คอลัมนิสต์

เมื่อข้าวไทยเสียแชมป์(อีกแล้ว)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เมื่อข้าวไทยเสียแชมป์(อีกแล้ว) บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันอังคารที่ 4 ธันวาคม 2562

 

 

 

          ข้าวไทยมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลกมาช้านาน โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ ที่มีรสชาติถูกปาก กลิ่นหอมชวนรับประทาน แต่มาถึงวันนี้ ข้าวหอมมะลิของไทยต้องเสียแชมป์ให้แก่ข้าวพันธุ์ เอสที 24 ของประเทศเวียดนามอีกครั้งในการจัดประกวดข้าวโลก 2019 ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ หลังจากที่เมื่อปี 2018 เคยเสียแชมป์ให้แก่ข้าวกัมพูชา การประกวดครั้งล่าสุดปีนี้ ข้าวหอมของไทยมาเป็นอันดับ 2 มีคำอธิบายจากผู้เชี่ยวชาญเรื่องข้าวว่า หลักเกณฑ์การพิจารณาจะดูจากลักษณะทางกายภาพ รสชาติ มีกรรมการที่เป็นเชฟจากโรงแรมต่างๆ โดยลักษณะข้าวเวียดนามใช้เวลาในการพัฒนาพันธุ์ 5 ปี จนได้ข้าวที่มีเมล็ดยาว เหนียวนุ่ม แม้หอมน้อยกว่าข้าวไทย แต่ก็หวานกว่า


อ่านข่าว...  เปิดปฏิบัติการทวงคืนแชมป์ข้าวหอมมะลิโลก
 

 

 

          ด้วยปัจจัยนานัปการ ส่งผลให้ข้าวหอมเวียดนามได้เปรียบข้าวไทยเกือบทุกด้าน นอกจากลักษณะเฉพาะของข้าวเวียดนามที่เหนือกว่าแล้ว ข้าวไทยยังมีราคาสูงกว่าคู่แข่ง ถึงกว่าเท่าตัว บวกกับปัญหาเงินบาทที่แข็งค่าทำให้ข้าวไทยมีราคาแพง ส่งออกยาก ขณะนี้ข้าวหอมมะลิไทยราคาส่งออก หรือเอฟโอบี อยู่ที่ตันละ 1,200 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนราคาข้าวเวียดนามตันละ 500 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านข้าวบอกว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวและคุณภาพข้าวให้แข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ เพราะหากปล่อยไปเช่นนี้โดยไม่หันมาพัฒนาอย่างจริงจัง เชื่อว่าข้าวหอมมะลิไทยอาจเหลือเพียงตำนานภายในเวลาไม่เกิน 5 ปี


          มีข้อเสนอแนะจากนักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ในทำนองว่า ที่ผ่านมานานพอสมควร รัฐบาลหรือภาครัฐ หลงทางในการพัฒนาข้าวไทย เพราะมัวไปเน้นในเรื่องกลยุทธ์ด้านราคา ก่อเกิดนโยบายจำนำข้าว ประกันราคาข้าว ซึ่งมักจะเป็นการตอบโจทย์ในด้านการเมืองเสียมากกว่า โดยไม่มุ่งในเรื่องของคุณภาพ และผลิตภาพอันจะทำให้ชาวนาสามารถผลิตข้าวคุณภาพ ให้ผลผลิตต่อไร่สูง รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีอย่างถูกต้องเหมาะสม และทันสมัยเพียงพอ ซึ่งจากการจัดอันดับเทคโนโลยีทางการเกษตร พบว่า การผลิตข้าวใช้เทคโนโลยีต่ำสุดรองจาก พืชไร่อื่นๆ พืชผัก ผลไม้ ประมง และปศุสัตว์ซึ่งใช้เทคโนโลยีสูงสุด




          ไม่เพียงเฉพาะข้าวหอมมะลิเท่านั้น ที่อยู่ในอาการน่าเป็นห่วง หากแต่พืชผลทางการเกษตรอื่นๆ ก็ต้องเร่งพัฒนาด้วยเช่นกัน สภาพปัญหาในปัจจุบันก็คือ รัฐบาลยังคงอาศัยกลไกราชการที่พัฒนาได้ช้า หรือไม่พัฒนาเลย ไม่สามารถตอบโจทย์การพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรให้สามารถแข่งขันได้ ทางออกในเรื่องนี้ มีข้อเสนอแนะว่า ควรจะเร่งระดมผู้เชี่ยวชาญ และภูมิปัญญาชุมชนเข้ามาต่อยอดจากองค์ความรู้ที่พวกเขามีอยู่แล้ว โดยรัฐบาลเป็นเจ้าภาพ และสนับสนุนให้เกิดการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และไม่ยึดติดกับระบบราชการจนเกินไป ทั้งหมดนี้ รัฐบาลต้องลงมือทำอย่างจริงจัง ไม่ใช้นโยบายในลักษณะทำให้พืชผลทางการเกษตรเป็นสินค้าการเมือง ตกอยู่ในวังวนกับดักราคา

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ