กลุ่มโรคเท่านั้น 1 .ใช้บรรเทาอาการข้างเคียงจากการทำคีโมบำบัด  2. โรคลมชักในเด็ก 3. ปวดระบบประสาท  และ 4 .โรคชักเกร็ง  ทั้งนี้จากการติดตามผลพบว่า ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้มากขึ้น นอนหลับ และน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งการกินได้-นอนหลับ เป็นกลไกสำคัญในการซ่อมแซมร่างกาย ที่สำคัญเรายังไม่พบว่ามีคนไข้ มีอาการติดยาจากการใช้กัญชา เพราะยังไม่มีผู้ป่วยรายใดขอเพิ่มปริมาณการใช้ยา เช่น น้ำมันกัญชา 1 ขวด จะใช้หยดในเวลา 30 วัน และยังไม่มีผู้ป่วยมาขอยาเพิ่มหรือมาพบแพทย์เร็วกว่ากำหนดเพราะยาหมด ทั้งนี้การจ่ายยากัญชาให้ผู้ป่วยของคลินิกหางกระรอกมีกฎระเบียบชัดเจนว่า ผู้ป่วยจะต้องมารับยาด้วยตนเองทุกครั้ง ยกเว้นรายที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง  โดยช่วงแรกจะนัดสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และขยายเป็น 2 สัปดาห์ แต่จะไม่จ่ายยาเกิน 1 เดือน เพราะผู้ป่วยอาจมีอาการข้างเคียง ความดันตกหรือน้ำตาลตก ”พ.ญ.กัญญาภัคกล่าว

หางกระรอก กัญชาสายพันธุ์ไทย จากพืชเสพติดสู่ยารักษาโรค

       สำหรับการรักษาด้วยยากัญชา เป็นการผสมผสานระหว่างศาสตร์แพทย์แผนโบราณกับวิทยาการสมัยใหม่ เริ่มตั้งแต่การเลือกพื้นที่ปลูกกัญชาออแกนิกเพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบ ก็ต้องเป็นโซน  “หนองหาญล่ม” ปัจจุบันอยู่ในสกลนครและนครพนม ซึ่งตามคัมภีร์ยาโบราณในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และในสมัยรัชกาลที่ 5 แพทย์ที่ปรุงยารักษาโรคที่มีส่วนผสมของกัญชา จะต้องเดินทางมาเก็บกัญชาจากพื้นที่นี้  เพราะเชื่อกันว่า “กัญชาพูพาน” ที่มีสรรพคุณเฉพาะ นำไปเข้าตำรับยาโบราณ และรักษาโรคได้ผลดี

หางกระรอก กัญชาสายพันธุ์ไทย จากพืชเสพติดสู่ยารักษาโรค

        ส่วนชื่อคลินิกหางกระรอก ไม่ได้ตั้งขึ้นเอง  แต่มาจากสายพันธุ์กัญชาพื้นถิ่นสกลนคร “พันธุ์หางกระรอกและพันธุ์หางเสือ”

      ส่วนขั้นตอนการตัดเก็บช่อดอกและใบกัญชาก็ต้องทำก่อนรุ่งสาง (ตั้งแต่ตีสามห้ามเกินหกโมงเช้า) เพราะเป็นช่วงเวลาที่กัญชาให้ตัวยามากที่สุด ใบที่เลือกเก็บต้องเป็นใบเพสลาด หรือใบกลางๆไม่อ่อนไม่แก่จนเกินไป

หางกระรอก กัญชาสายพันธุ์ไทย จากพืชเสพติดสู่ยารักษาโรค

       ในขั้นตอนการผลิตยากัญชา ก็ยึดวิธีการในตำรับยาโบราณทุกขั้นตอน เช่น  การสะตุ หรือคั่วกัญชาด้วยมือ ลักษณะคล้ายการคั่วใบชาในกระทะ ซึ่งผู้คั่วต้องใช้มือพลิกกัญชา ด้วยระดับความร้อนที่กำลังพอดี นำมาอบแห้ง บด และในขั้นตอนการปรุงยา ผู้ปรุงต้องสวดมนต์บท “สัพพีติโย 3 จบ”  สำหรับผู้ป่วยโดยเฉพาะตำรับยายาศุขไสยาศน์ ใน ใบกำกับการใช้ยาจะมีคำแนะนำว่า ก่อนกินยาทุกครั้งผู้ป่วยต้องสวดมนต์ บท  “สัพพีติโย 3 จบ” เช่นกัน 

หางกระรอก กัญชาสายพันธุ์ไทย จากพืชเสพติดสู่ยารักษาโรค
        นายโฆษิต ศรีภูธร รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มรท.) อีสาน วิทยาเขตสกลนคร ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ มรท.อีสานมีแปลงทดลองปลูกกัญชาสายพันธุ์หางเสือและหางกระรอก ซึ่งเป็นพันธุ์พื้นถิ่นดั้งเดิม  โดยได้รับอนุญาตให้ปลูกแปลงใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จำนวน 500 กระถาง กระถางละ 3 ต้น คัดให้เหลือเฉพาะกัญชาตัวเมียเพียง 500 ต้น  แต่ละต้นให้ผลผลิตน้ำหนัก 1-1.5 กิโลกรัม และจะพัฒนาให้ได้ผลผลิตต้นละ 2 กิโลกรัม ส่งผลผลิตประเภทใบและดอกให้กับโรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น ล็อตแรกจำนวน 400 กิโลกรัม  ส่วนรากและแกนนำลำต้น ยังเก็บรักษาไว้เผื่อนำไปเข้าตำรับยาอื่นๆต่อไป

หางกระรอก กัญชาสายพันธุ์ไทย จากพืชเสพติดสู่ยารักษาโรค
    “หากเราปลูกต้นกัญชาที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะสายพันธุ์กัญชาหางกระรอกและพันธุ์หางเสือนั้น มีคุณภาพสูงกว่ากัญชาสายพันธุ์ลูกผสมที่นำเข้าจากต่างประเทศ แล้วนำกัญชาออแกนิกไปปรุงร่วมกับสมุนไพรออแกนิก จะเป็นสะพานเชื่อมในการผลิตตำรับยาเพื่อใช้ทางการแพทย์จำนวนมาก และเมื่อเรามียาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาก็จะลดการใช้ยาแผนปัจจุบันลงได้  โดยเป้าหมายระยะไกล คือการขยายพื้นที่ปลูกและการผลิตยาไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขสภาพตำบล (รพ.สต.) ให้ปลูกกัญชาร่วมกับวิสาหกิจชุมชน  โดยใช้จำนวนผู้ป่วยเป็นตัวตั้ง”นายโฆษิต กล่าว

หางกระรอก กัญชาสายพันธุ์ไทย จากพืชเสพติดสู่ยารักษาโรค

      ด้าน นิยม เติมศรีสุข เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ( ป.ป.ส.) มีข้อแนะนำให้สร้างมาตรฐานความปลอดภัยในการปรุงยา ไม่ควรวัดสัดส่วนกัญชาในตำรับด้วยปริมาณทางด้านน้ำหนัก  เพราะกัญชาแต่ละล็อตมีค่า THC และ CBD ไม่เท่ากัน จึงควรพัฒนาสายพันธุ์กัญชาให้มีผลผลิตที่มีค่า THC และ CBD คงที่ รวมถึงวิจัยต่อยอดให้กัญชาเป็นหมัน  ทำกัญชาให้เป็นปลาทับทิม  ป้องกันไม่ให้เมล็ดกัญชาถูกลักลอบไปขยายพันธุ์ปลูกเอง เพื่อไม่ให้กัญชาทางการแพทย์กลายเป็นหายนะทางยาเสพติดที่ควบคุมไม่ได้  

หางกระรอก กัญชาสายพันธุ์ไทย จากพืชเสพติดสู่ยารักษาโรค

       สำหรับคลินิกหางกระรอก ซึ่งตั้งอยู่ภายในรพ.พระอาจาร์ฝั้น ตรวจรักษาทุกวันอังคารของสัปดาห์  8 โมงเช้าถึง4 โมงเย็น ให้บริการผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้น้ำมันกัญชา และยากัญชา 16 ตำรับ  ซึ่งขณะนี้ทางโรงพยาบาลสามารถผลิตได้แล้ว 7 ตำรับยาประกอบด้วย ยาศุขไสยาศน์, ทำลายพระสุเมรุ, ยาแก้ลมแก้เส้น, ยาทาริดสีดวงและโรคผิวหนัง, ยาไฟอาวุธ ,อัมฤตย์โอสถ, อไภยสาลี

หางกระรอก กัญชาสายพันธุ์ไทย จากพืชเสพติดสู่ยารักษาโรค

       นอกจากนี้ยังมีน้ำมันกัญชา สูตรของ นายเดชา สิริภัทร ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนเป็นสูตรแพทย์พื้นบ้าน และน้ำมันกัญชาสูตรจีพีโอ ขององค์กรเภสัชกรรม โดยคลินิกฯจะจำหน่ายยาให้เฉพาะผู้ป่วยที่แพทย์วินิจฉัยแล้วว่าสมควรที่จะได้ รับยากัญชาเพื่อรักษาโรคตามอาการป่วยเท่านั้น

      ปิดท้ายด้วยคำแนะนำถึงผู้ป่วยที่ต้องการใช้ยากัญชา ควรเข้ารับการคัดกรองตรวจโรค ไม่ควรซื้อยากัญชาจากตลาดมืดมาใช้เอง เพราะกัญชาที่เก็บรักษาไม่ดีมักจะขึ้นราง่าย นอกจากนี้กัญชาเป็นพืชที่ดูดซับโลหะหนักในดินได้ดี จึงมีโอกาสปนเปื้อน สารตะกั่วและแคดเมียม ทุกครั้งที่หยดน้ำมันกัญชาในตลาดมืดเพื่อการรักษาอาจเป็นการหยดเชื้อรา ตะกั่ว และแคดเมียมเข้าสู่ร่างกาย  

     ที่สำคัญ ตำรับกัญชามีทั้งหมด 3 สูตร โดยสูตรแรกค่า THC เด่น สูตร 2 ค่าCBD เด่น และสูตรสุดท้ายค่า THC จะเท่ากับ CBD เพื่อนำไปใช้รักษาโรคตามสรรพคุณทางตัวยา

     แต่กัญชาจากตลาดมืด ไม่มีสูตรเป็นการผสมมั่ว 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ