คอลัมนิสต์

มาม่า1ซองของขวัญปีใหม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มาม่า1ซองของขวัญปีใหม่ บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคม 2562

 

 


          หลังจากคณะกรรมการค่าจ้างมีมติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีก 5 บาทสำหรับ 68 จังหวัด และ 6 บาทสำหรับ 9 จังหวัด ส่งผลให้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศอยู่ที่ 313-336 บาท เริ่ม 1 มกราคม 2563 มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอย่างหนักหน่วง อีกประเด็น นอกจากเป็นการปรับขึ้นเพียงน้อยนิดไม่เพียงพอต่อการครองชีพตามความจำเป็นแล้ว พรรคแกนนำรัฐบาลคือพรรคพลังประชารัฐก็ตกเป็นเป้าอย่างยากจะหลีกเลี่ยง เพราะในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งได้เคยให้สัญญาประชาคมเอาไว้ว่าจะผลักดันค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400-425 บาท ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยบอกว่า แรงงานไม่พอใจไม่มีใครไชโยโห่ร้องกับการปรับขึ้นในอัตราเพียงเท่านี้ เพราะปัจจุบันสินค้า ค่าครองชีพ ปรับขึ้นไปหมดแล้ว ปรับขึ้นมาแค่นี้ซื้อมาม่าเพิ่มได้แค่ห่อเดียว

 

 

 

 

          ในช่วงของการหาเสียงที่เต็มไปด้วยประชานิยม เอาเงินเข้าล่อนั้น นักวิชาการก็ออกมาทักท้วงแล้วว่าเป็นนโยบายที่ทำได้ยาก และขณะนี้ถ้าหากจะปรับให้ครบ 400-425 บาท ตลอดอายุของรัฐบาล ก็ต้องเร่งปรับให้ครบภายในเวลาที่เหลือซึ่งคงจะเป็นไปไม่ได้เลยเพราะต้องปรับเกือบ 100 บาท    ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานให้เหตุผลว่าทั้งหมดได้พิจารณาตามสภาพเศรษฐกิจที่ควรจะเป็น ไม่กระทบฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมากจนเกินไปและเรื่องนี้ทั้งฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างก็ได้ตกลงรับทราบร่วมกันแล้วในที่ประชุม ซึ่งเท่าที่ทราบก่อนจะมีมติวันนั้นมีประมาณ 10 จังหวัดที่จะไม่ได้ขึ้นค่าจ้างด้วยซ้ำ


          ด้านนายจ้าง ข้อมูลบทความชิ้นหนึ่งจากธนาคารแห่งประเทศไทยเคยชี้ไว้ว่า หากจะมองในมุมของนายจ้างหรือภาคธุรกิจซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างรายได้รวมให้แก่ประเทศ ในมิตินี้แรงงานถือเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญที่สุดปัจจัยหนึ่ง ดังนั้นต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้นจะส่งผลให้ต้นทุนของการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้นกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ และอาจทำให้ภาคธุรกิจต้องปรับลดการจ้างงานลงโดยใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงาน ลดกำลังการผลิตลง หรือในกรณีเลวร้ายที่สุดอาจต้องเลิกกิจการ ซึ่งจะส่งผลต่อแรงงานเองในท้ายที่สุดด้วย อีกทั้งค่าแรงที่เพิ่มขึ้นจะคุ้มค่ากับผลิตภาพแรงงานหรือมูลค่าเพิ่มที่แรงงานแต่ละคนสร้างให้สถานประกอบการหรือองค์กรที่ทำงานอยู่หรือไม่

 



          7 อันที่จริงแล้วน้อยครั้งที่การปรับค่าจ้างขั้นต่ำจะสามารถตอบโจทย์หรือสร้างความพึงพอใจในเรื่องค่าครองชีพของแรงงานที่ต้องใช้รายได้ในระดับรับประกันขั้นต่ำนั้นไปเพื่อการเลี้ยงดูครอบครัว และอีกสารพัดปัจจัยในการดำรงชีพ ขณะเดียวกันที่ผ่านมาราคาค่าครองชีพก็ปรับตัวสูงอย่างต่อเนื่อง เช่น ค่าโดยสารรถสาธารณะ ที่ปรับขึ้นไปเมื่อเร็วๆ นี้ ส่งผลทันทีต่อแรงงานในภาคบริการบนรถประจำทาง เพราะอัตราค่าจ้างโดยเฉพาะซึ่งลอยตัวไม่ขึ้นกับค่าจ้างขั้นต่ำก็เพิ่มขึ้น จนปัจจุบันได้มากกว่าค่าจ้างขั้นต่ำถึง 2-3 เท่าต่อวัน ขณะที่ผลิตภาพแทบจะไม่ได้เพิ่มขึ้นตามไปเลย เมื่อเป็นเช่นนี้ฝ่ายการเมืองหรือรัฐบาลก็น่าพินิจพิจารณาว่าแรงงานกลุ่มที่ยังต้องได้รับความคุ้มครองจากค่าจ้างขั้นต่ำนั้นพวกเขาซึ่งกลายเป็นคนชายขอบดำรงชีพอยู่กันได้อย่างไรกับมาม่าซองเดียวที่เพิ่มมา หาใช่เพียงโปรยยาหอมหาเสียงชั่วครั้งคราว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ