คอลัมนิสต์

2552 - 2562 เปรียบเทียบ 10 ปี  สิทธิเด่น-ด้อย คนไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

2552 - 2562 เปรียบเทียบ 10 ปี  สิทธิเด่น-ด้อย คนไทย โดย...  ทีมข่าวรายงานพิเศษ

 

 

 

  
          “10 ธันวาคม” ของทุกปี ถือเป็นวันสิทธิมนุษยชนสากล หลายประเทศจัดอันดับเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับ “สิทธิ” ต่างๆ ในประเทศของตน ส่วนของไทยแลนด์ก็มีการเปรียบเทียบสิทธิที่มีความก้าวหน้าขึ้น กับสิทธิที่ถดถอยหรือแย่ลงเช่นกัน หากนำข้อมูลมาเปรียบเทียบ 10 ปีย้อนหลัง ...“สิทธิคนไทย” มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

 

 

          มนุษย์บนโลกนี้พยายามแสวงหา “เสรีภาพ อิสรภาพ และความยุติธรรม” ตั้งแต่ยุคสมัยกรีก-โรมัน แต่ในอดีตยังไม่มีศัพท์คำว่า สิทธิมนุษยชน หรือ ฮิวแมน ไรท์ (Human Rigths) จนกระทั่งในยุคสมัยใหม่มีการเรียกร้องให้คำนึงถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์มากขึ้น หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ที่คร่าทำลายชีวิตมนุษย์ไปกว่า 90-120 ล้านคน

 

 

2552 - 2562 เปรียบเทียบ 10 ปี  สิทธิเด่น-ด้อย คนไทย

 


          ประเทศต่างๆ ร่วมมือกันจัดตั้ง “องค์การสหประชาชาติ” ช่วงแรกมีประมาณ 50 กว่าประเทศ โดยภารกิจสำคัญอันดับแรก คือจัดทำ “ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน” (Universal Declaration of Human Rights) จนกระทั่งสำเร็จและประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2491 หรือเมื่อประมาณ 70 ปีที่แล้วนี่เอง


          ประเทศไทยเข้าร่วมลงนามเป็นภาคีทันทีโดยจุดมุ่งหมายหลักของอนุสัญญาฉบับนี้ คือมุ่งหวังให้ทุกประเทศรับรองมาตรฐานของสิทธิมนุษยชนและเป็นต้นแบบในการเอาไปจัดทำเนื้อหา “รัฐธรรมนูญ” และกฎหมายที่เกี่ยวข้องในประเทศของตน


          หัวใจสำคัญคือ “สิทธิมนุษยชน” เป็นของคนทุกคนบนโลกใบนี้ ไม่ว่าเชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา เพศ อายุ ฐานะใดๆ ก็ตาม ทุกคนต้องได้รับการปกป้องให้มี “สิทธิ” ในฐานะ “มนุษย์”


          กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ให้ความหมาย “สิทธิมนุษยชน” ว่ามีขอบเขตกว้างขวางกว่าสิทธิต่างๆ แม้ไม่มีกฎหมายรับรองก็ตาม โดยให้ครอบคลุมสิทธิ 5 ประเภท ดังนี้

 

 

2552 - 2562 เปรียบเทียบ 10 ปี  สิทธิเด่น-ด้อย คนไทย


          1.“สิทธิพลเมือง” เช่น สิทธิในร่างกาย ชีวิตไม่ถูกทรมาน ทำร้าย จับกุม คุมขัง โดยไม่ชอบธรรมรวมถึงสิทธิในสัญชาติ เสรีภาพ การนับถือศาสนา ฯลฯ 2.“สิทธิทางการเมือง” การมีสิทธิเลือกตั้งอย่างเสรี สิทธิในการชุมนุม หรือรวมกลุ่มอย่างสงบ 3.“สิทธิทางเศรษฐกิจ” หมายถึง สิทธิในการมีงานทำ เลือกงานอย่างอิสระ ได้รับค่าจ้างยุติธรรม 4.สิทธิทางสังคม เช่น สิทธิศึกษาเล่าเรียนสิทธิด้านสุขภาพ สิทธิเด็ก สิทธิผู้หญิง คนพิการ ฯลฯ และ 5.สิทธิทางวัฒนธรรม เช่น เสรีภาพในการใช้ภาษาเสรีภาพในการแต่งกาย การจัดงานตามประเพณี วัฒนธรรม ฯลฯ




          ที่ผ่านมาในแต่ละปีสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชน ได้รวบรวมสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศในรอบปี โดยแบ่งเป็น "ประเด็นก้าวหน้า 10 (เด่น) และประเด็นถดถอย 10 (ด้อย)
 

          หากย้อนเปรียบเทียบ 10 ปี ตั้งแต่ปี 2552 และปี 2562 สิทธิมนุษยชนไทยแลนด์มีรายละเอียดน่าสนใจ ดังนี้

          10 เรื่องเด่นดี 2552
          (1) ศาลปกครองสูงสุดสั่งระงับโครงการชั่วคราว 65 โครงการจากทั้งหมด 76 โครงการ ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง (2) การจัดตั้งคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (3) มีการประกาศพื้นที่อุตสาหกรรมมาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษตามคำพิพากษาศาลปกครองระยอง (4) การแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาความเหมาะสมในการเข้าเป็นภาคี “อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหาย” (ประเทศไทยเป็นภาคีและให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2560) (5) การประกาศใช้แผนสิทธิมนุษยชนฉบับที่ 2 (2552–2556)

 

 

2552 - 2562 เปรียบเทียบ 10 ปี  สิทธิเด่น-ด้อย คนไทย


          (6) การฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจคดีอุ้มฆ่านายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง (7) การรับรองวิทยุชุมชนชั่วคราวเป็นการใช้สิทธิความเป็นเจ้าของวิทยุตามรัฐธรรมนูญ 2540 (8) คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบจัดให้มี “โฉนดชุมชน” (9) สภาผู้แทนราษฎรลงมติรับหลักการ “ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.....” (ประกาศเป็นกฎหมายเมื่อปี 2553) (10) ศาลมีพันธกรณีในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจากการใช้อำนาจโดยมิชอบและพันธกรณีในการปกปักรักษาประชาธิปไตย


          10 เรื่องถดถอย 2552
          (1) ประธานรัฐสภาไม่รับร่างพ.ร.บ.จัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ พ.ศ....ที่มีหลักการและเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับคุ้มครองสิทธิและประโยชน์ของประชาชน (2) ศาลปกครองสูงสุดไม่รับฟ้องคดีสิทธิแรงงานข้ามชาติกรณีห้ามการเลือกปฏิบัติ (3) การตีความคดีสิทธิชุมชน (4) การสลายการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) (5) ศาลจังหวัดเชียงรายจำคุกชาวนาปิดถนน 6 เดือนไม่รอลงอาญา (6) การขัดขวางการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธของคนงานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ (7) คำสั่งศาลคดีไต่สวนการตายกรณีตากใบ (8) การคิดค่าเสียหายจากชาวบ้านในข้อหาทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (9) การนำโทษประหารชีวิตกลับมาใช้อีกครั้ง (10) การประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551


          ประเด็นสิทธิมนุษยชนข้างต้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมและกฎหมาย หากเปรียบเทียบกับปี 2562 ล่าสุดแล้ว จะเป็นสิทธิที่ใกล้ชิดกับวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนมากขึ้น
 

          10 เรื่องเด่นดี 2562
          (1) จัดให้มี “การเลือกตั้งทั่วไป” หลังทหารยึดอำนาจยาวนานถึง 5 ปี (2)ความคืบหน้ากรณีการหายตัวของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ แกนนำกะเหรี่ยงแก่งกระจาน (3) รัฐบาลไทยกำหนดให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ จัดทำ “แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน” (4) กรณีคำพิพากษาด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชนคดีหมู่บ้านกะเหรี่ยงแห่งลำห้วยคลิตี้ล่าง มีคำตัดสินให้ “ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย” (5) การคุ้มครองสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมของไทย “ชาวมานิ” ในพื้นที่สงขลา สตูล ตรัง และพัทลุง จำนวน 376 คน ให้มีบัตรประชาชน (6) สิทธิแต่งกายได้ตามเพศวิถีของนิสิตนักศึกษา (7) สิทธิการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย (8) การคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่พ้นโทษสามารถประกอบอาชีพหมอนวดได้ทันทีโดยไม่ต้องรอ 1 ปี (9) มีการออกกฎหมาย “พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย 2562” เพื่อคุ้มครองสิทธิของเด็กเพิ่มเติม (10) การคุ้มครองสิทธิเด็กข้ามชาติต่ำกว่า 18 ปีไม่ให้ถูกกักตัวไว้ในสถานกักตัวโดยส่งให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เป็นผู้ดูแลแทน
 

 

2552 - 2562 เปรียบเทียบ 10 ปี  สิทธิเด่น-ด้อย คนไทย

 

          10 เรื่องถดถอย 2562
          (1) กรณีกลุ่มติดอาวุธยิงถล่มชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านในพื้นที่ยะลา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 15 ราย (2) กรณีการฟ้องคดีปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ หรือ “การฟ้องปิดปาก” เพื่อหยุดการต่อต้านหรือการเคลื่อนไหวด้านเพื่อสิทธิต่างๆ เช่น คดีฟ้องปิดปากหมู่บ้านตุลาการเชิงดอยสุเทพ หรือ คดีบริษัทธรรมเกษตรฟ้องหมิ่นเอ็นจีโอ (3) นักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกข่มขู่ คุกคาม และทำร้าย (4) กรณีซ้อมทรมานในค่ายทหาร (5) การไล่รื้อหาบเร่แผงลอยในกรุงเทพฯ


          (6) นโยบาย “ทวงคืนผืนป่า” ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนเขตป่า (7) เลื่อนการยกเลิกการใช้สารพิษพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสออกไป 6 เดือนและไม่ยกเลิกการใช้ไกลโฟเซตเปลี่ยนเป็นจำกัดการใช้ (8) การประกาศยกเลิกรับสมัคร “นักเรียนนายร้อยตำรวจหญิง” อย่างถาวร (9) คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่อาจส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น การยกเว้นบังคับกฎหมายผังเมืองหรือกฎหมายสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ (10) ตำรวจละเมิดสิทธิมนุษยชน ซ้อมทรมาน ยัดข้อหาประชาชน


          ทั้งนี้ “วัส ติงสมิตร” ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวถึงปี 2562 ว่า เป็นปีที่มีสำคัญเป็นพิเศษสำหรับเด็ก เนื่องจากครบรอบ 30 ปีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก “กสม.” จึงเสนอให้แก้ไขระเบียบ “ห้ามเปิดเผยประวัติอาชญากรรมของเด็กและเยาวชน” เพื่อให้เด็กที่ก้าวพลาดมีโอกาสกลับคืนสู่สังคม และการเคารพสิทธิของเด็กในการแต่งเครื่องแบบนักเรียนตามหลักความเชื่อทางศาสนา


          ล่าสุดเครือข่ายนักสิทธิมนุษยชนนานาชาติแสดงความชื่นชมว่าประเทศไทยให้ความสำคัญแก่ “สิทธิเด็ก” เป็นอย่างดี แต่ยังมีข้อด้อยในการคุ้มครอง “สิทธิแรงงานข้ามชาติ” มีการเรียกร้องให้ “รัฐไทย” เข้าร่วมเป็นภาคี “อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงาน โยกย้ายถิ่นฐานและสมาชิกในครอบครัว” (ICRMW) เพื่อช่วยคุ้มครองผลประโยชน์แรงงานเพื่อนบ้าน พม่า ลาว กัมพูชา กว่า 2 ล้านคนในไทยแลนด์ ซึ่งที่ผ่านมาพวกเขาถูกละเมิดจาก “นายจ้าง” ผู้เหี้ยมโหดบางกลุ่มมาตลอด
  

          ข้อดีอีกประการของการเข้าร่วมอนุสัญญานี้คือ “คนงานไทย” ที่ไปค้าขายแรงงานในต่างประเทศก็จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายนี้ด้วย !

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ