คอลัมนิสต์

อะไรสำคัญกว่าสุขภาพประชาชน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อะไรสำคัญกว่าสุขภาพประชาชน บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน 2562

 

 

          กรณีการยกเลิกใช้ 3 สารเคมีด้านการเกษตร คือ พาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส เป็นประเด็นต่อสู้กันมานานนับสิบปีและจะว่าไปในประเทศอื่นก็มีการเรียกร้องในลักษณะเดียวกับเมืองไทยมาอย่างยาวนานเช่นกัน เพราะปัญหาไปผูกโยงกับเรื่องสุขภาพ ขณะที่อีกด้านเป็นเรื่องผลประโยชน์เชิงการค้าและเศรษฐกิจภาพรวมไปด้วย จึงเป็นเรื่องยากลำบากในการตัดสินใจว่าแนวทางไหนมีความสำคัญกว่ากัน หากในการวางตั้งพื้นฐานจากโจทย์คนละมุมมองก็ยังเดินเป็นเส้นขนานไม่มีวันบรรจบกันได้ และไทยก็กำลังมาสู่หัวเลี้ยวหัวต่อในเรื่องนี้เช่นกัน เพราะหากดูบรรดากองเชียร์สนับสนุนแต่ละฝ่ายก็มีกันไม่ใช่น้อยเลยของแต่ละฝั่ง อีกทั้งข้อมูลต่างๆ ที่นำมาเป็นหลักฐานอ้างอิงก็พบว่ามีน้ำหนักของฝั่งตนเอง จนดูเสมือนว่าเลือกไปในข้างไหนก็จะมีผลกระทบตามมาให้แก้ปัญหาไม่จบสิ้น จนดูว่าไม่มีทางออกได้เลย


อ่านข่าว..  แบนสารพิษ 'สารทดแทน' โผล่บุรีรัมย์
 

 

 

 

          เมื่อประเด็นและข้อมูลรวมทั้งผลกระทบที่นำมาเป็นข้อพิสูจน์เป็นสิ่งจำเป็นต้องพิจารณารอบคอบรอบด้านทุกฝ่าย โดยมีแนวทางที่ปัจจุบันให้เลือกเดินได้ 3 แนวทางที่ถูกนำเสนอเข้ามา นั่นคือยึดตามมติเดิมแบน 3 สารเคมีการเกษตรให้มีผลวันที่ 1 ธันวาคมนี้ หรือยืดชะลอการบังคับใช้ยกเลิกออกไปอีก 6 เดือนเพื่อจัดเตรียมและลดผลกระทบทั้งกับกลุ่มเกษตรกรที่สนับสนุนการใช้สารเคมีและผู้ประกอบการนำเข้าตลอดจนอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ระบุว่าได้รับผลกระทบจากการแบนสารเคมีดังกล่าว และอีกข้อเสนอคือให้ยกเลิกมติแบนสารเคมีและกลับไปใช้มติเดิมโดยยึดวิธีจำกัดการใช้ ที่หน่วยงานภาครัฐได้อบรมและเข้าไปดำเนินการกับกลุ่มเกษตรกรไปแล้ว ควบคู่กับการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์เพื่อปรับเปลี่ยนไปทีละน้อยไม่หักด้ามพร้าด้วยเข่าและเพิ่มความเข้มงวดเรื่องสารตกค้างเพื่อสุขภาพประชาชน

 


          มีการนำเสนอว่าผลจากสารเคมีการเกษตร พบว่าในปี 2562 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561-กรกฎาคม 2562 ในส่วนผู้ป่วยบัตรทอง มีผู้ป่วยกว่า 3,000 คน เสียชีวิต 407 ราย ค่ารักษา 14.6 ล้านบาท ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ ขณะที่การศึกษากรณียกเลิก 3 สารเคมีทันที มีการประเมินว่า เกษตรกรกว่า 6 แสนรายจะมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น คิดเป็นมูลค่า 33,417 ล้านบาท โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรเชิงเดี่ยว อาทิ ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง เป็นต้น รวมถึงความกังวลผลกระทบด้านเศรษฐกิจ โดยกติกาองค์การการค้าโลก หรือ WTO หากยกเลิกการใช้สารเคมีเกษตรชนิดใดจะส่งผลให้ประเทศคู่ค้าของไทยไม่สามารถส่งสินค้าที่ใช้สารเคมีดังกล่าวเข้ามาในไทยได้จะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ น้ำมันพืช บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ทำจากแป้งสาลี




          มติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้ยกเลิกแบน “ไกลโฟเซต” ให้ไปใช้วิธี “จำกัดการใช้” ส่วน “พาราควอต” และ “คลอร์ไพริฟอส” ได้ยืดเวลาแบนไปอีก 6 เดือนถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ซึ่งคณะกรรมการวัตถุอันตรายยกเหตุผลในเรื่องผลกระทบรอบด้านรวมทั้งระบบเศรษฐกิจในการขยายเวลายกเลิกการใช้ 2 สารเคมีดังกล่าวอาจเป็นเรื่องที่พอรับฟังได้ แต่กรณีที่กลับมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดเดิมโดยเลิกแบนไกลโฟเซต กลับไปใช้วิธี “จำกัดการใช้” เป็นสิ่งที่ผิดคาดหมายชนิดเรียกว่าพลิกลำอย่างมาก และดูประหนึ่งว่าถอยหลังเข้าคลองจนเกิดคำถามจากสังคมและหลายฝ่ายว่าทำไมมติจึงกลายเป็นเช่นนี้ และยังลุกลามจนมีการประณามว่าเป็นมติอัปยศอีกด้วย จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลต้องเคลียร์ให้ชัดเจนว่าเพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนี้ และสิ่งใดสำคัญจำเป็นยิ่งไปกว่าการปกป้องสุขภาพของประชาชน


          

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ