คอลัมนิสต์

เคอร์ฟิวเด็กติดเกม...จัดระเบียบเก็บ ภาษีบาปเกมออนไลน์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เคอร์ฟิวเด็กติดเกม...จัดระเบียบเก็บ ภาษีบาปเกมออนไลน์ โดย...  ทีมข่าวรายงานพิเศษ

 

 

  
          “เด็กติดเกม” กลายเป็นปัญหาวิกฤติ ส่งผลให้ “องค์การอนามัยโลก” ประกาศจัดเป็นโรคชนิดใหม่ด้านจิตเวชคือ “โรคเสพติดเกม” หลายประเทศเริ่มหาวิธีการไม่ให้เยาวชนกลายเป็นเหยื่อของธุรกิจเกมมากไปกว่านี้ ล่าสุดจีนสั่ง “เคอร์ฟิวเด็กเล่นเกมออนไลน์” ไม่เกินวันละ 90 นาที ส่วนประเทศไทยคาดการณ์ว่ามีเด็กติดเกมมากถึง 2 ล้านคน ...ถึงเวลาต้องจัดระเบียบเช่นกัน

 

อ่านข่าว...  เด็กติดเกมก้มกราบเท้าแม่ หลังเกิดอาการคลั่ง

 

 

          ปัจจุบันธุรกิจเกมออนไลน์สร้างเม็ดเงินมหาศาล ผลสำรวจของบริษัท “Newzoo” ที่ตามเก็บข้อมูลด้านสถิติเกมทั่วโลกระบุว่ากลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิกมีเม็ดเงินสูงสุดในโลกคือ ประมาณ 2.1 ล้านล้านบาท ส่วนอันดับ 2 คือกลุ่มประเทศอเมริกาเหนือ 9.8 แสนล้านบาท หากแยกเป็นประเทศที่ควักกระเป๋าเสียให้ตลาดเกมมากสุดอันดับ 1 คือชาวอเมริกา ปีละ 1.1 ล้านล้านบาท อันดับ 2 คือ ชาวจีน 1 ล้านล้านบาท อันดับ 3 ชาวญี่ปุ่น 5.6 แสนล้านบาท ส่วนชาวไทยติดอันดับ 20 ของตลาดเกมโลก เฉพาะปี 2561 มีมูลค่ารวม 3 หมื่นล้านบาท

 

 

 

เคอร์ฟิวเด็กติดเกม...จัดระเบียบเก็บ ภาษีบาปเกมออนไลน์

 


          ตัวเลขคนใช้จ่ายเงินให้แก่ธุรกิจเกมเริ่มพุ่งสูงขึ้นทุกปี จนบริษัทผลิตเกมยักษ์ใหญ่ของจีน “เทนเซนต์” (Tencent) รวยแซงหน้าอเมริกา กลายเป็นเบอร์ 1 เจ้าตลาดเกมของโลกไปเรียบร้อยแล้ว ทิ้งระยะห่างจาก “โซนี่” และ “ไมโครซอฟท์” แทบไม่เห็นฝุ่น เฉพาะข้อมูลของ “เทนเซนต์” ครึ่งปี 2562 ทำกำไรไปแล้ว 1 แสนล้านบาท


          หลังจากองค์การอนามัยโลก (WHO) บัญญัติให้ “โรคติดเกม” เป็นโรคทางจิตเวชที่สร้างผลร้ายต่อการพัฒนาสมอง พัฒนาร่างกาย พฤติกรรมของเด็กมีอาการคล้ายผู้ป่วยติดสุรา ติดพนันหรือติดสารเสพติด รัฐบาลจีนจึงตัดสินใจประกาศจัดระเบียบและออกกฎหมาย “เคอร์ฟิวเด็กเล่นเกมออนไลน์” เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2562 พร้อมอ้างเหตุผลว่านี่คือ "การปกป้องร่างกายและจิตใจของเยาวชน"
  

          กฎหมายนี้มีเนื้อหาสำคัญ 4 ข้อคือ 1.เด็กอายุไม่ถึง 18 ปี ห้ามเล่นเกมออนไลน์ตั้งแต่ 4 ทุ่มจนถึง 8 โมงเช้า 2.วันธรรมดาห้ามเล่นเกมเกิน 1 ชั่วโมง 30 นาที 3.วันหยุดเล่นได้ไม่เกิน 3 ชั่วโมง 4.กำหนดให้เติมเงินบัญชีเกมออนไลน์สูงสุดไม่เกิน 900–1700 บาทต่อเดือน

 


          โดยใช้วิธีตรวจสอบจากชื่อและอายุของสาวกเกมออนไลน์ที่มาลงทะเบียนกับบริษัทเกมออนไลน์ต่าง ๆ

 

 

เคอร์ฟิวเด็กติดเกม...จัดระเบียบเก็บ ภาษีบาปเกมออนไลน์

 


          การประกาศจัดระเบียบเกมออนไลน์ของรัฐบาลจีนทำให้ประเทศอื่นๆ อยากทำตามบ้าง เพราะตอนนี้หลายประเทศประสบปัญหาประชากรรุ่นใหม่มีอาการทางจิตเวชเพราะเสพติดเกมเพิ่มมากขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะอาการใหม่ที่น่ากลัวมากของคนที่นั่งจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ทั้งวันทั้งคืน จนเกิดพฤติกรรมแยกตัวเองออกจากสังคม และมีอาการวิตกกังวลไม่กล้าออกไปเจอผู้คน หรือที่เรียกกันว่า “โรคกลัวชุมชน” (agoraphobia)


          ขณะนี้ประชากรจีน 900 ล้านคนเล่นอินเทอร์เน็ตทุกวันและในจำนวนนั้นมีสาวกเกมออนไลน์สูงถึง 650 ล้านคน ทำให้บริษัทเกมในจีนแข่งขันกันดุเดือดเอาเป็นเอาตาย หวังเพิ่มสาวกหน้าใหม่และรักษาฐานหน้าเดิมไม่ให้ย้ายค่ายไปไหน ผู้พัฒนาเกมต้องคิดผลิตเนื้อหาเกมให้รุนแรง หวาดเสียว ลามก ล่อลวง ฯลฯ มากขึ้นเรื่อยๆในแต่ละปีบริษัทจีนผลิตเกมออกใหม่สู่ตลาดเกือบ 1 หมื่นเกมจึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไม “จีน” ต้องสั่งเคอร์ฟิวเด็กติดเกม ก่อนที่ปัญหาจะรุนแรงไปมากกว่านี้ เพราะเด็กๆ กำลังเสียทั้งสายตา จิตใจ ร่างกายและที่สำคัญคือ “เสียเงิน” 

 

 

เคอร์ฟิวเด็กติดเกม...จัดระเบียบเก็บ ภาษีบาปเกมออนไลน์

 


          เนื่องจากเกมออนไลน์ที่เด็กนิยมเล่นกันตอนนี้มีหลายรูปแบบทั้งเล่นฟรีและต้องเสียเงินซื้อตัวเกม ซื้อไอเทม ซื้ออัพเกรด ฯลฯ และที่น่าสนใจคือ “กูเกิล” กำลังเปิดตัววิดีโอเกมออนไลน์แบบสตรีมมิ่งที่ชื่อว่า “กูเกิลสเตเดีย” (Google Stadia) ที่เก็บค่าบริการเดือนละ 300 บาท เล่นเกมจากอุปกรณ์อะไรก็ได้ทั้งนั้น ทีวี คอมพิวเตอร์ มือถือ แท็บเล็ต มีเกมเป็นสิบเกมให้เลือกเล่นเต็มที่


          คาดการณ์กันว่าบริการสตรีมมิ่งเกมของกูเกิลจะทำให้คนติดเกมมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะคนไทยที่นิยมจ่ายครั้งเดียวและเล่นเต็มที่แบบบุฟเฟ่ต์ไปเลย


          ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขเดือนตุลาคม 2562 คาดการณ์ว่ามีเด็กไทยติดเกมและมีปัญหาเสี่ยงต่อการติดเกมประมาณ 2 ล้านคน โดยเฉลี่ยเด็กและวัยรุ่นจะใช้เวลาเล่นเกมประมาณวันละ 5 ชั่วโมง


          เครือข่ายพ่อแม่ผู้ปกครองกลุ้มใจจนอยากให้ “รัฐบาลไทย” ช่วยประกาศเคอร์ฟิวจำกัดเวลาเล่นเกมเหมือนจีน!


          ย้อนไปเมื่อปี 2547 ช่วงนั้น “กระทรวงไอซีที” พยามยามจัดระเบียบเกมออนไลน์ในสังคมไทยแต่สุดท้ายล้มเหลวเพราะไม่ได้ไฟเขียวจาก “แก๊งเจ้าสัวบริษัทเกมยักษ์ใหญ่”

 

 

เคอร์ฟิวเด็กติดเกม...จัดระเบียบเก็บ ภาษีบาปเกมออนไลน์

 


          อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเปิดเผยกับ “คมชัดลึก” ว่าช่วงนั้นเด็กวัยรุ่นไทยติดเกม Ragnarok (แร็กนาร็อก) กันมาก หลายคนโกหกขอเงินพ่อแม่มาซื้อไอเทมแลกของในเกมจนกลายเป็นปัญหาครอบครัว คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้กระทรวงไอซีทีไปจัดระเบียบเกมออนไลน์และร้านอินเทอร์เน็ตทั่วประเทศ โดยเฉพาะการกำหนดให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ห้ามเล่นเกินวันละ 3 ชั่วโมง
  

          “ตอนนั้นผมเสนอไปวันละไม่เกิน 2 ชั่วโมง แต่สุดท้ายก็ไม่มีการจัดระเบียบ เรื่องเงียบหาย เพราะโดนกลุ่มเจ้าของธุรกิจเกมวิ่งเต้นล็อบบี้ จนคนมีอำนาจในรัฐบาลใส่เกียร์ว่างไม่มีการเคอร์ฟิวอะไรทั้งสิ้น ทำได้แค่ขอความร่วมมือร้านเกม ถ้าเทียบกับสถานการณ์ตอนนี้คนไทยติดเกมออนไลน์หนักกว่าเดิม เพราะไม่ใช่แค่เด็กๆ เท่านั้น แต่พ่อแม่ก็ติดเกมด้วย ไม่พาลูกออกไปเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมอย่างอื่น”


          อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีข้างต้นเสนอไอเดียเพิ่มเติมหากรัฐบาลไทยยุค 4.0 ต้องการแก้ปัญหา “เด็กติดเกมออนไลน์” ว่าควรแบ่งเป็นระดับประถมและระดับมัธยม ให้มีการจำกัดเวลาหรือเคอร์ฟิวให้เด็กเล่นเกมไม่เกิน 2–3 ชั่วโมง และต้องเล่นก่อน 4 ทุ่ม เพื่อไม่ให้เสียเวลานอนหลับพักผ่อน นอกจากนี้ควรมีการ “จำกัดจำนวนเงินของเด็ก” ที่ลงทะเบียนเล่นให้เอาเงินเข้าบัญชีเล่าเกมได้ไม่เกินเดือนละ “300-500 บาท” เพื่อไม่ให้เป็นภาระพ่อแม่ต้องหาเงินมาให้ลูกเล่นเกม หรือถ้าพ่อแม่ไม่ให้พวกเด็กติดเกมก็ต้องดิ้นรนหาเงิน เช่น ขายรูปลามกตัวเอง หรือขายสินค้าบางอย่างเพื่อเอาเงินมาเล่นเกม


          "ที่สำคัญคือควรมีการเรียก เก็บภาษีบาป กับบริษัทหรือเจ้าของธุรกิจที่ทำกำไรจากเกมออนไลน์เหล่านี้อย่างจริงจัง เหมือนภาษีเหล้า ภาษีบุหรี่ เพราะสุดท้ายปัญหาการเสพติดเกมจะทำให้คนไทยจำนวนมากกลายเป็นคนป่วย เงินภาษีเกมที่จัดเก็บไว้จะถูกนำมาใช้รักษาหรือป้องกันพวกเขาในอนาคต ไม่เป็นภาระกับงบประมาณของกองทุนสุขภาพอื่นๆ"


          ข้อเสนอให้ “จำกัดเวลาเล่น” “จำกัดเงิน” และ “จัดเก็บภาษีบาปเกมออนไลน์” นับเป็นไอเดียทางออกที่น่าสนใจมาก


          แต่คงทำได้ยากเพราะที่ผ่านมา ทหารหรือนักการเมือง มักพ่ายแพ้ต่อเล่ห์กลของ “แก๊งเจ้าสัวบริษัทเกมยักษ์ใหญ่”
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ