คอลัมนิสต์

ขีดสุดพิบัติภัย "โขงใส" ไม่เคยเป็น

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รายงานพิเศษ จากหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันที่ 7-8 ธ.ค. 62

 

 

***********************************

 

 

ไม่กี่วันมานี้คนไทยฮือฮาเกี่ยวกับปรากฏการณ์น้ำโขงเปลี่ยนสีใสราวกับท้องทะเลสีคราม ผู้คนพากันไปถ่ายภาพโพสต์ลงสังคมออนไลน์กลายเป็นเรื่องความหรรษาพาเพลิน ตรงกันข้ามกับผู้เชี่ยวชาญมากมายที่ออกมาชี้ตรงกันว่านี่คือสัญญาณอันตราย!

 

ไม่นานมานี้มีคำกล่าวจากทางยูเอ็นว่า เรากำลังอยู่ในยุคสมัยที่มีภัยธรรมชาติเกิดขึ้นทุกสัปดาห์” อาจแปลได้ว่าไม่ว่าจะรุนแรงหรือเล็กน้อย แต่ละครั้งล้วนไม่ปกติ และอาจส่งผลให้โลกไม่เหมือนเดิมอีก ดังนั้นเราควรตั้งรับกันเสียตั้งแต่วันนี้ไม่ใช่เรื่องของอนาคตอีกแล้ว

 

อย่างกับปรากฏการณ์ “น้ำโขงใส” แบบที่ไม่เคยเกิดมาก่อน ในทางวิทยาศาสตร์อธิบายว่าเลวร้ายยังไง ในทางความเชื่อของชาวบ้านพื้นถิ่นเองก็อดไมได้ที่จะโจษขานกันว่าไม่ธรรมดา!

 

 

 

 

สายธารชีวิต

 

เราเห็นกันแล้วกับบรรดารูปที่เผยแพร่ทางสังคมออนไลน์โดยเฉพาะจากเฟซบุ๊ก Nakhonphanom Update ที่เผยภาพของแม่นำ้โขใสแจ๋ว สวยงาม เห็นผิวทรายใต้น้ำ

 

ที่เรียกเสียงฮือฮามากที่สุดคือบริเวณจุดชมวิวแม่น้ำสองสีภายในวัดโขงเจียม ต.โขงเจียม อ.โขงเจียม ที่มีนักท่องเที่ยวจากต่างจังหวัดมาชมทัศนียภาพจุดชมวิวแม่น้ำสองสี ต่างตะลึงและพากันเก็บภาพไว้เป็นที่ระลึก

 

 

ขีดสุดพิบัติภัย "โขงใส" ไม่เคยเป็น

จากเฟซบุ๊ก Nakhonphanom Update ที่เผยภาพของแม่นำ้โขใสแจ๋ว สวยงาม เห็นผิวทรายใต้น้ำ

 

 

นอกจากนี้ยังมีผู้พบเห็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาตินี้จากอำเภอด้านเหนือขึ้นไป ทั้งจาก อ.เขมราฐ อ.นาตาล และอ.โพธิ์ไทร

 

แต่นี่คือความไม่ปกติ! เพราะแม่โขงนั้นมีสีปูนดั้งเดิม ไม่เคยเป็นสีอื่น ดังที่มีคำเรียกว่า “โขงสีปูนมูลสีคราม” จากลักษณะของแม่น้ำสองสีระหว่างแม่น้ำโขงและแม่น้ำมูลอันเป็นความมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นจากการไหลมาบรรจบกันของแม่น้ำสองสาย ณ บริเวณ ดอนด่านปากแม่น้ำมูล บ้านเวินบึก ตำบลโขงเจียม จ.อุบลราชธานี

 

ข้อมูลจากเว็บไซต์ www.mekong.org กล่าวว่า แม่น้ำโขงเป็นหนึ่งในแม่น้ำนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย พื้นที่ลุ่มน้ำโขงเป็นบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งของโลกในแง่ของความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะความหลากหลายของพันธุ์ปลา เป็นรองก็เพียงแม่น้ำอเมซอนเท่านั้น

 

ผู้คนสองฝั่งได้อาศัยน้ำโขงเป็นแหล่งน้ำกินน้ำใช้ทําประมงและยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกด้วย สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตข้าวที่สําคัญของโลก

 

พูดได้ว่าแม่น้ำโขงสร้างคุณประโยชน์นานัปการให้แก่ประชากรมหาศาลล้านคนที่อาศัยอยู่รอบๆ จะมีระดับน้ำที่เพิ่มบ้างลดบ้างตามฤดูกาล

 

 

 

ภัยคุกคาม

 

 

อย่างไรก็ดีช่วงหลังมานี้เราได้ยินข่าวคราวโขงแล้งหนักขึ้นทุกวัน พร้อมๆ กับที่มีการประท้วงการสร้างเขื่อนไซยะบุรี โดยคนลุ่มน้ำโขงทางฝั่งไทยและรัฐบาลกัมพูชาและเวียดนาม

 

สำหรับเขื่อนแห่งนี้เป็นเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตอนล่างแห่งแรก สร้างกั้นแม่น้ำโขงในประเทศลาว กลางปีที่ผ่านมา “องค์กรแม่น้ำนานาชาติ” มีการโพสต์เฟซบุ๊กระบุสาเหตุที่แม่น้ำโขงแล้งว่ามาจาก 3 สาเหตุหลักดังนี้

 

1.ปริมาณน้ำฝนที่น้อยทั้งภูมิภาค ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงน้อยลง ทั้งที่เป็นช่วงฤดูมรสุม 2.เขื่อนจิงหง ที่กั้นแม่น้ำโขงตอนบนในยูนนาน ลดการระบายน้ำเหลือเพียง 500 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยอ้างว่าเพื่อซ่อมแซมระบบสายส่งไฟฟ้า และ 3.เขื่อนไซยะบุรี ที่เวลานั้นการสร้างมีความคืบหน้า 99.3% อยู่ในขั้นตอนทดสอบระบบผลิตกระแสไฟฟ้าจากเครื่องกำเนิดทั้งหมด 7 เครื่อง

 

 

 

ขีดสุดพิบัติภัย "โขงใส" ไม่เคยเป็น

แม่น้ำโขงตอนบน จีนได้ให้สัมปทานแม่น้ำ และก่อสร้างเขื่อนในยูนนาน เริ่มสร้างตั้งแต่ปี 2536 lร้างเสร็จไปแล้ว 11 เขื่อน

จากที่วางแผนไว้ทั้งหมด 28 โครงการ ภาพจากเฟซบุ๊ก Pai Deetes

 

 

 

ทั้งหมดนี้เป็นเหตุให้แม่น้ำโขงลดระดับอย่างรวดเร็ว กุ้งหอย ปูปลา หนีน้ำลงไม่ทัน ติดค้างตายตามหาด/แก่ง

 

วันนั้นองค์กรแม่น้ำนานาชาติกล่าวว่า นี่แค่ปฐมบทเพราะวันนี้ยังอีกหลายเดือนกว่าที่จะถึงวันผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ของเขื่อนไซยะบุรี ในเดือนตุลาคม 2562 และจะเป็นไปอย่างนั้นอีก 29 ปี ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า PPA ถึงวันนั้นที่เริ่มผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ เขื่อนไซยะบุรี จะต้องกักเก็บ/ยกระดับน้ำ-ระบายน้ำ รายวัน แล้วผลกระทบจะรุนแรงกว่านี้อีกแค่ไหน?

 

แต่ที่แน่ๆ นี่คือวิกฤติที่ต้องดำเนินการแก้ไขทันที และไม่ควรเกิดซ้ำอีก ทุกข์ยากเพราะสถานการณ์ภัยแล้งในภูมิภาคประชาชนยังอาจจะพอรับได้ สามารถทนได้ แต่ความทุกข์ยาก ถูกซ้ำจากเขื่อน ทั้งเขื่อนจีน เขื่อนไทย/ลาว

 

ถึงเวลาที่ควรหันมาดูแลระบบนิเวศกันก่อน

 

 

 

สวยซ่อนร้าย

 

ดูเหมือนว่าปรากฏการณ์ “โขงใสไม่เคยเป็น” อาจเป็นคำเตือนแรกๆ ของผลพวงอันน่ากลัวจากการสร้างเขื่อน อย่างน้อยโลกออนไลน์ก็ทำให้เรารู้สึกว่านี่มัน “ใกล้ตัว” ขึ้นเรื่อยๆ จากที่เคยเพิกเฉยเพราะชีวิตไม่ได้ข้องเกี่ยวกับน้ำโขง

 

แถมเมื่อได้รับรู้ถึงความอันตรายจากปรากฏการณ์ที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ อธิบายไว้ก็ยิ่งขนลุก

 

เช่นบทความจาก www.internationalrivers.org/dams-and-geology ของ Partick McCully เจ้าของหนังสือ Silenced Rivers มีเนื้อหาที่ระบุว่าปรากฏนี้เรียกว่าการ “หิวตะกอน” หรือ hungry water effect

 

 

ขีดสุดพิบัติภัย "โขงใส" ไม่เคยเป็น

โขงใสภาพจากเฟซบุ๊ก Nakhonphanom Update 

 

 

 

กล่าวคือเมื่อแม่น้ำทุกสายต่างนำพาตะกอนดินและหินจากที่ที่แม่น้ำไหลผ่าน แต่อ่างเก็บน้ำของเขื่อนต่างๆ กักเก็บตะกอนเหล่านี้ไว้ส่วนหนึ่ง ทำให้แม่น้ำทางตอนล่างของเขื่อนมีอาการ “หิว” ตะกอน ก็จะพยายามดึงตะกอนเพื่อเข้ามาเติมเต็ม ก็บรรดาตะกอนจากตลิ่งสองฝั่งน้ำและจากท้องน้ำนั่นแหละ ผลคือจะทำให้เกิดการกัดเซาะท้องน้ำและตลิ่ง และอาจจะยิ่งส่งผลกระทบรุนแรงยิ่งขึ้นทางท้ายน้ำลงไปเรื่อยๆ

 

และเมื่อท้องน้ำเปลี่ยนไปปราศจากก้อนกรวดเล็กๆ ซึ่งเป็นที่วางไข่และหากินของปลาสายพันธุ์ต่างๆ โดยเฉพาะปลาที่อาศัยอยู่บริเวณท้องน้ำ รวมทั้งหอยและสัตว์น้ำเปลือกแข็งชนิดต่างๆ ซึ่งสัตว์หน้าดินเหล่านี้เป็นอาหารสำคัญของปลาและบรรดานกน้ำ ฯลฯ บอกเลยนี่คือหายนภัยชัดๆ 

 

 

 

ขีดสุดพิบัติภัย "โขงใส" ไม่เคยเป็น

แม่น้ำโขงสีปูนดั้งเดิมที่เป็นมาช้านาน

 

 

 

สอดคล้องกับข้อมูลของนักวิชาการกลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำโขงบ้านเรา ที่ระบุว่าการที่ระดับน้ำโขงที่เป็นสีฟ้าครามคล้ายน้ำทะเล เพราะแม่น้ำโขงปริมาณต่ำ ทำให้น้ำนิ่งจนเกิดการตกตะกอนใส บวกกับการทำปฏิกิริยาระหว่างหินทราย ทำให้มองเห็นเป็นสีฟ้าครามสวยงาม

 

แต่ข่าวรายงานว่า อาทิตย์ พนาศูนย์ ประธานชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า สาเหตุไม่เฉพาะจากการสร้างเขื่อนของจีนและลาวเสียทีเดียวทั้งหมด แต่ยังเพราะภาวะโลกร้อนที่ทำให้ธรรมชาติถูกทำลายอีกด้วย

 

 

 

ความเชื่อ ความจริง

 

มาถึงในมิติวัฒนธรรมความเชื่อกันบ้าง วันนี้ปรากฏการณ์โขงใสทำให้ชาวบ้านอดคิดถึงตำนานพญานาคไม่ได้

 

อย่างที่รู้กันว่าพื้นที่ลุ่มน้ำโขงมีตำนานที่เล่าสืบทอดกันมาเรื่อง พญานาค’ ว่ามีถิ่นอาศัยอยู่บริเวณนี้ โดยเป็นดินแดนที่เชื่อว่าเป็น ‘วังบาดาล’ ช่วงหนึ่งที่ข่าวคราวโขงแห้งจากการสร้างเขื่อนก็มีผู้คนตั้งข้อสังเกตว่าวังบาดาลจะเป็นอย่างไรเมื่อน้ำแห้งเหือดหายไป

 

สำหรับความเชื่อตำนานพญานาคนั้นมีมานานในหลากหลายมิติ เช่น เรามีตำนานความเชื่อเรื่องนาคให้น้ำ อันเป็นเกณฑ์ที่ชาวบ้านใช้วัดในแต่ละปี เช่นจำนวนนาคให้น้ำมีไม่เกิน 7 ตัว ถ้าปีไหนอุดมสมบูรณ์มีน้ำมากเรียกว่า “นาคให้น้ำ 1 ตัว” แต่หากปีไหนแห้งแล้งเรียกว่าปีนั้น มีนาคให้น้ำ 7 ตัว” จะวัดกลับกันกับจำนวนนาคก็คือที่น้ำหายไปเกิดความแห้งแล้งก็เพราะพญานาคเกี่ยงกันให้น้ำ แต่ละตัวจึงกลืนน้ำไว้ในท้องไม่ยอมพ่นน้ำลงมา

 

หรือเรามักเห็นสัญลักษณ์นาคตามงานจิตรกรรม ประติมากรรม หัตถกรรม อาคารสถานที่ ฯลฯ หรือตำนานพญานาค “มุจลินท์” ที่แผ่พังพานปกพระพุทธเจ้าจากลมฝน ตลอดจนเรื่องนาคแปลงกายเป็นมนุษย์มาขอบวช ฯลฯ

 

 

 

ขีดสุดพิบัติภัย "โขงใส" ไม่เคยเป็น

งาน "กฐินน้ำบูชาพญานาค" ที่แม่น้ำโขง จ.มุกดาหาร บูชาพญานาค 9 ตน

 

 

 

มาวันนี้ มื่อโขงใสแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ชาวบ้านบางกลุ่มเห็นแล้วก็นึกถึง “สระมรกต” ในเมืองบาดาล ด้วยความเชื่อว่าบนโลกมีจุดเชื่อมระหว่าง “โลกมนุษย์” และ “เมืองบาดาล” โลกใต้พิภพซึ่งเป็นที่อยู่ของพญานาค

 

และการที่น้ำโขงใสประหลาดหนนี้ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนอย่างน้อยก็ชั่วอายุคนคนหนึ่ง ย่อมมีความเกี่ยวข้องกันทางใดทางหนึ่งแน่นอน

 

แต่หลายเสียงจากโลกออนไลน์ก็หวังว่าจะไม่ร้ายแรงขนาดผู้รู้ว่ากันไว้ นี่ยังช่วยทำให้ท่องเที่ยวริมโขงคึกคักขึ้นมาบ้างก็ยังดี

 

ที่แน่ๆ “ปรากฏการณ์น้ำหิว” (hungry water effect) ฟังชื่อแล้วน่ากลัวยังไง ถ้าเรื่องจริงที่ตามมาหลังจากนั้นถึงขั้นระบบนิเวศ “พัง” ก็คงน่ากลัวสุดๆ ไปเลย

 

*******************************

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ