คอลัมนิสต์

ค้านไม่เป็น

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ค้านไม่เป็น คอลัมน์...  Cover Story เนชั่นสุดสัปดาห์

 

 

 


          พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ คงจะสบายใจไม่น้อย เพราะในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คว้าไมค์ครวญไปหลายเพลง ทั้งในงานเลี้ยงนักข่าวทำเนียบ และงานเลี้ยงพรรคร่วมรัฐบาลครั้งที่สอง

 

 

          ที่บอกว่าสบายใจเป็นเพราะว่า ฝ่ายค้าน โดย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธานคณะกิจการพิเศษเพื่อการอภิปรายของพรรคเพื่อไทย เพิ่งออกมาประกาศว่าจะยื่นไม่ไว้วางใจรัฐบาลเป็นรายบุคคล


          คือ พล.อ.ประยุทธ์, รองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์, รองนายกฯ วิษณุ เครืองาม และนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ


          พร้อมข้อหาต่างๆ อีกมากมาย


          นี่น่าจะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ และครม.ขวัญผวา แต่หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ นี่แสดงว่า รัฐบาลเขารู้ทันว่าฝ่ายค้านชุดนี้ไม่น่าจะมี "น้ำยา”


          ยิ่งมาได้ ร.ต.อ.เฉลิม เป็นหัวหน้าทีมในการวางแผนและหาข้อมูลเพื่อซักฟอกรัฐมนตรี ยิ่งไม่ทำให้คนในรัฐบาลหวาดวิตกแต่อย่างใด


          เพราะว่า ร.ต.อ.เฉลิม ไม่ได้เป็น ส.ส. เพราะว่า ร.ต.อ.เฉลิม ไม่ได้มีตำแหน่งแห่งหนใหญ่โตในพรรค เพราะว่าต่อให้ ร.ต.อ.เฉลิม หาข้อมูลมามากขนาดไหน คิดหรือว่า ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย จะนำข้อมูลของ ร.ต.อ.เฉลิม ไปอภิปราย


          เว้นแต่ลูกชาย วัน อยู่บำรุง เพียงคนเดียว


          ยิ่งตำแหน่งของ ร.ต.อ.เฉลิม เป็นตำแหน่งที่ฟังชื่อก็แปลกๆ และไม่ได้มาเพราะว่าพรรคเป็นคนตั้งให้ แต่ได้มาหลังจากบินไปจิบไวน์กับ ทักษิณ ชินวัตร ที่ฮ่องกง


          ก่อนหน้านี้ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย บินไปสกัด ส.ส.อีสานร่วมร้อยที่บินไปฟ้องทักษิณ ว่า คุณหญิงสุดารัตน์แทรกแซงการทำงานของ สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรค

 



          ความจริงปัญหาความขัดแย้งในพรรคเพื่อไทยมีมานานนับแต่หลังการเลือกตั้ง ที่แกนนำระดับสูง ไม่มีใครได้เป็น ส.ส.เลย แต่แกนนำอยากจะเข้ามามีบทบาทการนำในพรรค


          โดยเฉพาะ คุณหญิงสุดารัตน์ ที่ไม่ยอมทิ้งตำแหน่งประธานยุทธศาสตร์พรรค ทั้งๆ ที่เป็นตำแหน่งลอยๆ ตั้งขึ้นมาเพื่อหาเสียงเลือกตั้งเท่านั้น


          แต่เมื่อมีข่าวว่า ส.ส.อีสานของเพื่อไทย มีความประสงค์อยากจะให้ ร.ต.อ.เฉลิม เข้ามามีบทบาทในพรรคและต้องการให้ ร.ต.อ.เฉลิม เป็นประธานยุทธศาสตร์แทนคุณหญิงหน่อย


          ภาพความขัดแย้งของทั้งสองจึงปรากฏขึ้น


          แม้ในเบื้องแรก ร.ต.อ.เฉลิม และแกนนำ ส.ส.อีสานบางคนจะออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าว แต่จากนั้นไม่นาน ร.ต.อ.เฉลิม ได้บินไปพบทักษิณ แล้วกลับมาได้เก้าอี้ประธานคณะกรรมการพิเศษ ไปเป็นของรางวัล


          จะได้ไม่ไปแย่งตำแหน่งจากคุณหญิงสุดารัตน์


          และการที่ ร.ต.อ.เฉลิม เข้ามามีบทบาทในพรรคในตำแหน่งดังกล่าว ส.ส.สายคุณหญิงหน่อยย่อมไม่พอใจ เพราะ ร.ต.อ.เฉลิม จะก้าวเข้ามามีบทบาทในพรรคแข่งบารมีกับคุณหญิงหน่อย


          ขณะที่พรรคเพื่อไทย มีความขัดแย้งภายใน จะทำให้ดีกรีการอภิปรายรัฐบาลลดลงอย่างแน่นอน


          ส่วนพรรคอนาคตใหม่ ก็มีปัญหาไม่แพ้เพื่อไทย ซึ่งอนาคตใหม่ ยังไม่ทราบว่าจะเอาตัวรอดจากคดียุบพรรคได้หรือไม่ เนื่องจากวันเวลาหากมีการยุบพรรคน่าจะไม่เกินเดือนมกราคมปีหน้า


          ก่อนจะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ


          หากเป็นไปตามนั้นและพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ จะทำให้อนาคตใหม่เกิดความระส่ำระสาย เนื่องจาก ส.ส.จะต้องหาสังกัดใหม่ภายใน 60 วัน


          และยังไม่ทราบว่า ส.ส.จะถูกซื้อหรือถูกดูดเข้าพรรคการเมืองไหนบ้าง ไม่ว่าพรรครัฐบาลหรือพรรคฝ่ายค้าน


          ลำพังหากพรรคไม่ถูกยุบ อนาคตใหม่ก็ถือว่าเป็นพรรคการเมืองใหม่ ที่ไม่มีประสบการณ์กับการเก็บข้อมูลเพื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจเลย


          อนาคตใหม่ถนัดแค่เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อสกัดการสืบทอดอำนาจของคสช.เท่านั้น อย่างอื่นทำไม่เป็น


          เหล่านี้จึงไม่มีอะไรที่จะทำให้รัฐบาลต้องกลัวศึกไม่ไว้วางใจ


          และหากอนาคตใหม่ถูกยุบ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค เปลี่ยนเกมการเล่นใหม่ จากในสภาไปเล่นกันข้างถนน ยิ่งจะทำให้รัฐบาลได้เปรียบ


          เพราะพลังของพรรคฝ่ายค้านจะลดน้อยลง


          ประกอบกับการลงถนนของ ธนาธร จะเป็นการจุดไฟการเมืองขึ้นมา และหากม็อบธนาธรจุดติด ไม่ว่าจะเป็น แฟลชม็อบ หรืออะไรก็ตามแต่ มันจะทำให้การเมืองในสภาของพรรคเพื่อไทย ไม่ได้รับความสนใจ


          จะเรียกว่าฝ่ายค้านแตกคอเดินกันคนละเกม ภาพของฝ่ายค้านจะด้อยค่าลงทันที


          โดยพรรคเพื่อไทย คงไม่เอาด้วยกับ ธนาธร เนื่องจากพรรคเพื่อไทย เคยให้การสนับสนุนกลุ่มนปช.เสื้อแดงมาแล้ว ทั้งในยุค ทักษิณ ชินวัตร และยุค ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร


          แต่ล้มเหลวไม่เป็นท่า จึงไม่อยากให้ภาพเก่าแบบนั้นกลับมาอีก


          แตกต่างจากอนาคตใหม่ ของธนาธร ที่มองว่าการเมืองในสภาไม่น่าจะตอบสนองความต้องการของธนาธรได้ เพราะเกมในสภา เป็นรองรัฐบาลที่เป็นฝ่ายกุมอำนาจเยอะมาก และหากมองดีๆ จะเห็นว่า ส.ส. 80 คนของอนาคตใหม่ ยังอ่อนหัดต่อการเมืองในระบบรัฐสภา


          ฉะนั้นจึงเป็นไปได้ว่า หากพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ธนาธร จะเปลี่ยนมาเล่นเกมนอกสภา ซึ่งได้ชิมลางจากการจัดแฟลชม็อบไปแล้ว


          รอดูวันที่ 12 มกราคมปีหน้า ว่าการ วิ่งไล่ลุง กิจกรรมที่แอบแฝงนี้จะมีคนมาวิ่งไล่ลุงมากน้อยขนาดไหน เป็นการวัดพลัง วัดบารมี และวัดคะแนนนิยมว่า บรรดาวัยรุ่นและพวกนักเลงคีย์บอร์ดแห่งโลกโซเชียล จะยังภักดีต่อธนาธร อยู่หรือไม่


          เช่นนี้เมื่อต่างพรรคต่างมีจุดมุ่งหมายต่างกัน ทั้งเพื่อไทย อนาคตใหม่ มันจึงทำให้เกมในระบบรัฐสภา ไม่น่าเกรงขาม


          ประกอบกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่ได้ทำอะไรให้ฝ่ายค้านได้มีข้อมูลในการอภิปรายไม่ไว้วางใจได้


          ข้อมูลที่ ร.ต.อ.เฉลิม เปิดออกมา น่าจะเป็นข้อมูลเก่าและเรื่องเก่าในอดีตตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว ฉะนี้จึงมีคำถามว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจ กรอบของการพิจารณาเนื้อหา จะย้อนหลังไป 5 ปีได้หรือไม่


          รัฐบาลอาจจะบอกว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจต้องอภิปรายนับแต่วันที่รัฐบาลได้ถวายสัตย์ปฏิญาณแล้วเป็นต้นไป ไม่ใช่ไปเอาเรื่องในอดีต 5 ปี ยุคคสช. มาอภิปราย มันจะกลายเป็นเอาเรื่องเก่ามาเล่าใหม่


          แม้ว่าตัวนายกฯ และรัฐมนตรีหลายคนจะมาจากรัฐบาลคสช.ก็ตาม แต่ก็ไม่ควรไปหยิบเรื่องในอดีตมาอภิปราย


          นี่จึงจะทำให้ฝ่ายค้านตกที่นั่งลำบาก เพราะหากข้อมูลของฝ่ายค้านไม่เพียงพอ ญัตติไม่ไว้วางใจจะด้อยค่าลงเป็นเพียงญัตติธรรมดา หรือแค่กระทู้ถามสดเท่านั้น


          น่าเห็นใจฝ่ายค้านยุคนี้ที่นอกจากจะไม่มีความเป็นเอกภาพในกลุ่ม 7 พรรคฝ่ายค้านแล้ว ซึ่งดูได้จากการมีงูเห่า ไปช่วยรัฐบาลโหวต


          ฝ่ายค้านยุคนี้ยังทำหน้าที่ "ค้านไม่เป็น” จึงเป็นผลดีกับรัฐบาล ที่แม้จะไม่เป็นเอกภาพร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ได้อานิสงส์ที่ฝ่ายค้านเองก็ค้านไม่เป็น


          เสร็จศึกอภิปรายหากผลโหวตออกมาพบว่าประชาชนโหวตให้รัฐบาล เมื่อนั้นการอภิปรายของฝ่ายค้านเท่ากับไปสร้างเครดิตและภูมิคุ้มกันให้รัฐบาล


          ต่อไปหากมีการยื่นญัตติไม่ไว้วางใจอีก จะไม่ได้รับความสนใจจากประชาชน.

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ