คอลัมนิสต์

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาล จาก ช้อปช่วยชาติ สู่ชิมช้อปใช้ 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ประมวลข่าวเด่นรอบปี2562 ...มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาล จาก ช้อปช่วยชาติ สู่ชิมช้อปใช้  โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

 

              

              “ชิมช้อปใช้ทำไมต้องมีกระเป๋าหนึ่ง กระเป๋าสอง กระเป๋าหนึ่งเป็นเงินที่รัฐบาลให้เพื่อให้ใช้เงินของตัวเองในกระเป๋าสอง” 


          ความตอนหนึ่งที่ “ดร.อุตตม สาวนายน” รมว.คลัง กล่าวในงานเสวนา “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย 2020” เมื่อวันอังคารที่ 17 ธันวาคม  2562  ที่รอยัลพารากอน ชั้น 5 สยามพารากอน  กรุงเทพมหานคร จัดโดยเครือเนชั่น ถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลภายใต้โครงการชิมช้อปใช้

          อ่านข่าว :  ชิมช้อปใช้เฟส 3 สูงวัยร้องว้าว จำกัด 5 แสนสิทธิ์

 

 

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาล จาก ช้อปช่วยชาติ สู่ชิมช้อปใช้ 

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์

 

          จะเห็นว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ดำเนินการมาต่อเนื่องทุกปีและมาโหมรุกเอาในช่วงปลายปี โดยมุ่งเป้าไปที่เศรษฐกิจระดับฐานรากให้มีการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนมากขึ้นเพื่อให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศหมุนเวียนต่อเนื่อง ช้อปช่วยชาติ เป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแรกๆ ของรัฐบาล ภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มีรองนายกรัฐมนตรี “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” หัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาลเป็นวางกลยุทธ์ ซึ่งมาตรการดังกล่าวเริ่มมาตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปี 2561 รวมระยะเวลา 4 ปี ซึ่งได้สร้างความฮือฮาให้แก่บรรดานักช็อปพอสมควร  เนื่องจากเป็นการช็อปสินค้าที่นำมาลดหย่อนภาษีได้              

 

 

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาล จาก ช้อปช่วยชาติ สู่ชิมช้อปใช้ 

 

          ขณะเดียวกันก็มีอีเวนต์รายการใหญ่ๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่จัดขึ้นในช่วงปลายปีของทุกปี โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ซื้อและผู้ขายได้มีโอกาสมาเจอกันโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นงานมหกรรมสินค้าโอท็อป หรือโอท็อปซิตี้ ที่จัดปีละสองครั้งช่วงกลางปีและปลายปี งานหนังสือแห่งชาติ หรือแม้กระทั่งงานมอเตอร์โชว์ ล้วนแล้วแต่มีส่วนช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจชาติทั้งสิ้น

 


       
          เห็นได้จาก “ช้อปช่วยชาติ 2560" ถือว่าประสบความสำเร็จเกินคาด เพราะมีคนออกมาใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาทในช่วงเวลาที่กำหนด ถึงแม้ปีนี้มาตรการจะประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย แต่ก็มีเสียงสะท้อนกลับมาว่าเป็นการหนุนสินค้าให้แก่กลุ่มนายทุนรายใหญ่เสียมากกว่าประชาชนผู้ค้ารายย่อย  ส่งผลให้ปี 2561 มาตรการช้อปช่วยชาติ จึงได้มีการปรับเปลี่ยนกลุ่มสินค้า โดยมุ่งเจาะกลุ่มสินค้าใน 3 กลุ่มหลักคือ สินค้าประเภทยางล้อรถ สินค้ากลุ่มหนังสือและอีบุ๊ก และสินค้าโอท็อป(OTOP)


          สำหรับเหตุผลที่รัฐบาลเลือกกลุ่มสินค้ายางล้อรถเข้าร่วมโครงการช้อปช่วยชาติในปี 2561 นั้นเพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพาราไทยที่กำลังเผชิญกับราคายางพาราตกต่ำ รวมถึงเป็นการระบายปริมาณยางเส้นที่ค้างอยู่อีกจำนวนมาก ส่วนกลุ่มหนังสือซึ่งปกติเป็นสินค้าประเภทที่ไม่ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) อยู่แล้ว จึงทำให้ไม่เข้าข่ายโครงการช็อปช่วยชาติของปีก่อนๆ แต่ที่มาโผล่เป็น 1 ใน 3 กลุ่มสินค้าในโครงการปี 2561 นี้ ก็เพราะว่าตลาดหนังสือในประเทศไทยทำเม็ดเงินลดลงมาก รัฐบาลจึงต้องการกระตุ้นกลุ่มสินค้าประเภทหนังสือและยังพ่วงถึงหนังสือประเภทอี-บุ๊กด้วย เพราะพฤติกรรมคนไทยใช้เวลาบนมือถือ และบนหน้าจอคอมพิวเตอร์หลายชั่วโมงต่อวัน หนังสือแบบอี-บุ๊ก จึงเป็นอีกช่องทางที่ทำให้เข้าถึงคนไทยมากขึ้น ขณะกลุ่มสินค้าโอท็อปมีจุดประสงค์หลักคือ ช่วยส่งเสริมสินค้าและกระตุ้นเศรษฐกิจระดับชุมชนเพิ่มมากขึ้น 

 

 

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาล จาก ช้อปช่วยชาติ สู่ชิมช้อปใช้ 

          มาปีนี้ (2562) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ยังมีเหมือนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนจากช้อปช่วยชาติมาเป็น “ชิมช้อปใช้” ซึ่งจะเห็นได้ว่ากระแสมาตรการ “ชิมช้อปใช้” ของรัฐบาลได้รับการตอบรับอย่างสูงจากภาคประชาชน หลังจากรัฐบาลเปิดให้ประชาชนลงทะเบียน “ชิมช้อปใช้” เพื่อรับสิทธิ์เงิน 1,000 บาท ผ่านแอพพลิเคชัน “เป๋าตัง 1” (G-Wallet) ระหว่างวันที่ 23 กันยายน ถึง 15 พฤศจิกายน 2562 หรือจนกว่าสิทธิ์จะหมดก่อน ทาง www.ชิมช้อปใช้.com เพื่อนำเงินดังกล่าวไปใช้ท่องเที่ยวที่ใดก็ได้ในประเทศไทย โดยใช้จ่ายผ่านร้านค้าที่รองรับแอพพลิเคชันถุงเงิน และต้องเป็นร้านค้าในจังหวัดที่ไม่ตรงกับจังหวัดตามบัตรประชาชนของเรา โดยใช้ได้กับร้านขายสินค้าและบริการที่เข้าร่วมโครงการทุกประเภทในจังหวัดที่ได้เลือกไว้เมื่อลงทะเบียน


          ปรากฏว่ามีผู้ลงทะเบียนเพื่อขอรับสิทธิ์เป็นจำนวนมากเกินกว่าที่กำหนด สามารถลงทะเบียนได้ 1 ล้านคนต่อวัน โดยจำกัดสิทธิ์คนลงทะเบียนไว้เพียง 10 ล้านคน แน่นอนว่ามาตรการนี้ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมากในแง่กระแสการตอบรับและการรับรู้ของสังคมและประชาชน นอกจากนี้การที่ร้านค้าที่เข้ามาร่วมโครงการมากกว่า 1 แสนร้านค้า ย่อมเป็นหลักฐานสำคัญที่สะท้อนให้เห็นทั้งฝั่งดีมานด์คือภาคประชาชนผู้ซื้อ และทางฝั่งซัพพลายคือร้านค้าผู้ขาย มีความสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชาติ 

 



         
          ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ประเมินเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจากโครงการนี้รวมทั้งสิ้นประมาณ 20,000-30,000 ล้านบาท ทั้งนี้เพราะคนส่วนใหญ่อย่างน้อยประมาณ 90-95% ของคนลงทะเบียน 10 ล้านคนจะใช้เงินในโครงการนี้ เพราะการที่คนลงทะเบียนเต็มจำนวน 1 ล้านคนต่อวันอย่างรวดเร็ว และมีการตัดวงเงินออกจากบัญชี “เป๋าตัง 1” ภายใน 14 วันหากไม่มีการใช้ ก็จะทำให้สามารถนำเงินไปใช้จ่ายได้เต็มจำนวน 10 ล้านคน หรือ 10,000 ล้านบาทได้โดยง่าย

 

 

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาล จาก ช้อปช่วยชาติ สู่ชิมช้อปใช้ 

ดร.อุตตม สาวนายน

          อีกทั้งคนที่ได้รับสิทธิ์คงใช้เงินเพิ่มเติมมากกว่า 1,000 บาทที่ได้รับ โดยน่าจะใช้เงินเพิ่มเติมโดยเฉลี่ยอีกอย่างน้อย 1,000-2,000 บาทต่อคน (จาก 10 ล้านคนที่ลงทะเบียน)  แต่ภายใต้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ยังไม่แน่นอน ทั้งเศรษฐกิจภายนอกประเทศจากสงครามการค้า เบร็กซิท และปัญหาในตะวันออกกลาง รวมถึงปัญหาภายในประเทศทั้งการเมือง ราคาพืชผลทรงตัวต่ำ และค่าเงินบาทแข็ง ทำให้ประชาชนยังคงระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นด้วย


          “การทำโครงการชิมช้อปใช้ไม่ใช่เป็นการส่งเสริมให้คนไปฟุ่มเฟือย แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ การท่องเที่ยวในระดับชุมชนเพื่อชดเชยภาคส่งออกที่ชะลอตัวลงเนื่องจากได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจต่างประเทศ” สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ยืนยัน 


          หลังประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามสำหรับโครงการชิมช้อปใช้ เฟส 1 จากรัฐบาลโดยกระทรวงการคลังจึงได้ต่อยอดสู่เฟส 2 ซึ่งจากรายงานข้อมูลของธนาคารกรุงไทยพบว่ายอดลงทะเบียน ชิมช้อปใช้ เฟส 2 เต็มจำนวนทั้ง 3 ล้านคนแล้ว ทำให้ยอมรวมทั้งหมดทั้งเฟส 1 และ 2 มีผู้ลงทะเบียนร่วมอยู่ที่ 13 ล้านคน และจะมีสิทธิ์ใช้จ่ายผ่านแอพจนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2562 ส่วนมาตรการชิมช้อปใช้ระยะที่ 3 ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน โดยเฟสนี้ได้ตั้งเป้าให้ลงทะเบียนรับสิทธิ์เพิ่มอีก 2 ล้านคนและกันสิทธิ์ไว้ให้ผู้สูงอายุ 5 แสนคน แต่เฟส 3 จะต่างจากสองเฟสแรกคือไม่แจกเงิน 1,000 บาท  แต่จะให้สิทธิ์การใช้เงินผ่านกระเป๋า 2 และขยายขอบเขตการใช้ 5 หมื่นบาท และซื้อแพ็กเกจทัวร์ ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าอาหารและที่พักได้ รวมถึงใช้ได้ในทุกจังหวัด  เมื่อรวมทั้ง 3 เฟสจะมีผู้ได้รับสิทธิ์ตลอดโครงการมากถึง 15 ล้านคน อย่างไรก็ตามมาตรการดังกล่าวได้ขยายระยะเวลาการเข้าร่วมไปจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2563 


          นับเป็นอีกมาตราการที่รัฐบาลงัดมาใช้ในการระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีเพื่อให้เกิดความคึกคักในการหมุนเวียนของเศรษฐกิจนั่นเอง

 

 

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาล จาก ช้อปช่วยชาติ สู่ชิมช้อปใช้ 

 

          6 มาตรการลดหย่อนภาษีช่วยชาติ 2562
          1.มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ 
          หลังมาตรการลดหย่อนภาษีท่องเที่ยวที่ได้รับการตอบรับอย่างดีในปี 2561 ปีนี้รัฐบาลใจดีขยายเพิ่มให้ด้วยครอบคลุมทั้งเมืองหลัก เมืองรอง รวมกันไม่เกิน 20,000 บาท  เที่ยวในเมืองหลัก ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท เที่ยวในเมืองรอง ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 20,000 บาท
ระยะเวลา : 30 เมษายน-30 มิถุนายน 2562


          2. มาตรการซื้อสินค้าการศึกษา และอุปกรณ์กีฬา
          ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
          ระยะเวลา : 1 พฤษภาคม-30 มิถุนายน 2562


          3.มาตรการซื้อสินค้าโอท็อป
          ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
          ระยะเวลา : 30 เมษายน-30 มิถุนายน 2562


          4.มาตรการส่งเสริมการอ่าน ซื้อหนังสือ/ e–Book
          ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์นักอ่าน รวมกันไม่เกิน 15,000 บาท
          ระยะเวลา : 1 มกราคม-31 ธันวาคม 2562 


          5. มาตรการสนับสนุนให้คนไทยมีที่อยู่อาศัยของตัวเอง ซื้อบ้าน หรือคอนโด
          ลดหย่อนภาษีได้ตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง(ไม่รวมดอกเบี้ย) รวมแล้วไม่เกิน 200,000 บาท
          ระยะเวลา : 30 เมษายน-31 ธันวาคม 2562 


          6. มาตรการส่งเสริมและสนับสนุนภาษีอิเล็กทรอนิกส์
          บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หักรายจ่ายได้ 2 เท่าของรายจ่ายลงทุนเพื่อรองรับระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์
          ระยะเวลา : 30 เมษายน-31 ธันวาคม 2562

ที่มา :มาตรการส่งเสริมและสนับสนุนภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ลดหย่อนภาษี ปี 2562

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ