คอลัมนิสต์

สังคมยอมรับในเพศที่ 3 แต่ต้องมีกาลเทศะในพฤติกรรม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สังคมยอมรับในเพศที่ 3 แต่ต้องมีกาลเทศะในพฤติกรรม บทความพิเศษ  โดย ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์

 

 


          เมือเดือนสิงหาคม 2563 นิด้าโพลได้ทำการสำรวจเรื่อง “สังคมไทยคิดอย่างไรกับเพศที่ 3” โดยผลการสำรวจเกี่ยวกับการยอมรับของประชาชนกรณีมีเพื่อนหรือเพื่อนร่วมงานในองค์กรเป็นเพศที่ 3 พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 90.15 ระบุว่า ยอมรับได้ ในขณะที่ร้อยละ 7.78 ระบุว่าไม่สามารถยอมรับได้

 

 

          ในประเด็นคำถามเกี่ยวกับการยอมรับของประชาชนกรณีมีสมาชิกหรือคนในครอบครัวเป็นเพศที่ 3 พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 86.81 ระบุว่า ยอมรับได้ รองลงมา ร้อยละ 11.44 ระบุว่า ไม่สามารถยอมรับได้


          สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อการอนุญาตให้เพศที่ 3 สามารถเปลี่ยนคำนำหน้านามได้ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 54.49 ระบุว่า เห็นด้วย ขณะที่ ร้อยละ 36.53 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย ซึ่งในจำนวนของผู้ที่ระบุว่าเห็นด้วยนั้น ร้อยละ 56.56 ระบุว่า ควรอนุญาตให้เพศที่ 3 กลุ่มที่แปลงเพศแล้ว ขณะที่ ร้อยละ 43.44 ระบุว่า ควรอนุญาตให้เพศที่ 3 ทุกกลุ่มสามารถเปลี่ยนคำนำหน้านามได้


          ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการเพิ่มเพศที่ 3 หรือเพศทางเลือกในการกรอกข้อมูลเอกสารราชการทุกชนิด พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 65.69 ระบุว่า เห็นด้วย รองลงมา ร้อยละ 26.92 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย


          เมื่อเปรียบเทียบผลการสำรวจ ปี 2558 กับผลสำรวจปี 2562 พบว่า ผู้ที่มีทัศนคติที่ดีต่อเพศที่ 3 มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในทุกคำถาม


          จากผลโพลล์เมื่อเดือนสิงหาคม 2562 ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า คนไทยส่วนใหญ่ยอมรับเพศที่ 3 หรือกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) ไม่ว่าจะในกรณีใดก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เมื่อให้การยอมรับแล้ว กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ จะทำอะไร อย่างไร ที่ไหนก็ได้


          เมื่อสังคมให้การยอมรับมากขึ้น ผู้ที่เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ ก็ควรพยายามรักษาเกียรติยศและศักดิ์ศรีของความเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ ด้วยการแสดงออกอย่างเหมาะสม และมีกาลเทศะ คือรู้จักว่าเวลาหรือสถานที่ใดที่ควรทำหรือไม่ควรทำสิ่งใด เพื่อรักษามารยาททางสังคม




          แต่ไม่ใช่ “ได้คืบจะเอาศอก” อย่างพฤติกรรมที่แสดงออกในรัฐสภาเมื่ออาทิตย์ที่แล้วด้วยการนำผู้มีความหลากหลายทางเพศมาจูบกันต่อหน้าสื่อกลางรัฐสภา การกระทำเช่นนี้อาจจะทำให้กระแสการยอมรับในความหลากหลายทางเพศ เกิดการสั่นสะเทือนหรือเกิดการตีกลับไปในทางต่อต้านมากขึ้นก็ได้ เพราะเป็นพฤติกรรมที่ไม่รู้จักกาลเทศะ


          การเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมกันสามารถทำได้และเป็นสิ่งที่สมควรกระทำ แต่ผู้เรียกร้องควรมีขอบเขตของการแสดงออกไม่ว่าจะเป็นการแสดงในเชิงให้เห็นถึงความจริงทางสังคมหรือการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ก็ตาม อย่าลืมว่าสังคมไทยยังคงมีจารีตประเพณีและวัฒนธรรมที่ดีงามที่ต้องรักษาไว้ และคนในสังคมคงไม่ยอมให้พวกเสรีนิยมสุดโต่งเข้ามาทำลายจารีตประเพณีและวัฒนธรรมที่ดีงามของสังคม


          ส่วน นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ที่มีภาพและเสียงแสดงอย่างชัดเจนว่าเป็นผู้ยืนกำกับและนับถอยหลังให้ชายทั้งสองคนจูบปาก ก็ควรมีสำนึกรับผิดชอบ (ขอยืมมีดโกนอาบน้ำผึ้งของ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา มาใช้หน่อย)


          นายธัญวัจน์ ควรออกมาแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากการเป็น คณะกรรมาธิการคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรืออย่างน้อยที่สุดนายธัญวัจน์เองหรือผู้บริหารพรรคอนาคตใหม่ควรอออกมาขอโทษต่อสังคมในสิ่งที่เกิดขึ้น


          ในทางตรงกันข้าม ผู้บริหารพรรคอนาคตใหม่ที่เป็นแกนหลัก เช่น นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค และ ช่อ พรรณิการ์ วานิช กลับเงียบหายในประเด็นนี้


          มีแต่ พล.ท.พงศกร รอดชมภู รองหัวหน้าพรรค ออกมาแสดงความคิดเห็นแบบจืดๆ เพื่อปกป้องลูกพรรคโดยบอกว่า “ไม่ได้ทำให้พรรคเสียหาย แต่อาจจะมีพูดคุยกันบ้าง สิ่งที่นายธัญวัจน์ทำ เขาได้รับกระแสตีกลับจากสังคมไปแล้ว เขาต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่ทำลงไปด้วยตัวเอง เรื่องนี้เป็นบทเรียนที่จะทำอะไรคราวหน้าคราวหลังต้องคิดให้รอบคอบ”


          อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าในความเป็นจริง พฤติกรรมและวาจาของนายธัญวัจน์นั้นแสดงออกถึงการไม่ใส่ใจว่าสังคมจะว่าอย่างไร ขอให้ตนเองได้สิ่งที่ต้องการก็พอ


          นายธัญวัจน์ตั้งประเด็นว่า การจูบ (ระหว่างชายกับชาย) เหมาะสมหรือไม่ กาลเวลาที่ผ่านไปก็คงเป็นคำตอบ


          ขอบอกเลยโดยไม่ต้องรอให้เวลามาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า การจูบกันของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ในสังคม แต่กาลเทศะของการกระทำต่างหากที่สังคมยอมรับไม่ได้


          นอกจากจะไม่มีสำนึกในความรับผิดชอบ นายธัญวัจน์ได้แสดงความคิดเห็นแบบคนเอาแต่ได้และโยนความผิดให้ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นนี้ ด้วยการกล่าวหาสังคมว่า ติดกับดักทางความคิด และกับดักความยินดี ทำให้เสียโอกาสยินดีกับร่างสมรสเท่าเทียมที่จะถูกนำไปพิจารณาในกรรมาธิการฯ


          แน่นอนสังคมไทยน่าต้องยินดีกับข้อเรียกร้องการสมรสที่เท่าเทียมที่กำลังจะได้รับการพิจารณา แต่ก็คงต้องแสดงความเสียใจกับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศที่มีตัวแทนในสภาผู้แทนราษฎรที่ไร้จิตสำนึกในการกระทำและขาดความรับผิดชอบ ดังเช่นนายธัญวัจน์


          ในโพสต์ของนายธัญวัจน์ ยังบอกว่า “สำหรับฉัน 54321 แอ็กชั่น ฉันจะบรรจุการสมรสเท่าเทียมเข้าสู่การประชุมเร็วที่สุด” การพูดเช่นนี้คือการสนใจแต่ผลประโยชน์ตนเอง โดยไม่สนว่าสังคมจะเดือดร้อนเพียงใดต่อการกระทำของตนเอง


          ไม่รู้ว่าคนประเภทนี้พรรคอนาคตใหม่เลือกเข้ามาได้อย่างไร


          เราคงจะไม่สามารถฝากอนาคตของประเทศไว้กับพรรคการเมือง ผู้บริหารพรรคการเมือง และนักการเมืองที่มีพฤติกรรมและทัศนคติเช่นที่กล่าวมาข้างต้นได้ เพราะคนเหล่านี้จะสนใจแต่สิ่งที่ตนเองและพวกพ้องต้องการโดยไม่สนใจว่าสังคมจะเสียหายเพียงใด ไม่สนใจว่าคนในสังคมจะคิดและต้องการอย่างไร


          หากพวกนี้ได้บริหารประเทศแล้วเกิดความผิดพลาด ก็ไม่รู้ว่าเสนอหน้าแสดงความรับผิดชอบใดๆ บ้างหรือเปล่า


          ในอีกมุมหนึ่งพวกเขาอาจจะออกมาแสดงออกด้วยการโยนบาปใส่ผู้อื่นแทน (งานถนัดละมั้ง)


          ...รำไม่ดี โทษปี่โทษกลอง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ