คอลัมนิสต์

บทเรียนทางเลียบแม่น้ำ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทเรียนทางเลียบแม่น้ำ บทบรรณาธิการ นสพ.คมชัดลึก ฉบับวันอังคารที่ 10 ธันวาคม 2562

 


          เครือข่าย 35 องค์กร โดยการนำของสมาคมสถาปนิกสยาม สมาคมวิศวกรรมผังเมือง สมาคมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ออกแถลงการณ์ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สั่งระงับโครงการสร้างทางยกระดับเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา มูลค่า 8,300 ล้านบาท ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากสภากทม.ไปเรียบร้อยแล้ว และ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เตรียมเสนอขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี คาดว่า โครงการนี้จะสร้างเสร็จภายใน 18 เดือน เฟสแรกระยะทาง 14 กิโลเมตรสองฝั่งแม่น้ำไปและกลับจากสะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า โดยที่โครงการนี้ริเริ่มขึ้นเมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว แต่ถูกคัดค้านอย่างหนัก จนเรื่องเงียบไป แต่ในความเงียบนั้นชุมชนริมน้ำก็เคลื่อนย้ายออกไป

 


          35 องค์กรให้เหตุผลของการคัดค้านโครงการนี้คือ รัฐบาลควรอนุรักษ์แม่นํ้าเจ้าพระยาเป็นมรดกโลก การพัฒนาพื้นที่ริมนํ้า เพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ต้องคำนึงถึงความเหมาะสม การก่อสร้างถนนคอนกรีตรุกลํ้าลงไปในแม่นํ้าเจ้าพระยาจะทำให้แม่นํ้าแคบลงไปอีก 20% (ตามโครงการฝั่งละ 6 เมตร) โครงการนี้จะทำลายประวัติศาสตร์และสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม ทำลายวิถีชีวิตริมนํ้าอันเป็นเอกลักษณ์ของไทย นอกจากนี้ ยังจะเป็นอุปสรรคขัดขวางการระบายนํ้า เป็นจุดอ่อนไหวให้เกิดนํ้าท่วมกรุงเทพฯ ในระยะยาวได้ และสุดท้าย 35 องค์กรชี้ว่า การที่กทม.ตัดการก่อสร้างในส่วนที่เป็นเกาะรัตนโกสินทร์ออกไป แสดงว่าโครงการนี้มีผลกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน และการศึกษาโครงการอาจไม่รอบคอบพอ


          สำหรับเหตุผลของการสร้างโครงการนี้คือ ต้องการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำ แก้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ริมน้ำ รวมทั้งปัญหาสภาพแวดล้อมและขยะจากชุมชนริมน้ำ แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีความเคลือบแคลงสงสัยเกี่ยวกับระยะเวลาสำหรับกระบวนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม กระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อนำไปสู่การออกแบบที่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมและการใช้สอยประโยชน์ เหนืออื่นใดก็คือ การทำความเข้าใจกับประชาสังคมเกี่ยวกับแผนแม่บท รายละเอียดของข้อมูลสำคัญของโครงการ สุดท้ายก็คือ ผู้ร่วมตัดสินใจโครงการเพื่อนำไปสู่ความชอบธรรม เพราะลำพังคำชี้แจงจากกทม.ที่ผ่านมานั้น ไม่ได้สร้างความกระจ่างให้แก่สังคมสักเท่าไร
 

 

 

          อย่างไรก็ตาม ในหลายประเทศก็สร้างทางเลียบแม่น้ำ เพื่อใช้สอยประโยชน์ที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งก็น่าสนใจว่าประเทศเหล่านั้น ใช้กระบวนการอะไรเพื่อให้โครงการเอื้อประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ สำหรับประเทศไทย กรณีทางเลียบแม่น้ำก็เกิดขึ้นแล้วในหลายๆ แห่งหลายจังหวัด เพียงแต่ไม่เป็นข่าวใหญ่โตเหมือนทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา คำถามก็คือ การดำเนินงานที่ผ่านมา จนถึงกรณีแม่น้ำเจ้าพระยานั้น ประชาชนมีส่วนร่วมด้วยหรือไม่ หลายๆ แห่งทางเลียบแม่น้ำผ่านหน้าบ้านเป็นอุปสรรคกับการใช้สอยประโยชน์จากแม่น้ำ กลายเป็นทัศนะอุจาด มากกว่าที่จะกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อม จึงน่าคิดว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะต้องทบทวนการดูแลรักษาแม่น้ำของประเทศทั้งระบบไม่เฉพาะแต่แม่น้ำเจ้าพระยาเท่านั้น

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ