คอลัมนิสต์

มุมมองนักการเมือง กับ นโยบายสาธารณะ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เสวนา คนรุ่นใหม่กับการมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายสาธารณะ 4 นักการเมือง ให้มุมมองสร้างระบบสุขภาพ-การศึกษา-เศรษฐกิจ-สิ่งแวดล้อม

              เป็นการระดมความเห็นอีกครั้ง กับการเสนอแนวทางแก้ปัญหาต่างๆ ในประเทศไทย ในเวทีสนทนาสาธารณะ YOUTH ENGAGEMENT กับหัวข้อ “คนรุ่นใหม่กับการมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายสาธารณะ” ณ ห้องประชุม ดร.เทียม โชควัฒนา คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งรูปแบบการจัดเวทีสนทนา ได้เชิญตัวแทนนักการเมือง ร่วมพูดคุย ตอบคำถามที่กลุ่มนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สะท้อนปัญหาขึ้นมาทั้งด้านการศึกษา เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งคำถามจากผู้ที่ลงทะเบียนออนไลน์ร่วมงานดังกล่าว

         

        โดยการสนทนาสาธารณะ ครั้งนี้มี “นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง” อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีต รมว.คลัง พรรคเพื่อไทย , “นางสาววทันยา วงษ์โอภาสี” ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ หรือมาดามเดียร์ , “นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ และ “นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือไอติม” ร่วมแสดงทัศนะ

          มุมมองนักการเมือง กับ นโยบายสาธารณะ

       ซึ่งคำถามที่น่าสนใจเกี่ยวกับการแก้ปัญหาสุขภาพและบริการด้านสาธารณสุข โดย “ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ” ได้แสดงมุมมองความสำคัญการป้องกันโรคภัยไข้เจ็บว่า ในขณะที่เวลานี้มีแนวโน้มเรื่องปัญหาโรคติดต่อไม่เรื้อรังสูงขึ้น เช่น เบาหวาน มะเร็ง โรคหัวใจ ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาตามมาเรื่องค่าใช้จ่าย ต้องไปหาหมอตรวจอาการซ้ำอยู่เรื่อยๆ ขณะที่เวลานี้เรากำลังเจอกับสังคมสูงวัยต่อไปก็อาจจะพบโรคภัยไข้เจ็บมากขึ้น ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลมากขึ้น กับสภาพแวดล้อมที่มีปัญหาเรื่องภูมิอากาศระบบหายใจ อย่างปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก pm 2.5 ที่เคยพบ แล้วเราจะแก้ปัญหาอย่างไรเกี่ยวกับสุขภาพซึ่งตนเป็นห่วงเรื่องเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลว่า จะลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลอย่างไร จะเอางบจากไหนมาอุดหนุน

          มุมมองนักการเมือง กับ นโยบายสาธารณะ

     “ ดังนั้นผมเห็นว่าควรแบ่งแนวทางแก้ปัญหาเป็น 2 ด้าน คือการลดค่าใช้จ่ายทำได้ 4 วิธีการ คือ 1.ทำให้คนไทยไม่ป่วยตั้งแต่ต้น โดยการปรับพฤติกรรมให้คนมาสนใจดูแลสุขภาพ ออกกำลังกายให้มากขึ้น กินอาหารที่เป็นประโยชน์ ดื่มสุราน้อยลง และการใช้เทคโนโลยีจีโนมิกส์ ที่จะให้คนที่ยังไม่ป่วยมาเช็คสแกนพันธุกรรมแล้วสามารถอ่านค่าได้ว่า คนนั้นมีความเสี่ยงจะเป็นโรคอะไรได้บ้าง โดยเมื่อรู้ความเสี่ยงแล้วก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติการณ์ได้แต่เนิ่นๆ โดยอดีตค่าใช้จ่ายสแกนอาจเป็นหลักล้าน แต่ปัจจุบันลดลงเรื่อยจนมาอยู่ที่หลักหมื่น ดังนั้นในอนาคตหากเราทำได้ค่าใช้จ่ายลดลงมาได้จะทำให้ประชาชนเข้าถึงได้ 2.ทำอย่างไรจะให้คนไม่ต้องไปโรงพยาบาล เช่น ครั้งแรกที่วินิจฉัยโรคแล้วทราบว่าเป็นโรคเบาหวาน แต่การตรวจครั้งต่อไปในการ follow up เช็คอาการของโรค เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะมีเทคโนโลยีทำให้เราพูดคุยกับหมอผ่านมือถือได้ หากทำได้ก็ปรับกฎหมายให้ตามทันในเรื่องการรักษาผ่านหมอบนมือถือ จะได้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเดินทางไปโรงพยาบาล 3.เมื่อป่วยแล้วจำเป็นต้องไปโรงพยาบาลที่แพงที่สุด ซึ่งสิ่งที่ท้าทายระบบสาธารณสุขไทยคือเรื่องการคัดกรองคนไข้ ให้ได้พบหมอผู้เชี่ยวชาญโดยใช้เวลาได้มากที่สุดสำหรับคนไข้ที่ต้องการความช่วยเหลือเฉพาะด้านจริงๆ ซึ่งเราต้องปรับโครงสร้างในการพัฒนาความก้าวหน้าทางอาชีพของหมอไปด้วย 4.หากจำเป็นจริงแล้วต้องแอดมิด เป็นไปได้หรือไม่ที่ไม่ต้องอยู่นาน ให้ลดเวลาในการแอดมิด ซึ่งเราจะต้องทำให้เครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขที่สามารถติดตามคนไข้ติดเตียงเข้มแข็งมากขึ้น เพื่อว่าเมื่อคนไข้รักษาอาการแล้วกลับไปอยู่บ้านได้ใกล้ชิดครอบครัว และลดค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลด้วย”

      พริษฐ์ ยังมองว่านอกจากการลดค่าใช้จ่ายแล้ว ก็ต้องหาทางเพิ่มรายได้ด้วย ก็มี 2 แนวทาง คือ 1.จะเป็นไปได้หรือไม่ หาโอกาสให้ผู้สูงอายุมีอาชีพที่อาจจะมีโรคมากขึ้น ได้มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยเราส่งเสริมผู้ประกอบการให้จ้างผู้สูงอายุมากขึ้นโดยจูงใจด้วยมาตรการลดหย่อนภาษี 2.การรณรงค์ให้คนไทยรู้จักออม โดยปัจจุบันคนไทยเจอหนี้สินเยอะมากเพราะส่วนหนึ่งออมไม่พอ ขณะที่กลุ่มงานมีแค่ 50% อยู่ในระบบ เช่น ข้าราชการ พนักงานบริษัท ซึ่งบริษัทจะบังคับถูกตัดเปอร์เซ็นต์ออมอยู่แล้วเป็นกองทุนในวันเกษียณ แต่กลุ่มแรงงานนอกระบบหรือฟรีแลนซ์ อาชีพอิสระ ไม่มีใครบังคับให้ออมก็ขึ้นกับวินัยและพฤติกรรมแล้ว ดังนั้นต้องหาแรงจูงใจให้คนสร้างวินัยการออม หรือหามาตรการที่หักเป็นค่าใช้จ่ายแล้วเก็บไว้ให้เป็นเงินลักษณะกองทุน

      “ ขณะที่ปัญหาการศึกษาที่นิสิตสะท้อนเรื่องที่เคยพูดถึงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ มีจริงหรือ..? Learning by doing แล้วทำให้เด็กรู้สึกตัวว่าชอบอะไรจริงหรือไม่ กับปัญหาคุณภาพการศึกษาไทยไม่เท่าเทียมเด็กไทยต้องพบกับความเหลื่อมล้ำ”

        “นางวทันยา หรือมาดามเดียร์” ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ แสดงทัศนะว่า ในเรื่องการบริหารจัดการวางโครงสร้างระบบการศึกษาของประเทศ ควรให้แต่ละหน่วยงานแต่ละองค์กรสามารถดีไซน์รูปแบบการเรียนการสอนของตัวเองได้ เช่น มหาวิทยาลัยชุมชน หน่วยงานภาครัฐก็เคยมีนโยบายส่งเสริมให้แต่ละศูนย์การเรียนการสอนสามารถดีไซน์หลักสูตรที่เหมาะกับแต่ละชุมชนได้ ซึ่งภาครัฐคงต้องมามุ่งเน้นและให้ความสำคัญตรงนี้เพิ่มมากขึ้นกับปัญหาบุคลาการ คือ ครูที่เป็นเรื่องใหญ่ก็ต้องได้รับการแก้ไขทั้งเรื่องสวัสดิการ-วิธีการประเมิน ทั้งหมดต้องแก้ในองค์รวมพร้อมๆ กัน แล้วใครจะเข้ามาช่วยบ้างจะเริ่มจากตรงไหนนั้น ภาครัฐต้องเป็นแกนหลักเริ่มต้นแต่คงแก้ไม่ได้ลำพังซึ่งกลุ่มนักเรียน นักศึกษาสามารถร่วมสะท้อนเสียงเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน กับคำถามว่าจะเริ่มเมื่อใดจริงๆ กับเรื่องการศึกษาควรแก้อย่างเป็นรูปธรรมเมื่อนานมากแล้ว และหากเริ่มแก้ช้าประเทศจะยิ่งสูญเสียโอกาสมากขึ้น 

                 มุมมองนักการเมือง กับ นโยบายสาธารณะ

      “อยากฝากว่าวันนี้ในกระบวนการศึกษาไทยเรามักจะพูดถึงเรื่องการสร้างนักศึกษาอย่างไรให้มีความสามารถในการแข่งขันประกอบอาชีพในอนาคต แต่เราไม่ได้พูดว่าจะทำอย่างไรให้เสริมทักษะเรื่องอารมณ์กับเด็กที่จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีภาวะความเป็นผู้ใหญ่เพียงพอที่จะเป็นผู้นำและเป็นผู้ตามที่จะอยู่ในสังคมได้”

        นอกจากนี้ยังมีประเด็นเกี่ยวกับอนาคตเศรษฐกิจไทยที่นิสิตสะท้อนปัญหาว่าภาครัฐไม่รู้ว่าตัวเองควรทำอะไรเพื่อพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน 

             มุมมองนักการเมือง กับ นโยบายสาธารณะ

     ซึ่ง “นายกิตติรัตน์” อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีต รมว.คลัง กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการกำหนดนโยบายผิดพลาดไม่เหมาะสมมาหลายครั้ง ดังนั้นในการแก้ปัญหาเรื้องรังต้องแก้ปัญหาระยะสั้น คือ ต้องรักษาบริษัทที่มีตลาดส่งออกไว้ไม่ให้ปิดเป็นรายวัยรายสัปดาห์ไปเรื่อยๆ เราแค่โชคดีที่เงินบาทแข็งตัว ดังนั้นต้องรักษาการส่งออกไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหารุมเร้า และปัญหาว่างานตามมา ส่วนเรื่องกำลังซื้อในประเทศเช่นเอาเงินให้คนซื้อของไม่ได้ส่งเสริมจีดีพีเติบโต อย่างไรก็ดีในส่วนของภาครัฐต้องกล้ากู้เงินลงทุน แต่ต้องลงทุนในสิ่งที่ควร

และอีกประเด็นที่นิสิตให้ความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่เน้นเรื่องมลพิษทางอากาศเป็นปัญหาเรื้อรังกับชีวิต มีแนวทางในการลดปัญหามลพิษจากยานพาหนะอย่างจริงจังอย่างไร 

“นางสาว วทันยา หรือมาดามเดียร์” ส.ส.พปชร. มองว่า การแก้ต้นตอมลพิษทางอากาศนั้น คือลดการเผา และอีกส่วนปัญหาฝุ่นพิษจากประเทศเพื่อนบ้าน จากสภาพป่าเสื่อมโทรมที่ไม่อาจทำหน้าที่ฟองน้ำตรวจจับมลพิษ ดังนั้นจึงต้องฟื้นฟูสภาพป่า รวมทั้งสร้างอาชีพพื้นที่ทำกินให้ชาวบ้านจะไม่รุกล้ำพื้นที่ป่า ไม่ทำให้เกิดป่าเสื่อมโทรม และสร้างพื้นที่สีเขียวใน กทม. สุดท้ายต้องทำงานบูรณาการทุกภาคส่วน ปลุกจิตสำนึกร่วมกันให้มีหน่วยงานเข้ามาคอยมอนิเตอร์ควบคุมปัญหาได้ต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่เฉพาะปีต่อปีกับการผลักดันกฎหมายสะอาด

ด้าน “นายธนาธร” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ภาครัฐควรต้องทำเรื่องมาตรฐานยูโร 5 (Euro 5 ระบบเครื่องยนต์ไอเสียสะอาดทั้งเครื่องเบนซินและดีเซล) ให้ใช้ได้จริงจัง 2.การทำงานร่วมกับเพื่อนบ้านในภูมิภาคอย่างจริงจัง ที่ใช้วิธีเจรจากันป้องกันมลพิษจากการเผาป่า เช่น พม่า-ลาว เราสามารถเอามาตรการการค้า-การทูตมาใช้เจรจา ให้เขาลดเรื่องการเผาป่า โดยตนเห็นด้วยกับนางวทันยา ที่ควรผลักดันกฎหมายให้คนอยู่กับป่าได้จริงๆ ไม่ลุกล้ำ ส่วนในเมืองลดมลพิษทางอากาศควรผลักดันรถไฟรางคู่และการสร้างเส้นเลือดฝอยเพื่อให้เส้นทางสัญจรเข้าถึงชุมชนต่างๆ เชื่อมกับระบบรถไฟฟ้าที่มีอยู่แล้วที่ถือเป็นเส้นเลือดหลัก

         มุมมองนักการเมือง กับ นโยบายสาธารณะ

ขณะที่ปัญหาสุดท้ายที่นิสิตและประชาชนให้ความสนใจกับผู้แทนนักการเมือง คือ ทำไมจึงเข้าทำการเมือง

 โดย “นายกิตติรัตน์” อดีตรองนายกฯ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ที่ตนเสนอตัวเข้ามาทำการเมืองตั้งแต่ปี 2554เพราะอยากสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีมาสู่ประเทศโดยเฉพาะการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ ซึ่งก็ขอชวนคนที่ความกล้าหาญ ความเข้มแข็ง ความเสียสละเสนอตัวมาสู้การเมืองเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง และขอให้คนที่มีอำนาจหน้าที่ได้โปรดรับฟังข้อมูล-ความคิดที่ผู้คนจำนวนมากที่สะท้อนผ่านมาทุกช่องทางรวมทั้งสื่อโซเชียล สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดี

ด้าน “นางสาวทันยา หรือมาดามเดียร์” กล่าวว่า ตนเห็นเหมือน ส.ส.หลายคนว่าเราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองในทางที่ดีขึ้น โดยเมื่อมีโอกาสลงพื้นที่มีโอกาสพูดคุยชาวบ้านก็ได้เห็นปัญหาแต่ละภูมิภาคก็ยิ่งเกิดแรงบันดาลใจอยากแก้ปัญหา

ส่วน “นายธนาธร” หัวหน้าพรรค อนค. กล่าวว่า ถามว่าทำไมผมจึงเข้ามาสู่การเมือง ถ้าคุณเกิดในปี 2500 คุณจะผ่านเหตุการณ์รัฐประหารมา 8 ครั้ง คุณเกิดในปี 2510 จะผ่านเหตุการณ์รัฐประหารมา 6 ครั้ง เกิดปี 2520 จะผ่านรัฐประหารมา 4 ครั้ง หากเกิดในปี 2530 ผ่านรัฐประหารมา 3 ครั้ง เกิดปี 2540 ผ่านรัฐประหารมา 2 ครั้ง เกิดปี 2550 ผ่านรัฐประหารมา 1 ครั้ง ดังนั้นที่ผมเข้ามาทำงานการเมืองเพื่อจะให้คนที่เกิดในปี 2560 ไม่ต้องเจอรัฐประหารอีกเลยในชีวิตเขา สำหรับผมไม่ว่าจะเป็นใคร นับถือ-ไม่นับถืออะไร เพศอะไร คุณควรต้องมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกันผมจึงเสียสละมาทำงาน

และ “ไอติม พริษฐ์ วัชรสินธุ” กล่าวว่า ตนก็อยากเห็นสังคม ประเทศ คนไทย มีโอกาสประสบความสำเร็จเท่ากันลักษณะความสามารถนิยม และการเข้าถึงการศึกษา เข้าถึงระบบสาธารณสุข ระบบขนส่ง ซึ่งก่อนจะเข้ามาสู่วงการเมืองก็ต้องถามก่อนว่าเราอยากเห็นบ้านเมืองเป็นอย่างไร เพราะหากไม่รู้แล้วพอเข้ามาจะหลงเป้าหมาย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ