คอลัมนิสต์

รถไถ..ปลดล็อก ยาพิษ สารเคมีเกษตร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รถไถ..ปลดล็อก ยาพิษ สารเคมีเกษตร โดย...  ทีมข่าวรายงานพิเศษ

 

 

 

          “นโยบายแบน 3 สารพิษ” และ “สารเคมีทดแทน” กำลังถูกขยายปมให้เป็นเรื่องผลประโยชน์บนคราบน้ำตาเกษตรกร ระหว่าง “บริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ”-“นักการเมือง”-“เอ็นจีโอ” ต่างฝ่ายต่างงัดเหตุผลและระดมเครือข่ายเพื่อสร้างแนวร่วมในสังคม...แต่ผู้บริโภคคนไทยที่ควักเงินซื้ออาหารปนเปื้อนสารเคมีเหล่านี้เข้าปากทุกวัน กำลังมีคำถามง่ายๆ ว่า... เป็นไปได้ไหมที่ชาวไร่ชาวสวนจะไม่ใช้สารเคมีเดิมและไม่เอาสารเคมีทดแทน” ?

 

 

รถไถ..ปลดล็อก ยาพิษ สารเคมีเกษตร

 

 

          ต้นตอสำคัญที่ทำให้เกษตรกรไทยต้องพึ่งพา “วัตถุอันตรายทางการเกษตร” เช่น สารเคมีกำจัดหญ้า วัชพืช แมลง โรคพืช ฯลฯ เป็นจำนวนมหาศาลในแต่ละปี สืบเนื่องจากการหันหลังให้ “วิถีเกษตรผสมผสาน” ที่บรรพบุรุษพร่ำสอนให้หมุนเวียนปลูกข้าว ผัก ถั่ว ข้าวโพด มันสำปะหลัง เผือก ฯลฯ


          ระบบปลูกพืชหมุนเวียนหลายหลายชนิดตามภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ทำกันมาเป็นร้อยๆ ปีถูกทำลายไปโดยกลุ่มนายทุนขนาดใหญ่ร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ เข้ามาชักชวนให้พี่น้องชาวไร่ชาวนากลายเป็นทาสแปลงเกษตรเชิงอุตสาหกรรม “ระบบปลูกพืชเชิงเดี่ยว” (Monoculture) หรือการปลูกพืชพันธุ์ชนิดเดียวในพื้นที่ขนาดใหญ่เช่น ข้าว อ้อย ยางพารา ข้าวโพด มันสำปะหลัง ปาล์ม ฯลฯ


          พืชเชิงเดี่ยวต้องใช้ “สารเคมี” จำนวนมากในการเพิ่มปลูกและการบำรุง เพื่อให้ได้ผลผลิตมากที่สุด ขณะที่ความอุดมสมบูรณ์ของดินลดน้อยลง จึงต้องอาศัย “สารเคมี” ราคาสูง เมื่อต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่ผู้กำหนดราคาคือ “นายทุน” ชาวไร่ชาวสวนก็กลายเป็นหนี้สะสม ยิ่งต้องอัดสารเคมีทั้ง ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง ปุ๋ย ฯลฯ เพิ่มขึ้นๆ ๆ ๆ หวังให้ผลผลิตออกมางามสวยดูดี ขายได้กำไรเยอะๆ

 

 

รถไถ..ปลดล็อก ยาพิษ สารเคมีเกษตร

 


          สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ให้ข้อมูลว่าคนไทยสั่งซื้อหรือนำเข้า “วัตถุอันตรายประเภทสารเคมีเกษตร” เพิ่มขึ้นทุกปี หากเปรียบเทียบ ปี 2551 นำเข้า 1.09 แสนตัน มูลค่า 1.9 หมื่นล้านบาท ล่าสุดปี 2561 นำเข้า 1.7 แสนตัน มูลค่า 3.6 หมื่นล้านบาท หมายความว่าภายใน 10 ปี นำเข้าเพิ่มขึ้นเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์

 



          ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ทั้งหมด 321 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่เกษตร 138 ล้านไร่ หากทุกไร่ใช้สารเคมี หมายความว่าพื้นที่ครึ่งหนึ่งของไทยแลนด์เป็น “พื้นดินอาบสารพิษ” สารเคมีอันตรายเหล่านี้ไม่ว่าจะ ชื่ออะไร ยี่ห้อไหน ชนิดใดก็ตาม


          สุดท้ายก็คือ หลงเหลือปนเปื้อนอยู่ในอาหารและสิ่งแวดล้อมของพวกเรานั่นเอง


          จากประเด็นถกเถียงคำสั่งแบน “3 สารเคมี” ได้แก่ ยาฆ่าหญ้า “พาราควอต”  “ไกลโฟเซต” และ ยาฆ่าแมลง “คลอร์ไพริฟอส” นั้น ขณะนี้แบ่งเป็น “กลุ่มคัดค้านไม่ให้ใช้” กับ “กลุ่มสนับสนุนขอใช้”

 

 

รถไถ..ปลดล็อก ยาพิษ สารเคมีเกษตร

 


          ขณะเดียวกันหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงคือ “กรมวิชาการเกษตร” ก็พยายามประสานรอยร้าว ด้วยการสรรหา “สารเคมีทดแทน”! โดยมีข้อมูลว่าเตรียมไว้แล้วไม่ต่ำกว่า 16 ชนิด


          คำว่า “สารเคมีทดแทน” กลายเป็นประเด็นคำถามใหม่ว่า ชีวิตพี่น้องเกษตรกรและผู้บริโภค จะมีอะไรดีขึ้น ? เพราะเป็นการเปลี่ยนจากการใช้สารเคมีชนิดหนึ่งไปใช้สารเคมีอีกชนิดอื่นเท่านั้น


          “เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง” เสนอทางเลือกมากมายในการกำจัดวัชพืชและกำจัดแมลงโดยไม่ง้อ “สารเคมี” โดยเฉพาะการฆ่าหญ้าที่เป็นต้นตอสำคัญ


          หนึ่งในวิธีการที่ฝั่งส่งเสริม “อาหารปลอดภัย” ซึ่งรัฐควรสนับสนุนอย่างเร่งด่วนคือการใช้ “รถแทรกเตอร์” หรือ รถไถขนาดเล็กสำหรับพรวนดิน พร้อมทั้งโรย “ปุ๋ยหมัก” หรือปุ๋ยอินทรีย์ช่วยเพิ่มพูนให้ดินอุดมสมบูรณ์

 

 

รถไถ..ปลดล็อก ยาพิษ สารเคมีเกษตร

 


          วิธีการนี้ช่วยกำจัดวัชพืชหรือหญ้า ทำให้ไม่ต้องใช้สารเคมี รถแทรกเตอร์ขนาดเล็กราคาเฉลี่ยไม่เกิน 5 หมื่นบาทเท่านั้น หากไปจ้างคนฉีดพ่นยาฆ่าหญ้าต้องจ่ายต้นทุนประมาณไร่ละ 1,000 บาท


          ที่ผ่านมาสถาบันวิจัยหลายแห่งช่วยกันคิดค้นและพัฒนา “รถไถไฮเทค” ชนิดต่างๆ เช่น ผลงานของ “สถาบันวิจัยและพัฒนา” มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่นำ “จอบ” มาติดท้ายรถแทรกเตอร์ขนาด 24 แรงม้า ช่วยกำจัดวัชพืชในไร่อ้อย ทำให้ได้ผลดีกว่าใช้สารเคมี เพราะระหว่างที่รถไถดินเอาหญ้าออกไป ก็มีจอบที่ติดไว้หมุนตามไปช่วยพรวนดินด้วย


          หรือผลงานของ “สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม” กรมวิชาการเกษตร ร่วมกับ “มูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย” ที่พัฒนารถไถขนาดเล็กติดตั้งพร้อมชุดถังเก็บและโรยปุ๋ยหมัก ทำให้สามารถกำจัดหญ้าและใส่ปุ๋ยอินทรีย์ลงในแปลงมันสำปะหลังได้พร้อมกัน


          กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังจำนวนหนึ่งที่ทดลองใช้เครื่องไถข้างต้น ต่างแสดงความคิดเห็นว่า ต้นทุนการผลิตปีแรกใกล้เคียงกับการใช้สารเคมี แต่สุขภาพดีขึ้นไม่ต้องสัมผัสสารเคมีจำนวนมาก และในปีต่อไปต้นทุนน่าจะลดลงเรื่อยๆ มีเพียงค่าแรงและค่าน้ำมันเชื้อเพลิงไร่ละประมาณ 100 บาท

 

รถไถ..ปลดล็อก ยาพิษ สารเคมีเกษตร

 


          เกษตรกรที่สนใจเครื่องไถกำจัดวัชพืชและโรยปุ๋ยอินทรีย์ ติดต่อ “ศูนย์วิจัยเกษตรกรรมขอนแก่น” หรือสอบถามหมายเลขโทศัพท์ 043-255-038


          ดังนั้น “รัฐบาล” หรือรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ไม่ควรไปเสียเวลาและเสียทรัพยากรแผ่นดินเพื่อระงับข้อพิพาทว่า “ใช้สารเคมีชนิดไหนดี ?”


          แต่ควรเร่งจัดสรร “งบประมาณ” และกลไกสนับสนุนช่วยให้พี่น้องเกษตรกรเข้าถึง “รถไถ” หรือ “เครื่องจักรกลเกษตร” ที่ช่วยกำจัดวัชพืชในราคาที่ไม่แพง พร้อมทั้งเผยแพร่ความรู้ในการใช้รถไถเหล่านี้ให้ถูกต้อง รวมถึงส่งเสริมการทำแปลงเกษตรหมุนเวียน


          “ตั้งสติ” ไม่ตกเป็นเหยื่อ “บริษัทค้าสารเคมีข้ามชาติ” ไม่ว่าจะมาใน “ชื่อ” หรือ “ยี่ห้อ” แตกต่างกัน แต่สุดท้ายพวกนี้คือ “สารเคมีพิษ” ที่จะสะสมและส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพของคนไทยทุกคน

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ