คอลัมนิสต์

เกษตรกรตัวปลอม  เลี่ยงภาษีที่ดิน... ไม่ง่ายอย่างที่คิด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เกษตรกรตัวปลอม  เลี่ยงภาษีที่ดิน... ไม่ง่ายอย่างที่คิด โดย...   ทีมข่าวรายงานพิเศษ

 

 

 

          หลายคนกำลังวางแผนหลีกเลี่ยงการจ่าย “ภาษีที่ดิน” ซึ่งจะบังคับใช้ปี 2563 โดยเฉพาะการไปแจ้งเป็น “พื้นที่เกษตรกรรม” เพราะช่วยลดค่าใช้จ่ายไปได้หลายเท่า โดยหารู้ไม่ว่าขั้นตอนการพิสูจน์นั้นมีหลายชั้นซับซ้อน เพื่อสกัดกลุ่มเจ้าของที่ดินผู้อยากเป็น เกษตรกรตัวปลอม!

 

 

          “พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562” มีการแบ่งลักษณะที่ดินและสิ่งปลูกสร้างออกเป็น 4 ประเภทตามลักษณะใช้ประโยชน์ ได้แก่ 1.เกษตรกรรม 2.ที่อยู่อาศัย 3.พาณิชยกรรม และ 4.ที่ดินรกร้างว่างเปล่า เพื่อให้การคิดคำนวณภาษีแตกต่างกันไป


          โดย พื้นที่เกษตรกรรม หรือที่ดินที่ใช้ในการทำไร่ทำนา ทำสวน ทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ จ่ายภาษีน้อยที่สุดและมีข้อยกเว้นให้หลายประการ เช่น หากเป็นบุคคลธรรมดาทำแปลงเกษตรแล้วมีที่ดินมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ยกเว้นภาษีให้ 3 ปี ถ้าตั้งแต่ปี 2563-2565 ไปเริ่มเสียภาษีที่ดินในปี 2566 และเสียเริ่มต้นแค่ร้อยละ 0.01 ส่วนเพดานภาษีสูงสุดไม่เกินร้อยละ 0.15 ขณะที่ประเภทที่ดินสำหรับทำ “พาณิชยกรรม” หรือ “ที่ดินรกร้างว่างเปล่า” มีเพดานสูงสุดร้อยละ 1.2 หมายถึงเสียแพงกว่าถึง 8 เท่า

 

 

เกษตรกรตัวปลอม  เลี่ยงภาษีที่ดิน... ไม่ง่ายอย่างที่คิด

 


          ยกตัวอย่างเปรียบเทียบได้ดังนี้ ที่ดินเกษตรกรรมราคา 1 ล้านบาท เสียภาษี 100 บาท ถ้าเป็นบ้านหรือที่อยู่อาศัย 200 บาท พาณิชยกรรม หรือที่ดินรกร้างว่างเปล่าต้องจ่าย 3,000 บาท ทำให้บรรดาผู้ชอบสะสมที่ดินไว้และไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร รีบวางแผนหาหนทางไปทำการเกษตร เพราะการจ่ายปีละ 100 กับ 3,000 บาทห่างกันถึง 30 เท่า ยิ่งมีหลายแปลงหลายสิบล้านก็ยิ่งทวีคูณ


          สาเหตุที่กฎหมายให้พื้นที่เกษตรไม่ต้องจ่ายภาษีสูงก็เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และหวังให้พวกเศรษฐีนักสะสมที่ดินจ่ายเงินบำรุงท้องที่เพราะหวงที่ดินไว้โดยไม่ได้ใช้ทำประโยชน์อะไรแก่ประเทศชาติบ้านเมือง

 

 

 

เกษตรกรตัวปลอม  เลี่ยงภาษีที่ดิน... ไม่ง่ายอย่างที่คิด

 



          หลายคนเริ่มสนใจอยากเอาพืชผักต้นไม้มาลงไว้ในที่ดินว่างเปล่าของตัวเอง เช่น ปลูกกล้วย ปลูกมะพร้าว ปลูกยาง ปลูกผักปลอดสารพิษ ฯลฯ จากนั้นก็เริ่มถ่ายรูปเก็บหลักฐานว่านี่คือ “แปลงเกษตร” ไม่ใช่ “ที่ดินรกร้างว่างเปล่า”


          แต่ขั้นตอนไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เพราะก่อนอื่นต้องไปพิสูจน์ต่อเจ้าหน้าที่เกษตรท้องถิ่นให้ได้ว่าที่ดินนั้นมีการทำเกษตรจริงและไปขึ้นทะเบียนยืนยันตัวตนว่าเป็น “เกษตรกร” ที่สำนักงานกลุ่มทะเบียนเกษตรกร กรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อให้ชัดเจนว่าเป็น “ตัวจริงไม่ใช่ตัวปลอม”!


          เจ้าหน้าที่กลุ่มทะเบียนเกษตรกร อธิบายให้ “คมชัดลึก” เข้าใจการพิสูจน์ตัวตนการเป็นเกษตรกรว่า ในอดีตประเทศไทยมีการรับลงทะเบียนเกษตรกรในฐานะ ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน ผู้เลี้ยงสัตว์ ฯลฯ แต่ที่เริ่มจัดทำเป็นฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกรอย่างเป็นระบบก็เมื่อปี 2552 โดยกระทรวงเกษตรฯ

 

 

 

เกษตรกรตัวปลอม  เลี่ยงภาษีที่ดิน... ไม่ง่ายอย่างที่คิด

 


          ที่สำคัญคือการขึ้นทะเบียนไม่ได้เป็นการบังคับ แต่เป็นไปด้วยความสมัครใจ ใครจะมาขึ้นหรือไม่ขึ้นก็ได้ สำหรับประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับจากการขึ้นทะเบียน คือ การได้ความช่วยเหลือหากเกิดเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติ น้ำท่วม ฝนแล้ง หรือมาตรการช่วยเหลือเยียวยาอื่นๆ ของหน่วยงานรัฐ ซึ่งหลังจากขึ้นทะเบียนจะมี “เอกสารยืนยันตัวตน” ว่าเป็นเกษตรกรตัวจริง


          “ตอนนี้รายละเอียดการขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกร เพื่อลดหย่อนภาษีที่ดินนั้น ยังไม่ชัดเจนมากนัก แต่หลักการเบื้องต้นคือถ้าใครอยากแจ้งว่าเป็นที่ดินทำเกษตร ต้องไปหาหน่วยงานปกครองท้องถิ่น ขอให้เจ้าหน้าที่ไปช่วยสำรวจที่ดินว่าทำเกษตรกรรมจริงหรือไม่ ซึ่งมีการแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1.กิจกรรมเกษตรปลูกพืช เช่น นาข้าว ผัก ฯลฯ 2.การทำฟาร์มปศุสัตว์ เช่น ไก่ หมู และ 3.การเลี้ยงสัตว์น้ำปลา กุ้ง หอย ฯลฯ แต่ไม่ใช่ว่าปลูกผักหรือเลี้ยงสัตว์นิดๆ หน่อยๆ แล้วจะอ้างว่าเป็นพื้นที่เกษตรไม่ได้ เจ้าหน้าที่จะพิจารณาประเมินตามหลักเกณฑ์และความเหมาะสม เช่น ถ้ามีพื้นที่ 10 ไร่ หากปลูกกล้วยก็ต้องมีไม่ต่ำกว่า 300 ต้นต่อ 1 ไร่ แต่อาจมีการอนุโลมกับแปลงเกษตรบางแห่งที่ต้องใช้พื้นที่ทำการแปลงผลิตผล เก็บสินค้าหรืออื่นๆ”

 

 

 

เกษตรกรตัวปลอม  เลี่ยงภาษีที่ดิน... ไม่ง่ายอย่างที่คิด

 


          เจ้าหน้าที่ข้างต้นแนะนำว่า เจ้าของที่ดินต้องไปติดต่อที่สำนักงานเกษตรอำเภอซึ่งมีแปลงที่ดินตั้งอยู่ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะไปสำรวจและยืนยันหลักฐานก่อนขึ้นทะเบียนให้ ที่สำคัญคือไม่ใช่ขึ้นทะเบียนครั้งเดียวและจะสามารถใช้ได้ตลอดไปเพราะต้องไปต่อทะเบียนหรือ “ปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรทุกปี” 


          “พื้นที่เกษตรบางส่วนจะมีการเปลี่ยนแปลงตลอด เช่น อาจขายที่นาไปแล้ว หรือ เปลี่ยนจากทำสวนผักไปทำอย่างอื่น เคยเลี้ยงสัตว์น้ำแต่เลิกเลี้ยง ทำให้ต้องมายืนยันตัวตนทุกปีว่ายังทำเกษตรกรรมและยังเป็นเกษตรกรอยู่หรือไม่ หรือการปรับปรุงทะเบียนประจำปี สามารถแจ้งผ่านสมุดทะเบียนเกษตรกรอิเล็กทรอนิกส์ หรือแอพพลิเคชั่น DOAE Farmbook ที่ช่วยให้เกษตรกรทราบข้อมูลของตนเองได้ตลอดเวลาและสะดวกในการติดต่อหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง” เจ้าหน้าที่ข้างต้นกล่าว


          หมายความว่าการจะไปขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรเพื่อพิสูจน์คำอ้างว่าเป็น “พื้นที่เกษตร” ไม่ใช่เรื่องง่าย! ต้องทำหลายขั้นตอนและมีหลักฐานชัดเจน ถ้าเจ้าของที่ดินคนไหนทำได้ง่ายๆ หมายความว่าอาจมีการซูเอี๋ยหรือให้ผลประโยชน์ใต้โต๊ะแก่เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง!

 

 

เกษตรกรตัวปลอม  เลี่ยงภาษีที่ดิน... ไม่ง่ายอย่างที่คิด

 


          ข้อมูลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ปี 2560 ระบุว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ 321 ล้านไร่ เป็นพื้นที่เกษตร 149 ล้านไร่ หรือร้อยละ 47 และแบ่งเป็นพื้นที่มีเอกสารสิทธิจำนวน 127 ล้านไร่ ส่วนที่เหลือเป็นที่ดินของรัฐหรือใช้ประโยชน์อื่นๆ อีก 194 ล้านไร่ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ระบุว่า ปี 2561 มีทะเบียนเกษตรกรทั้งหมด 4.7 ล้านครัวเรือน แต่ปี 2562 เดือนพฤษภาคมได้เพิ่มสูงขึ้นเป็น 7.9 ล้านครัวเรือน หรือประมาณ 24 ล้านคน สาเหตุที่จำนวนเพิ่มขึ้นมากเนื่องจากปี 2562 รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือพิเศษต่างๆ


          ล่าสุดรัฐบาลได้ประกาศเลื่อนการเสียภาษีที่ดินจากภายในเดือนเมษายน 2563 ไปเป็นเดือนสิงหาคม 2563 เนื่องจากการจัดทำกฎหมายลูกยังไม่แล้วเสร็จ

 

 

 

เกษตรกรตัวปลอม  เลี่ยงภาษีที่ดิน... ไม่ง่ายอย่างที่คิด

 


          หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในกฎหมายลูกนั้น รัฐบาลจะคิดหาวิธีปรับปรุงระเบียบและวิธีการต่างๆ เพื่อสกัดกั้นไม่ให้เจ้าของที่ดินรกร้างว่างเปล่าซูเอี๋ยหรือจับมือใต้โต๊ะกับเจ้าหน้าที่รัฐ แล้วแอบอ้างเป็นเกษตรกรตัวปลอมเพื่อลดภาระการจ่ายภาษี


          โดยไม่ได้มีความตั้งใจจะพัฒนาที่ดินทำเกษตรอย่างจริงใจ!

 



 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ