คอลัมนิสต์

ชำแหละกฎหมาย กกต.จัดหนักอนาคตใหม่-แกนนำ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ชำแหละกฎหมาย กกต.จัดหนักอนาคตใหม่-แกนนำ

 

 

          เหตุผลในเอกสารข่าว กกต. ที่ลงมติกรณีพรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินจาก นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค จำนวน 191.2 ล้านบาทนั้น กกต.อ้างอิงข้อกฎหมายว่าเป็นการกระทำฝ่าฝืนมาตรา 72 ของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง จึงให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ ตามกฎหมายฉบับเดียวกัน มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 93

 

 

          ก่อนอื่นมาไล่ดูเนื้อหากฎหมายที่ กกต.อ้างถึงกันก่อน เริ่มจากมาตรา 72 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย”


          เป็นที่น่าสังเกตว่า การเลือกกล่าวโทษพรรคอนาคตใหม่ด้วยข้อหานี้ เป็นการก้าวข้ามข้อถกเถียงหลายๆ เรื่องที่พรรคอนาคตใหม่เคยหยิบมาอ้าง เช่น เงินกู้เป็นรายจ่าย ไม่ใช่รายได้, กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 62 ระบุที่มาของรายได้ของพรรคการเมืองเอาไว้ 7 ช่องทาง แต่ไม่ได้ห้ามการกู้เงิน ทำให้สามารถกู้ได้ ฯลฯ เหล่านี้ กกต.ไม่ต้องหาเหตุผลมาชี้แจงหรือหักล้าง เพราะข้อกฎหมายที่ กกต.ฟ้องคือ เชื่อว่าพรรคอนาคตใหม่รับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ในลักษณะน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย พูดง่ายๆ คือวินิจฉัยข้ามช็อตไปเลย


          บทบัญญัติมาตรา 72 ถ้าอ่านดีๆ ยังเขียนครอบคลุมทั้งการรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ในลักษณะที่ไม่ใช่การบริจาคด้วย ผิดกับที่มีการเก็งข้อสอบในช่วงแรกว่า กกต.อาจกล่าวโทษพรรคอนาคตใหม่ว่ากระทำผิดกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 66 คือตีความว่าเงินกู้เข้าข่ายเป็นเงินบริจาครูปแบบหนึ่ง แต่บริจาคในอัตราที่เกินกว่ากฎหมายกำหนด คือเกิน 10 ล้านบาทต่อคนต่อปี ซึ่งทั้งตัวผู้บริจาค และพรรคการเมืองในฐานะผู้รับบริจาคก็มีความผิดด้วย


          แต่ความผิดตามมาตรา 66 บัญญัติไว้ในมาตรา 124 และ 125 คือมีโทษจำคุกผู้บริจาค ไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี ส่วนทางฝั่งของพรรค ก็มีโทษปรับไม่เกิน 10 ล้านบาท พร้อมริบเงินบริจาคส่วนที่เกินกฎหมายกำหนด (เกิน 10 ล้านบาท) แล้วเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคทั้งหมดเป็นเวลา 5 ปี แต่ทั้งหมดนี้ไม่มีโทษ “ยุบพรรค”

 



          ที่สำคัญก็คือ ความยากหากจะกล่าวโทษพรรคอนาคตใหม่ตามมาตรา 66 ก็คือต้องตีความว่า “เงินกู้” เป็น “เงินบริจาค” ซึ่งอาจไปต่อไม่ได้ในทางข้อเท็จจริง เพราะพรรคอนาคตใหม่อ้างว่ามีการกู้เงิน มีการทำสัญญาเงินกู้ และมีการจ่ายดอกเบี้ย


          ฉะนั้นสุดท้าย กกต.จึงตัดสินใจกล่าวโทษพรรคอนาคตใหม่ ด้วยความผิดตามมาตรา 72 คือรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดซึ่งควรรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาไม่ชอบด้วยกฎหมาย


          ผลของการฝ่าฝืนมาตรา 72 ไปถึงยุบพรรค ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ซึ่งเขียนเอาไว้ชัดเจน ไม่ต้องตีความ และมาตรานี้อยู่ในหมวด “การสิ้นสุดของพรรคการเมือง” โดยตรง


          ส่วนมาตรา 93 เป็นเรื่องของขั้นตอนทางธุรการในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวคือเป็นอำนาจของนายทะเบียนพรรคการเมือง (เลขาธิการ กกต.) ในการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน ก่อนเสนอ กกต.ชุดใหญ่พิจารณา แถมยังเปิดให้การยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กกต.จะยื่นคำร้องเอง หรือมอบหมายให้นายทะเบียน หรือขอให้อัยการสูงสุดช่วยดำเนินการก็ได้


          นอกจากนั้น ยังมีมาตรา 126 ที่เป็นบทลงโทษต่อ “ตัวบุคคล” กล่าวคือ ผู้ดํารงตําแหน่งในพรรคการเมืองผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 72 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น น่าสนใจว่ากฎหมายไม่ได้เขียนระยะเวลาการเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งเอาไว้ แบบนี้จะหมายถึงการตัดสิทธิ์ตลอดชีวิตหรือไม่ ถ้าใช่ก็ต้องถือว่า กกต.จัดหนักจริงๆ


          ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ การยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ ด้วยข้อกล่าวหาตามมาตรา 72 ย่อมหมายความว่า กกต.อาจมีข้อมูลหลักฐานตามสมควรว่า เงินกู้ 191.2 ล้านบาท อาจมีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรืออาจตีความตรงๆ ตามตัวอักษรว่า การที่พรรคอนาคตใหม่ได้เงินกู้ก้อนนี้ เป็นการ “ได้มาโดยควรรู้ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย” ซึ่งหมายถึง “วิธีการได้เงินมา ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” เพราะกฎหมายไม่ได้เขียนเปิดช่องให้พรรคการเมืองกู้เงินได้


          หลักฐานที่ กกต.มีจะไปถึงระดับไหน แค่ตีความตรงๆ หรือมีเชิงลึกว่าเป็นการทำ “นิติกรรมอำพราง” ตามที่มีข่าวมาก่อนหน้านี้หรือไม่ และหากเป็นการทำนิติกรรมอำพราง ก็น่าคิดต่อว่านายธนาธร ในฐานะผู้ให้กู้ และได้แจ้งในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ยื่นต่อ ป.ป.ช.เอาไว้ด้วย จะโดนตรวจสอบต่อไปหรือไม่ในแง่ของความถูกต้องในที่มาของเงินกู้ที่ปรากฏอยู่ในบัญชีทรัพย์สิน


          แต่ทั้งหมดนี้ผู้ที่วินิจฉัยคือศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็จะมีกระบวนการไต่สวนพยานหลักฐาน และเปิดให้ “ผู้ถูกร้อง” โต้แย้งได้อีกรอบหนึ่ง ก่อนจะวินิจฉัยในท้ายที่สุด ซึ่งก็ต้องรอลุ้นกันต่อไป
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ