คอลัมนิสต์

ส่องวิถี เจนวาย​ ของมันต้องมีหนี้จึงท่วม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ส่องวิถี เจนวาย​ ของมันต้องมีหนี้จึงท่วม

 

 

          นานพอสมควรที่คน “เจนวาย” (Generation Y) ถูกกล่าวถึงมากในยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟู


          ต่อเมื่อเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวและมีความกังวลว่ากำลังจะเข้าสู่ภาวะฝืดเคือง คนเจนวายก็ยิ่งถูกติดตามอย่างใกล้ชิด

 

 

          เหตุที่คนกลุ่มนี้ซึ่งมีอายุระหว่าง 23-38 ปี ได้รับความสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นคนกลุ่มใหญ่  มีสัดส่วนร้อยละ 28 ของประชากรทั้งประเทศ แม้ใกล้เคียงกับคน “เจนเอ็กซ์”(Generation X) ที่อายุมากกว่าซึ่งมีอยู่ประมาณร้อยละ 27 แต่อุปนิสัยการใช้ชีวิตของคนเจนวาย มีความแตกต่างจากคนเจนอื่น โดยเฉพาะพฤติกรรมการใช้จ่ายและการออมที่เป็นตัวแปรสำคัญต่อดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจหลายด้าน


          สำคัญยิ่งกว่านั้นน่าเป็นห่วงว่าคนเจนวายมีความเสี่ยงต่อความมั่นคงในชีวิตสูงกว่าคนเจนอื่น


          *ติดกับดัก“ของมันต้องมี”
          ข้อมูลที่น่ากังวลสำหรับคนเจนวายถูกโฟกัสไปที่พฤติกรรมทางการเงิน


          ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB (TMB Analytics) ธนาคารทหารไทย ได้ศึกษาพฤติกรรมการเงินจากข้อมูลโซเชียลมีเดียของคนกลุ่มเจนวาย พบว่าความใฝ่ฝันของชาวเจนวายที่อยากมีก่อนอายุ 40 ปี ส่วนใหญ่หรือ 48% ฝันถึงการมีบ้าน 22% อยากได้รถยนต์ และ 13% ต้องการมีเงินออมทรัพย์และสินทรัพย์อื่นๆ


          ทว่า!!!จินตนาการของชาวเจนวายช่างตรงข้ามกับโลกแห่งความเป็นจริงเสียนี่กระไร


          ผลการวิเคราะห์ข้อมูลของ TMB พบว่า ในชีวิตจริงชาวเจนวายหมดเงินไปกับการใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าประเภท “ของมันต้องมี” ถึงร้อยละ 69 ขณะที่รายการซื้อบ้าน ซื้อรถที่เป็นความฝันมีสัดส่วนลดลงเหลือแค่ร้อยละ 12 และ 10 ตามลำดับ ส่วนเงินออม ก็มีเพียงร้อยละ 9 เท่านั้นเอง


          “ชาวเจนวายมีลักษณะเข้าทำนองฝันไกลแต่ไปไม่ถึง สะท้อนจากเจนวายที่เริ่มต้นทำงานเฉลี่ยตั้งเป้าอยากมีเงินเก็บ 6 ล้านบาท แต่จะออมเงินแค่เฉลี่ยเดือนละ 5,500 บาท ถ้าเก็บเงินด้วยอัตรานี้ต้องใช้เวลาถึง 90 ปี จึงจะถึงเป้าหมาย แต่มันก็ยาวนานกว่าอายุขัยเฉลี่ยของคนปกติไปแล้ว”

 



          นริศ สถาผลเดชา ผู้บริหาร TMB Analytics เผยข้อมูลที่สะท้อนให้เห็นความต่าระหว่างความฝันกับความเป็นจริงของชาวเจนวาย ซึ่งมีทัศนคติย้อนแย้งในตัวเองหลายอย่าง 


          โดยเฉพาะพฤติกรรมด้านการเงิน 47% ของชาวเจนวาย ใช้จ่ายไปกับ “ของมันต้องมี” มากว่าเงินเก็บ และแม้ว่าจะมีสัดส่วนน้อยกว่ากลุ่มเจนวายที่ 53% ใช้เงินกับสินค้า “ของมันต้องมี” น้อยกว่าเงินเก็บ แต่เมื่อคิดเป็นจำนวนแล้วเจนวายกลุ่มแรกมีถึง 6.8 ล้านคน จึงเป็นสิ่งต้องให้ความสำคัญอยู่


          โดยเฉลี่ยคนเจนวายหมดเงินไปกับ “ของมันต้องมี” 95,000 บาทต่อคนต่อปี หรือ 1 ใน 4 ของรายได้ 377,694 บาทต่อคนต่อปี ส่วนใหญ่เป็นการซื้อสมาร์ทโฟน เสื้อผ้า เครื่องสำอาง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ กระเป๋า นาฬิกา เครื่องประดับ 


          เมื่อย้อนสำรวจรายจ่าย “ของมันต้องมี” ของคนเจนวายปี 2560 เพิ่มขึ้นถึง 112% เมื่อเทียบกับปี 2551 หรือมากกว่า 1.37 ล้านล้านบาท เทียบได้กับ 8 เท่าตัว ของมูลค่ารถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน หรือ 91%ของมูลค่าการลงทุนในอีอีซี 5 ปี เลยทีเดียว


          เจนนี้ต้องไม่“เอาท์”
          คนเจนวายส่วนใหญ่หรือ 42% ซื้อสินค้าที่เรียกว่า “ของมันต้องมี” เพราะกลัวตกกระแส “อินเทรนด์” มากกว่ามองว่าเป็นของจำเป็น แถมเงินที่ใช้ซื้อมาจากการกู้ธนาคาร โดยใช้บัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด ซึ่งในจำนวนนี้มากกว่า 70% ผ่อนชำระสินค้าและบริการแบบเสียดอกเบี้ย


          ข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าครึ่งหนึ่งของประชากรเจนวาย 14.4 ล้านคน มีการกู้เงิน โดยแต่ละคนมีภาระหนี้เฉลี่ย 432,000 บาท ในจำนวนนี้เป็นหนี้เสีย 1.4 ล้านคน และเป็นหนี้เสีย 7.1% ของสินเชื่อผิดนัดชำระทั้งหมด


          หากเจาะลึกพฤติกรรมการเงิน และทัศนคติ พบว่าชาวเจนวายมากกว่า 6.8 ล้านคน ให้ความสำคัญกับการใช้จ่าย “ของมันต้องมี” มากกว่า “เงินเก็บ” เพราะเมื่อเงินเดือนออกพวกเขา 60% นำไปชำระหนี้และซื้อของก่อนเก็บออม อีกทั้งยังเก็บเงินไว้ในบัญชีออมทรัพย์ในสัดส่วนที่สูงกว่าการวางแผนการเงินผ่านบัญชีเงินฝากดอกเบี้ยสูง ลงทุนในหุ้น หรือตราสารเงินอื่นๆ


          ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB แนะนำว่าหากชาวเจนวายลดพฤติกรรมใช้จ่าย “ของมันต้องมี”  ลงเหลือไม่เกิน 50% ควบคู่กับการวางแผนบริหารเงินออมจะช่วยให้พวกเขามีเงินสะสมเพิ่มขึ้นปีละ 43,000 บาท และอาจช่วยให้มีความสามารถซื้อทรัพย์สินตามที่ฝันไว้ เช่น หากเก็บไว้ 10 ปีจะซื้อรถยนต์ได้ 20 ปี เซ้งร้านขายกาแฟที่ทองหล่อได้ และ 30 ปี ซื้อคอนโดมิเนียมย่านห้วยขวางได้


          *แชมป์มือเติบ-สร้างหนี้
          ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่ากลุ่มที่มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้สูงสุดอันดับหนึ่งคือชาวเจนวาย โดยเฉลี่ย 100 คน เป็นหนี้บัตรเครดิตถึง 56 คน


          แน่นอนว่าคนเจนวายเกินครึ่งมีนิสัยใช้จ่ายเกินตัวก็เพราะพวกเขาเกิดและเติบโตมาในยุคแห่งความเจริญทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี คนกลุ่มนี้จึงมีความคล่องตัวด้านเทคโนโลยี มีความมั่นใจในตัวเองและมีอิสระทางความคิดสูง


          งานวิจัยระบุว่าชาวเจนวายใช้เวลาหมดไปกับสื่อออนไลน์นานที่สุดหากเทียบกับเจนอื่นๆ คือ 7 ชั่วโมงต่อวัน จึงไม่แปลกที่นอกจากพวกเขาหมดเงินไปกับการใช้จ่ายของมันต้องมีแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวและการตามหาร้านอาหารที่มีการรีวิวในโซเชียลมีเดียอีกพอสมควร


          “คนที่มีหนี้อายุ 29-30 ปี เป็นหนี้เสียถึง 1 ใน 5 ลองคิดดูว่าประเทศจะไปทางไหนเพราะว่าวัยที่เป็นหนี้เสียเป็นวัยที่จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศ วัยที่สร้างครอบครัว และเป็นวัยที่เป็นรากฐานสำคัญของประเทศ แม้ว่าภาพใหญ่ในเรื่องตัวเลขของระบบเศรษฐกิจ ตัวเลขการจ้างงานดีขึ้น รายได้ของประชาชนดีขึ้น แต่การจับจ่ายใช้สอยไม่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเนื่องจากประชาชนมีภาระหนี้เยอะมากซึ่งมีผลต่อการบริโภคภาพรวมของประเทศ”


          วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แสดงความเป็นห่วงชาวเจนวายที่พากันติดกับดัก "หนี้" ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคภาพรวมของประเทศไปด้วย เพราะจากการศึกษาเชิงลึกพบว่าคนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้นและมากขึ้น ที่สำคัญสัดส่วนหนี้เสียก็เพิ่มขึ้นด้วย


          ขณะที่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทยในภาพรวมพบว่าปี 2562 มีหนี้ครัวเรือนเฉลี่ยที่ 340,053 บาทต่อครัวเรือน เป็นอัตราที่สูงสุดในประวัติศาสตร์ และเพิ่มจากปีก่อน 7.4%


          ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์ ระบุว่า ตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น นอกจากเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศชะลอตัว ซึ่งเป็นสาเหตุหลักแล้ว อีกส่วนหนึ่งยังเป็นผลจากการใช้จ่ายบัตรเครดิตของชาวเจนวายที่หมดไปกับสินค้าฟุ่มเฟือยและเกินตัว โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงที่มีการซื้อสินค้าบ่อยครั้ง หรือซื้อจุกจิก


          เช่นนี้แล้วเพื่อความมั่นคงของชีวิตในอนาคตจำเป็นอย่างยิ่งที่ชาวเจนวายทั้งหลายต้องปฏิรูปตัวเองครั้งสำคัญด้วยการปรับเปลี่ยนนิสัยและพฤติกรรมการใช้จ่ายเงิน ไม่ให้เกินตัว โดยเฉพาะกับ “ของมันต้องมี” นั้น หากคิดให้มากสักนิดว่า “ของมันไม่ต้องมี” ก็ได้ ชีวิตของเจนวายจะมีความสุขกับการ “ไม่เป็นหนี้” อย่างแน่นอน


          

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ