คอลัมนิสต์

'รัฐบุรุษเปรม ติณสูลานนท์' เกิดมาแทนคุณแผ่นดิน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ประมวลข่าวเด่นรอบปี 2562 ...."รัฐบุรุษเปรม ติณสูลานนท์" เกิดมาแทนคุณแผ่นดิน... โดย หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

 

 

               วันอาทิตย์ที่ 26 พฤษภาคม 2562 เวลา 9 นาฬิกา 9 นาที นับเป็นอีกหนึ่งวันที่คนไทยทั้งประเทศต้องเผชิญหน้ากับความสูญเสีย เนื่องมาจากการถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบ ของ “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” หรือที่หลายคนเรียนท่านว่า “ป๋าเปรม” อดีตนายกรัฐมนตรี 3 สมัย ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ 2 แผ่นดิน สิริอายุ 99 ปี

                  

 อ่านข่าว อาลัย 'รัฐบุรุษ' คู่แผ่นดิน 'พล.อ.เปรม' ถึงแก่อสัญกรรม

              : อำลา 'ป๋า' คืนสุดท้าย!!    

                              

 

               เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ในช่วงที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ท่านได้อุทิศกาย ใจ เพื่อสถาบันกษัตริย์ ชาติ และประชาชน อย่างสุดความสามารถ จนเป็นที่เคารพรักของผู้ใต้บังคับบัญชาและบุคคลทั่วไปอย่างมาก และเมื่อวาระสุดท้ายของชีวิตท่านมาถึง จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับศพไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์โดยตลอด ณ พระที่นั่งทรงธรรม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

 

               ซึ่งต่อมา เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พร้อมด้วย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จพระราชดำเนินไปยังเมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส ในการพระราชทานเพลิงศพ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ

 

               ทั้งนี้ ในงานพระราชทานเพลิงศพ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรม โดย นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม จัดพิมพ์หนังสือที่ระลึก “จารึกไว้ในแผ่นดิน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” จำนวน 5,000 เล่ม เพื่อเป็นที่ระลึก เป็นเกียรติประวัติ และเผยแพร่เกียรติคุณ สำหรับแจกในงานพระราชทานเพลิงศพ เชิดชูบุรุษ 5 แผ่นดิน นายกรัฐมนตรี 3 สมัย และรัฐบุรุษ 2 รัชกาล เป็นผู้มีคุณูปการอย่างยิ่งต่อชาติ บ้านเมือง และเป็นแบบอย่างของความรักชาติ รักแผ่นดิน การประกอบคุณงามความดีเป็นที่ประจักษ์ทั้งสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ รวมทั้งด้านการส่งเสริม สนับสนุน ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของชาติ โดยหนังสือที่ระลึกดังกล่าว มีเนื้อหาประกอบด้วย ภูมิหลัง ชีวประวัติและการศึกษา เส้นทางแห่งเกียรติยศ อาทิ การรับราชการทหาร, การก้าวสู่ตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี”, กว่าจะมาเป็น “รัฐบุรุษ” และ “ประธานองคมนตรี” รวมทั้งเกียรติยศอันสูงสุด และเกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน

 

 

'รัฐบุรุษเปรม ติณสูลานนท์'  เกิดมาแทนคุณแผ่นดิน

               ขณะเดียวกัน ยังรวบรวมอนุสรณ์แห่งคุณงามความดีตามสถานที่ต่างๆ ที่หน่วยงาน ประชาชน รวมพลัง ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงคุณงามความดี ตลอดจนปาฐกถาพิเศษกว่า 59 เรื่อง ที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้บรรยายในโอกาสต่างๆ ซึ่งล้วนมีคุณค่าและมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษาเรียนรู้และนำไปปรับใช้ ถือเป็นภาพสะท้านคุณูปการอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นการสร้างแรงบันดาลใจในการส่งต่อความดีงามและสืบสานต่อยอดแนวความคิด โดยกระทรวงได้จัดทำบัตรรับหนังสือมอบแก่ผู้เข้าร่วมงานพระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2562 ณ วัดเทพศิรินทราวาส นอกจากนี้ยังแจกจ่ายให้แก่ห้องสมุดสถานศึกษา และส่วนราชการ เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนได้ใช้ประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าและอ้างอิง


             

 

 

               สำหรับประวัติของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เกิดเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2463 ที่ ต.บ่อยาง อ.เมือง จ.สงขลา เป็นบุตรของรองอำมาตย์โทหลวงวินิจทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์) และนางวินิจทัณฑกรรม (ออด ติณสูลานนท์) เป็นบุตรคนที่ 6 ในจำนวนพี่น้อง 8 คน ชื่อ “เปรม” นั้น พระรัตนธัชมุนี (แบน คณฺฐาภรโณ) เป็นผู้ตั้งให้ ส่วนนามสกุล “ติณสูลานนท์” พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2462

 

               ด้าน “การศึกษา” ของ พล.อ.เปรม เข้ารับการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เมื่อปี 2469 ที่โรงเรียนมหาวชิราวุธ จ.สงขลา หมายเลขประจำตัว 167 สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เมื่อปี 2478 เข้าศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 7–8 แผนกวิทยาศาสตร์ ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย หมายเลขประจำตัว 7587 ผ่านการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ณ โรงเรียนเท็ฆนิคทหารบก (ปัจจุบัน คือ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า) เมื่อปี 2481 โดยเข้ารับการศึกษาเป็นรุ่นที่ 5 มีเพื่อนร่วมรุ่น 55 นาย สำเร็จการศึกษาเมื่อปี 2484 ใช้เวลาเพียง 3 ปี ไม่ครบ 5 ปี ตามหลักสูตร 

 

               ผลงานทางด้าน “การทหาร” และ “การเมือง” ของ พล.อ.เปรม เริ่มตั้งแต่เข้ารับหน้าที่เป็นผู้บังคับหมวดในสนามรบจริง โดยดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับหมวดประจำกองรถรบ ทำการรบอยู่ที่ปอยเปต ซึ่งขณะนั้นยังมีสภาพเป็นนักเรียนอยู่ (ได้ไปราชการในคราวพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส เนื่องในกรณีเรียกร้องขอดินแดนคืน) หลังจากนั้นถึงได้รับการแต่งตั้งเป็นว่าที่ร้อยตรี หลังจากได้พักประมาณ 6 เดือน ได้รับคำสั่งให้กลับเข้าสู่สนามรบอีกครั้ง ณ สมรภูมิเชียงตุง เมื่อ 2485 ในสงครามเอเชียบูรพา โดยได้รับตำแหน่ง ผู้บังคับหมวดกองหนุนในกองทัพพายัพ อยู่ในสมรภูมินาน 5 ปี และได้รับพระราชทานยศ ร้อยโท, ร้อยเอก ก่อนกลับเข้ารับราชการในหน่วยปกติหลังสงครามยุติ เป็น หัวหน้ากองบังคับการกรมรถรบ

 

               เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 2 ระหว่างปี 2517-2520 ได้ริเริ่มแนวคิดนโยบาย “การเมืองนำการทหาร” ช่วยแก้ปัญหาการคุกคามจากผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ และสามารถดึงมวลชนมาเป็นแนวร่วมได้เป็นจำนวนมาก แนวคิดการเมืองนำการทหารได้เผยแพร่ไปสู่กองทัพภาคอื่นๆ และกลายเป็นความคิดหลักของกองทัพบก กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน และขยายออกไปสู่คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/23 เรื่อง นโยบายต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ วันที่ 23 เมษายน 2523 ซึ่งนำไปสู่การยุติสงครามกลางเมืองลงอย่างเด็ดขาดในปี 2524 เมื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก

 

 

'รัฐบุรุษเปรม ติณสูลานนท์'  เกิดมาแทนคุณแผ่นดิน

 

               สำหรับที่มาของคำว่า “ป๋าเปรม” เกิดขึ้นเมื่อครั้ง พล.อ.เปรม ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้าระหว่างปี 2511-2516 โดยท่านจะเรียกแทนตัวเองว่า “ป๋า’” และเรียกนายทหารผู้ใต้บังคับบัญชาว่า “ลูก” นายทหารผู้ใต้บังคับบัญชาและนายทหารคนสนิทจึงเรียก พล.อ.เปรม ว่า “ป๋าเปรม” จนถึงปัจจุบัน

 

               สำหรับนายทหารคนสนิทของ พล.อ.เปรม หรือที่เรียกว่า “นายทหารลูกป๋า” คนสำคัญ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำและนายทหารคนสนิทของ พล.อ.เปรม มีบทบาทสำคัญในการเป็นฐานอำนาจทางการเมืองและการทหารช่วงที่ พล.อ.เปรม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก ได้แก่ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ, พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์, พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และนายทหารเหล่าทหารม้า ได้แก่ พล.ต.มนูญกฤต รูปขจร, พ.อ.ชูพงศ์ มัทวพันธุ์, พล.อ.อู้ด เบื้องบน และ พล.อ.ไพโรจน์ พานิชสมัย


             

 

 

           พล.อ.เปรม ได้รับการไว้วางใจเข้าดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี คนที่ 16 ของประเทศไทย ถึง 3 สมัย โดยสมัยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2523-2529 เมษายน 2526, สมัยที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2526-4 สิงหาคม 2529 และสมัยที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม 2529-3 สิงหาคม 2531 ตลอดระยะเวลาการบริหารประเทศไทย มีผลงานสำคัญมากมาย เช่น การปรับปรุงประมวลกฎหมายรัษฎากรและกฎหมายสรรพสินค้า เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคม, การสร้างงานตามโครงการสร้างงานในชนบท (กสช.)

 

          การจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐบาล และเอกชน (กรอ.) เพื่อส่งเสริมบทบาททางการค้าและการลงทุนของภาคเอกชนภายในประเทศ, การดำเนินการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยอย่างได้ผล โดยนำนโยบายการใช้ “การเมืองนำการทหาร” ยุติความขัดแย้งทางอุดมการณ์ของคนไทย เปลี่ยนผู้หลงผิดให้มาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย และทำให้นักศึกษาที่เข้าป่าหลายคนเพื่อเข้าร่วมกับคอมมิวนิสต์ ได้ออกมาจากป่า, ประเทศไทยมีการพบก๊าซธรรมชาติในยุคของ พล.อ.เปรม เกิดการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมชายฝั่งตะวันออก ส่งผลให้เศรษฐกิจของไทยเจริญต่อเนื่องหลายปี

 

         การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ รัฐบาลได้มุ่งเน้นการผลิตและส่งออกของประเทศกับประเทศสังคมนิยมตะวันออก มีเงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศมากขึ้น, เข้าร่วมประชุมองค์การสหประชาชาติ ที่สหรัฐอเมริกา และได้กล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุม จนทำให้มุมมองทางด้านการลงทุนของนักลงทุนจากต่างชาติที่มีต่อประเทศไทยดีขึ้น, ได้ตัดสินใจลดค่าเงินบาท 3 ครั้ง เพื่อแก้ไขปัญหาการส่งออกพืชผลทางการเกษตรของไทย การขาดดุลการค้า ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่อง มีการปรับอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ระหว่างเงินบาทกับดอลลาร์ มาเป็นระบบตะกร้าเงิน เพื่อสร้างความยืดหยุ่น, สร้างท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุดและแหลมฉบัง พัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออก เป็นต้น


          

             ทั้งนี้ พล.อ.เปรม ถือเป็นนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวที่ไม่มีภริยา ชื่นชอบการร้องเพลงและเล่นเปียโน รวมถึงการประพันธ์เพลงเป็นงานอดิเรก จนมีผลงานเพลงมากมาย อีกทั้ง ชื่นชอบดูการแข่งขันกีฬาโดยเฉพาะกีฬามวยและฟุตบอล มักเปิดโอกาสให้นักกีฬาเข้าพบเพื่อคารวะและให้กำลังใจก่อนจะเดินทางไปแข่งขันในต่างประเทศอยู่เสมอ อย่างไรก็ตามช่วงเทศกาลสงกรานต์และช่วงวันเกิด “ป๋าเปรม” มักจะเปิดบ้านสี่เสาเทเวศร์ ให้ นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรี ทหาร และผู้บัญชาการเหล่าทัพเข้าอวยพรและขอพรมาอย่างต่อเนื่อง จนถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติทุกปี ซึ่งทุกครั้ง พล.อ.เปรม จะนำข้อคิดคำสอนมาเตือนใจเรื่องการปฏิบัติหน้าที่เสมอ และสิ่งหนึ่งที่ พล.อ.เปรม ย้ำเสมอคือการเรื่อง “การตอบแทนคุณแผ่นดิน”

 

 

'รัฐบุรุษเปรม ติณสูลานนท์'  เกิดมาแทนคุณแผ่นดิน

               ด้วยบุคลิกส่วนตัวของ พล.อ.เปรม เป็นคนพูดน้อย ในขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย จะให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนน้อยมาก จนถูกหนังสือพิมพ์ในขณะนั้นเรียกขานว่า “เตมีย์ใบ้” และได้รับอีกฉายาหนึ่งว่า “นักฆ่าแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา” จากเหตุการณ์กบฏเมษาฮาวาย และ กบฏ 9 กันยา

 

               เมื่อพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.เปรม เป็นองคมนตรี ในวันที่ 23 สิงหาคม 2531 จากนั้นในวันที่ 29 สิงหาคม 2531 ได้รับโปรดเกล้าฯ ยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษ และในวันที่ 4 สิงหาคม 2541 มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นประธานองคมนตรี

 

               ล่าสุดระหว่างวันที่ 13 ตุลาคม-1 ธันวาคม 2559 พล.อ.เปรม ดำรงตำแหน่ง ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงตอบรับขึ้นทรงราชย์ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง) นอกจากนี้ยังเป็นที่ปรึกษาและกรรมการในคณะอำนวยการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และในวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ลงนามในสมุดจดทะเบียนราชาภิเษกสมรส

 

               นอกจากยศ พลเอก แล้ว พล.อ.เปรม ยังถือว่าเป็นหนึ่งในบุคคล ในปัจจุบันที่มิใช่พระบรมวงศานุวงศ์ ที่ได้รับยศ พลเรือเอก ของกองทัพเรือ และ พลอากาศเอก ของกองทัพอากาศ ด้วย จากการพระราชทานโปรดเกล้าฯ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2529 ในระหว่างที่ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่

 

               ในภาคสังคม พล.อ.เปรม มีคุณูปการมากมาย หนึ่งในนั้นคือเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง กองทุนส่งเสริมการศึกษาการสร้างสรรค์ศิลปะ  “มูลนิธิรัฐบุรุษพลเอกเปรมติณสูลานนท์” เสริมความแข็งแกร่งให้วงการศิลปะ คือการสร้างคน ลดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนผ่านการสนับสนุนการศึกษาศิลปะของนักศึกษาเรียนดีแต่ยากจน โดยสนับสนุนการศึกษาศิลปะของนิสิต-นักศึกษามาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปี 2561 มีนิสิต-นักศึกษาได้รับทุนรวมทั้งสิ้น 1,413 คน

-----///------

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ