คอลัมนิสต์

โต๊ะพูดคุยดับไฟใต้คืบ นัดถก บีอาร์เอ็น กลุ่มฮัสซัน ตอยิบ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โต๊ะพูดคุยดับไฟใต้คืบ นัดถก บีอาร์เอ็น กลุ่มฮัสซัน ตอยิบ

 

 

          หลังแถลงข่าวเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2562 ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย สำหรับคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ “ชุดใหม่” (แต่หน้าเดิมบางส่วน) นำโดย พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ อดีตเลขาธิการ สมช.

 

 

          ผ่านมาไม่กี่วัน ก็มีข่าวดีเกี่ยวกับ “โต๊ะพูดคุย” ทันที เพราะมีข่าวที่ได้รับการยืนยันจากหลายแหล่งว่า จะมีการพบปะหารืออย่างไม่เป็นทางการกับ “ผู้แทนกลุ่มบีอาร์เอ็น” ในช่วงปักษ์แรกของเดือนธันวาคมนี้ โดยนัดกันที่ประเทศอินโดนีเซีย


          ความพยายามในการพูดคุยกับแกนนำบีอาร์เอ็น โดยเฉพาะสายคุมกำลัง หรือสายฮาร์ดคอร์ มีมาตลอด และมีข้อเรียกร้องชัดเจนขึ้นจากฝ่ายรัฐบาลไทยตั้งแต่ยุคที่ พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ หรือ “บิ๊กเมา” อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ทำหน้าที่หัวหน้าคณะพูดคุยฯ (ไตรมาสสุดท้ายของปี 61 ถึงก่อนสิ้นปีงบประมาณปี 62) กระทั่งในการแถลงข่าวล่าสุดของ พล.อ.วัลลภ ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยฯ คนใหม่ เมื่อวันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน ก็เน้นย้ำท่าทีนี้อย่างชัดเจน

 

 

 

โต๊ะพูดคุยดับไฟใต้คืบ นัดถก บีอาร์เอ็น กลุ่มฮัสซัน ตอยิบ

 


          โดยช่องทางที่ใช้คือ ประสานงานผ่านผู้อำนวยความสะดวกของรัฐบาลมาเลเซีย ตัน สรี อับดุล ราฮิม บิน โมห์ด นูร์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และอดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลมาเลเซีย


          มีรายงานว่า แม้กระบวนการพูดคุยกับกลุ่ม “มารา ปาตานี” ที่เป็น “องค์กรร่ม” ของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ 6 กลุ่ม และพูดคุยกับรัฐบาลไทยมาตั้งแต่ปี 58 จะหยุดชะงักไปตั้งแต่ต้นปี 62 และนายสุกรี ฮารี หัวหน้าคณะพูดคุยฯ ฝ่ายมารา ปาตานี ได้ลาออกจากการทำหน้าที่ไปด้วย แต่คณะทำงานเทคนิคฯ หรือฝ่ายเลขาฯ ของคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฝ่ายรัฐบาลไทย ก็ได้พยายามประสานงานและพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐในทางลับตลอดมา รวมถึงแกนนำบางส่วนจากกลุ่ม “มารา ปาตานี” เองด้วย




          และทีมงานหลักๆ ของฝ่ายเลขาฯ ชุดนี้ ก็ทำงานต่อเนื่องมาตั้งแต่ยุค พล.อ.อุดมชัย เป็นหัวหน้าคณะพูดคุย กระทั่งถึงยุคที่ พล.อ.วัลลภ มารับไม้ต่อ ด้านหนึ่งได้ใช้องค์กรระหว่างประเทศองค์กรหนึ่ง ประสานจัดวงพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐแบบไม่เลือกกลุ่ม โดยใช้สถานที่ในแถบยุโรป ซึ่งองค์กรระหว่างประเทศองค์กรนี้เคยมีบทบาทเป็น “ตัวกลาง” ประสานให้เกิดการพูดคุยระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐมาแล้ว ในการพูดคุยเจรจาแบบปิดลับในยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (ปี 52-54)

 

 

โต๊ะพูดคุยดับไฟใต้คืบ นัดถก บีอาร์เอ็น กลุ่มฮัสซัน ตอยิบ

 


          ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ฝ่ายเลขาฯ ก็ประสานผ่านทางผู้อำนวยความสะดวก รัฐบาลมาเลเซีย ให้ดึงกลุ่มบีอาร์เอ็น โดยเฉพาะสายคุมกำลัง มาร่วมโต๊ะพูดคุย เนื่องจากฝ่ายความมั่นคงไทยเชื่อว่า บีอาร์เอ็นคือขบวนการหลักที่มีอิทธิพลสูงสุดต่อสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา


          และแม้จะมีข่าวมาหลายครั้งว่า ผู้อำนวยความสะดวกพยายามประสานให้ นายดูนเลาะ แวมะนอ ซึ่งทางการไทยเชื่อว่าผู้นำสูงสุดของบีอาร์เอ็นสายคุมกำลัง มาร่วมโต๊ะพูดคุย ทว่ายังไม่ประสบความสำเร็จก็ตาม แต่ปรากฏว่าล่าสุดได้มีการนัดพบกันระหว่างทีมผู้อำนวยความสะดวก กับแกนนำบีอาร์เอ็นสายฮาร์ดคอร์จำนวนหนึ่งที่มาเลเซีย เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน กระทั่งมีการส่งสัญญาณการนัดพบกันระหว่างคณะทำงานเทคนิคฯ ของคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลไทย กับผู้แทนบีอาร์เอ็น ในประเทศอินโดนีเซีย ในช่วงปักษ์แรกของเดือนธันวาคม


          มีรายงานว่าผู้แทนบีอาร์เอ็นที่คาดว่าฝ่ายรัฐบาลไทยจะได้พบ คือ กลุ่มของนายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำบีอาร์เอ็นที่เคยร่วมโต๊ะพูดคุยสันติภาพ (ชื่อกระบวนการพูดคุยที่ใช้ในขณะนั้น) กับรัฐบาลไทยในยุค น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และมีคณะพูดคุยฯ ที่นำโดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม (ทั้งหมดเป็นตำแหน่งในขณะนั้น) เป็นหัวหอก


          ล่าสุดมีข่าวการเตรียมประเด็นพูดคุยที่อินโดนีเซียเอาไว้แล้ว โดยจะเป็นการหารือเรื่อง “กรอบการพูดคุย” ว่าจะดำเนินการกันอย่างไร ซึ่งมีการกำหนดเอาไว้คร่าวๆ ว่า จะเป็นการพูดคุยกันของคณะทำงานเทคนิคร่วมฯ เดือนละ 2 ครั้ง และให้คณะพูดคุยฯ ชุดใหญ่พบปะกัน 2-3 เดือนต่อ 1 ครั้ง


          สำหรับนายฮัสซัน ตอยิบ เคยเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ ในกระบวนการพูดคุยสันติภาพของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งการพูดคุยมีความคืบหน้าไประดับหนึ่ง กระทั่งมีการส่งข้อเรียกร้อง 5 ข้อในนามบีอาร์เอ็นมายังรัฐบาลไทย ปรากฏว่าฝ่ายไทยมองว่าเป็นข้อเรียกร้องที่ไม่สามารถปฏิบัติตามได้ ประกอบกับเกิดปัญหาการเมืองภายใน มีการชุมนุมขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทำให้การพูดคุยหยุดชะงักไป และล่มลงในที่สุดเป็นที่น่าสังเกตว่า หากโต๊ะพูดคุยรอบใหม่กับบีอาร์เอ็นเป็นการพูดคุยกับกลุ่มของนายฮัสซัน ตอยิบ จริง จะมีการปัดฝุ่นข้อเรียกร้อง 5 ข้อขึ้นมาเสนอซ้ำอีกหรือไม่ และอนาคตของกระบวนการพูดคุยจะยืนยาวกระทั่งมีข้อตกลงบางอย่างที่มีนัยสำคัญต่อความสันติสุขชายแดนใต้ได้หรือเปล่า


          เพราะก็มีรายงานจากฝ่ายความมั่นคงไทยบางปีกระบุว่า หลังเปิดตัวพูดคุยสันติภาพกับรัฐบาลไทยเมื่อปี 55 นายฮัสซันก็ถูกลดบทบาทในโครงสร้างระดับบริหารของบีอาร์เอ็น และสำหรับการพูดคุยรอบใหม่นี้ ฝ่ายคุมกำลัง สายฮาร์ดคอร์ ตลอดจน นายดูนเลาะ แวมะนอ ก็ยังคงนิ่งเงียบและสงวนท่าที

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ