คอลัมนิสต์

วิกฤติขยะทะเล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วิกฤติขยะทะเล บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันจันทร์ที่ 16 ธันวาคม 2562

 

 


 
          วิกฤติปัญหาขยะทะเลเป็นประเด็นปัญหาที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และมีแนวโน้มว่ากำลังทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นหากยังเมินเฉย ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของมนุษย์ในวงกว้างทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม อาหาร สุขภาพส่วนบุคคล ชุมชน ไปจนถึงระดับชาติ แนวทางทั้งการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะทะเลนั้นเป็นเรื่องของทุกคน เริ่มได้จากการป้องกันตั้งแต่ก่อนที่จะมาเป็นขยะเริ่มจากภาคพื้นดิน  ขณะเดียวกันการแก้ไขปัญหาขยะที่ลงไปในทะเลอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมก็มีความสำคัญเช่นเดียว การพบกองขยะและเศษอวนที่คลุมตามแนวปะการังหลายแห่ง การพบการเกยตื้นและบ่อยครั้งที่นำไปสู่การตายของสัตว์ทะเลหลายชนิด ทั้งที่เป็นสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ เช่น เต่าทะเล โลมา และวาฬ 

 

 

          ความสูญเสียชีวิตของสัตว์น้ำทางทะเลมีให้เห็นและรับรู้ได้บ่อยขึ้น ซึ่งจากรายงานของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในช่วงเสาร์-อาทิตย์ก่อนหน้านี้ มีเต่าเกยตื้นตาย 13 ตัว เกือบทั้งหมดสาเหตุมาจากขยะทะเล และเป็นเรื่องสะเทือนใจอย่างยิ่ง โดย ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษและประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ในเฟซบุ๊กอย่างน่าตกใจคือไม่ใช่เต่าแก่แล้วสู้แรงคลื่นไม่ไหวจึงโดนพัดสู่ฝั่ง แต่เป็นเต่าหนุ่มเต่าสาวติดขยะลอยอยู่กลางทะเล กำลังทยอยกันโดนคลื่นพัดเข้ามา แน่นอนว่ายังมีลอยอยู่กลางทะเลอีกจำนวนมาก และคงมีข่าวเต่าเกยตื้นอีกเรื่อยๆ เปรียบข้อมูลสมัยก่อนเต่าเกยตื้นเฉลี่ยปีละ 300 ตัว แต่ยิ่งเห็นตัวเลข 2 วัน 13 ตัว ก็ยิ่งไม่อยากคิดว่าตัวเลขสรุปตอนสิ้นปีจะเป็นเท่าไรในปีนี้ นอกจากพะยูนตาย 23 ตัว สูงสุดเป็นประวัติการณ์มาแล้ว


          ขยะทะเลมีทั้งขยะที่เกิดจากการท่องเที่ยว การทำประมง ภาคอุตสาหกรรม การเดินเรือพาณิชย์ รวมถึงการทิ้งขยะลงทะเลโดยผิดกฎหมาย โดยแหล่งที่มาของขยะทะเลส่วนใหญ่เกิดจากกิจกรรมบนฝั่ง เช่น ชุมชน แหล่งทิ้งขยะบนฝั่ง บริเวณท่าเรือ และการท่องเที่ยวชายหาด และจากกิจกรรมในทะเล เช่น การขนส่งทางทะเล การประมง และการท่องเที่ยวทางทะเล เป็นต้น ขยะพลาสติกเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สัตว์ทะเลเหล่านี้ต้องจบชีวิตลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเต่าทะเลที่เกยตื้นจากผลกระทบของขยะทะเล เช่น การเกี่ยวพันของอวน มีสัดส่วนสูงถึง 20-40% และเกิดจากการกลืนขยะทะเลเข้าไปสะสมอยู่ในระบบทางเดินอาหาร มีสัดส่วน 2-3% จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าขยะทะเลส่วนใหญ่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ถุงพลาสติก ขวด ภาชนะใส่อาหาร  เป็นต้น




          หากจะว่าไปแล้วขยะทะเลไม่ได้เป็นปัญหาที่เพิ่งจะเกิดขึ้นใหม่สำหรับประเทศไทย แต่สะสมมายาวนานกว่า 20 ปี โดยเฉพาะจังหวัดต่างๆ ตามชายฝั่งทะเลของไทย และได้ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นตามลำดับในเวลาต่อมาจนเกิดผลกระทบในวงกว้าง รัฐบาลที่ผ่านมาได้ออกมาตรการและแก้ปัญหาขยะทะเลและพลาสติกอย่างจริงจังควบคู่กับการสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อเนื่อง ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถปรับอันดับประเทศที่มีขยะทะเลสูงสุดในโลกในอับดับ 6 ลงมาอยู่ที่อันดับ 10 ได้สำเร็จ ถือเป็นสัญญาณที่ดีจากการแก้ปัญหาขยะทะเล เป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่าวิกฤติขยะทะเลไทยไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ที่จะปล่อยให้แต่ละฝ่ายต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างแก้กันแบบเดิมๆ อีกต่อไป แต่เป็นสำนึกของทุกคนทุกภาคส่วนของสังคมไทยและสังคมโลกที่จะต้องบริหารจัดการร่วมกันอย่างเป็นระบบเพื่อสภาพแวดล้อมโลกที่สดใสในอนาคต 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ