คอลัมนิสต์

ซื้อ-ขายที่ดิน ส.ป.ก.4-01 : เป็นโมฆะ 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ซื้อ-ขายที่ดิน ส.ป.ก.4-01 : เป็นโมฆะ  คอลัมน์...  เรื่องน่ารู้วันนี้...กับคดีปกครอง  โดย... นายปกครอง

 

 


          “กสิกรแข็งขันเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ไทยจะเรืองอำนาจเพราะไทยเป็นชาติกสิกรรม…” หลายๆ ท่านที่อายุใกล้เคียงกับนายปกครอง คงเคยได้ยินเพลงนี้นะครับ เพลง “กสิกร” ซึ่งเป็นเพลงปลุกใจเกษตรกรในสมัยก่อน และสะท้อนให้เห็นว่าอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลักที่สำคัญของคนไทยมาเป็นเวลาช้านาน ไม่ว่าจะเป็นการทำนา ทำสวน ทำไร่ หรือ เลี้ยงสัตว์

 

 

          แต่ในสภาวการณ์ปัจจุบัน...ยังมีเกษตรกรจำนวนมากที่ประสบกับปัญหาขาดที่ดินทำกินซึ่งปัญหานี้รัฐได้ดำเนินการแก้ปัญหาโดยการนำพื้นที่ของรัฐที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือป่าเสื่อมโทรมที่ไม่สามารถฟื้นฟูได้แล้ว หรือที่รกร้างที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ มาจัดสรรให้แก่เกษตรกรในรูปแบบของที่ดิน ส.ป.ก.เพื่อใช้ทำเกษตรกรรม โดยผู้ที่จะมีสิทธิได้รับการจัดสรรที่ดินดังกล่าวต้องเป็นเกษตรกรที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือก


          ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนดไว้ และจะได้รับมอบแปลงที่ดิน โดยหน่วยงานของรัฐจะออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4–01) ซึ่งถือเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539


          ปัญหาที่น่าสนใจคือ ที่ดิน ส.ป.ก. ที่เกษตรกรได้รับจัดสรรมานั้น จะสามารถโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นได้หรือไม่ เพียงใด? หรือจะทำการซื้อขายกันได้หรือไม่?


          มีข้อพิพาทกรณีตามปัญหาดังกล่าว...ขึ้นสู่ศาลปกครอง ซึ่งนายปกครองจะนำมาเล่าให้ฟังในวันนี้


          โดยปัญหาที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีก็มาจากผู้ได้รับจัดสรรที่ดินส.ป.ก.ได้นำที่ดินไปขายให้แก่บุคคลอื่นและต่อมาทายาทผู้มีสิทธิได้ขอใช้สิทธิรับโอนที่ดิน ส.ป.ก.ดังกล่าว จนกลายเป็นข้อพิพาทกันขึ้นมา

 



          คดีนี้มีมูลเหตุมาจาก...ปฏิรูปที่ดินจังหวัด (ผู้ถูกฟ้องคดี) ได้ออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4–01 ข) ให้แก่นายหนึ่ง ต่อมาผู้ฟ้องคดีได้ซื้อที่ดินดังกล่าวจากนายหนึ่งและนางสอง (ทายาทของนายหนึ่ง) และหลังจากที่นายหนึ่งถึงแก่ความตายปรากฏว่านางสาวสามและนายสี่ (ทายาทของนายหนึ่ง) ก็ได้ยื่นคำขอรับมรดกสิทธิการเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินต่อจากนายหนึ่ง ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดพิจารณาแล้วมีมติอนุญาตให้นางสาวสามและนายสี่รับมรดกสิทธิของนายหนึ่ง และได้ออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01 ข) ให้แก่นางสาวสามและนายสี่ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การออกหนังสืออนุญาตดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอน


          คดีนี้...ศาลปกครองสูงสุด พิจารณาแล้วมีคำวินิจฉัยสรุปได้ว่า เมื่อนายหนึ่งถึงแก่ความตายสิทธิการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินของนายหนึ่งย่อมสิ้นสุดลงทันทีตามข้อ 11 วรรคหนึ่ง (1) และวรรคสองของระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยการให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรผู้ได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมปฏิบัติเกี่ยวกับการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน พ.ศ.2535 ผู้ถูกฟ้องคดีจึงอาจนำที่ดินที่นายหนึ่งเคยมีสิทธิการเข้าทำประโยชน์ไปจัดให้แก่เกษตรกรตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 ประกอบกับระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกรซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2535


          เมื่อนายหนึ่งถึงแก่ความตาย นางสาวสามและนายสี่ ได้ยื่นคำขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินแปลงที่นายหนึ่งเคยมีสิทธิ และผู้ถูกฟ้องคดีตรวจสอบแล้วเห็นว่าบุคคลทั้งสองเป็นทายาทของนายหนึ่ง และเป็นเกษตรกรที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามข้อ 6 ของระเบียบดังกล่าว และคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด (คปจ.) ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีจึงออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01 ข) แปลงดังกล่าวให้แก่นางสาวสามและนายสี่ ดังนั้นการดำเนินการของผู้ถูกฟ้องคดีจึงเป็นไปตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว และเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย


          ส่วนกรณีที่ผู้ฟ้องคดีได้ซื้อที่ดินพิพาทมาจากนายหนึ่งและนางสองทายาทของนายหนึ่งนั้น ศาลเห็นว่าการซื้อขายที่ดินดังกล่าว เป็นการขัดต่อมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 ที่กำหนดว่า ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกร หรือ ส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และข้อ 7 (1) ของระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมข้างต้นที่กำหนดว่าเกษตรกรผู้ได้รับมอบที่ดินให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินมีหน้าที่ต้องทำประโยชน์ในที่ดินด้วยตนเองเต็มความสามารถและไม่นำที่ดินนั้น ทั้งหมด หรือบางส่วน ไปให้บุคคลอื่นไม่ว่าจะโดยการขาย ให้เช่า หรือเข้าทำประโยชน์ หรือโดยพฤติกรรมใดๆ ที่แสดงให้เห็นในลักษณะนั้น และถือว่าเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย จึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 150 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พิพากษายกฟ้องผู้ฟ้องคดี (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.551/2562)


          สรุปได้ว่า...เอกสารสิทธิในที่ดิน ส.ป.ก. ไม่ใช่เอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ผู้ที่ได้รับเอกสารมีฐานะเป็นเพียงผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเท่านั้นและที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมนี้จะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกร หรือ ส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และห้ามไม่ให้นำที่ดินนั้น ทั้งหมดหรือบางส่วนไปให้บุคคลอื่นไม่ว่าจะโดยการขาย ให้เช่า หรือเข้าทำประโยชน์ หรือโดยพฤติกรรมใดๆ ที่แสดงให้เห็นในลักษณะนั้น หากฝ่าฝืนย่อมตกเป็นโมฆะ 


          เพราะเจตนารมณ์ของกฎหมายไม่ต้องการให้กรรมสิทธิ์แก่ผู้ถือครองเพื่อป้องกันปัญหาที่ดินหลุดมือไปสู่บุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และเพื่อเป็นการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมอันเป็นการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและการขาดที่ดินทำกินของเกษตรอย่างยั่งยืน

(ปรึกษาคดีปกครองได้ที่ สายด่วนศาลปกครอง 1355)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ