คอลัมนิสต์

นักสืบโซเชียลฯ... ระวังทำคุณบูชาโทษ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นักสืบโซเชียลฯ... ระวังทำคุณบูชาโทษ คอลัมน์... ล่าความจริง..พิกัดข่าว โดย...  พันธ์ศักดิ์ อาภาขจร ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสื่อสาร

 

 

 

          บทบาทของนักสืบโซเชียลฯ มีมากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมข่าวสารของบ้านเรา ล่าสุดกับกรณีตามล่าหาตัว “แก๊งกระทืบคนแก่” ที่สวนพริกไทย ปทุมธานี

 

อ่านข่าว...  เปิดใจลุงถูกหนุ่มหัวร้อนประเคนหมัดบาทากุญแจรถแทง

 

 

 

          ข้อมูลจากนักสืบโซเชียลฯ เหล่านี้ หลายครั้งก็ส่งผลดีต่อคดี หรือประเด็นที่กำลังตรวจสอบ แต่บางครั้งก็ส่งผลร้าย ผลข้างเคียง ประเภทคุกคาม ล่าแม่มด และละเมิดสิทธิมนุษยชนตามมา


          สิ่งที่น่ากังวลของสังคมไทยต่อการใช้สื่อออนไลน์ขุดคุ้ยข้อมูล คงไม่พ้นเรื่องของการละเมิดความเป็นส่วนตัว ไม่ว่าจะเกิดจากการขุดคุ้ยข้อมูลแล้วนำมาเผยแพร่ต่อสาธารณะเพื่อตอบสนองต่อความอยากรู้อยากเห็น หรือเพื่อช่วยชี้เบาะแสของอาชญากรรมก็ตาม เพราะการสืบค้นข้อมูลเหล่านี้ล้วนแต่อยู่ในข่ายที่มีความเสี่ยงต่อการละเมิดความเป็นส่วนตัวของบุคคลอื่นทั้งสิ้น


          กลไกที่ทำให้การสืบค้นและขุดคุ้ยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต จากข้อมูลส่วนบุคคลที่มีการนำไปโพสต์ไว้บนโลกออนไลน์ทำได้ง่ายขึ้น ได้แก่ เครื่องมือสืบค้นที่ทรงประสิทธิภาพที่ทำให้การสืบค้นและขุดคุ้ยข้อมูลจากอดีตทำได้สะดวก รวดเร็ว มีรายละเอียด และมีความหลากหลายมากขึ้น ตั้งแต่ข้อมูล รูปภาพ เนื้อหา รสนิยม หรือแม้กระทั่งอารมณ์ของผู้คนก็สามารถถูกขุดคุ้ยหยิบขึ้นมาขยายความต่อได้อย่างไม่ยากเย็น


          การสืบค้นข้อมูลผ่านสื่อออนไลน์ สามารถกระทำได้โดยผ่านช่องทางต่างๆ ได้หลายช่องทาง เป็นต้นว่า
          - สืบค้นด้วยอินเทอร์เน็ตจากข่าวหรือคดีต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้าด้วยเครื่องมือสืบค้นบนอินเทอร์เน็ต
          - สืบค้นผ่านสื่อออนไลน์ เช่น ผ่านกลุ่มเพื่อนบนสื่อโซเชียล
          - สืบค้นจากข้อมูลวงในซึ่งเป็นข้อมูลของผู้ประกอบการสื่อโซเชียล ผู้ประกอบการด้านสื่อสาร หรือข้อมูลจากภาครัฐ
          - สืบค้นจากนายหน้าขายข้อมูล



          

          นอกเหนือจากการสืบค้นข้างต้นแล้ว ยังมีเครื่องมือสืบค้นและแอพพลิเคชั่นที่ออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อการสืบค้นข้อมูลหรือภาพบนสื่อโซเชียลด้วย เครื่องมือที่นิยมใช้กันทั่วไป ได้แก่
          - เครื่องมือค้นภาพของ Google ที่เรียกว่า Google’s Reverse Image Search ซึ่งสามารถช่วยให้ค้นหาภาพบุคคลบนอินเทอร์เน็ตและสื่อโซเชียลเพื่อจับคู่กับภาพที่โพสต์บน Facebook Instagram และสื่อโซเชียลอื่นๆ
          - เครื่องมือสืบค้นข้อมูลของ Facebook ที่เรียกว่า Facebook Graph Search เพื่อค้นหาภาพ ข้อความ สถานที่ที่มีการโพสต์ไว้บนโครงข่ายของ Facebook
          - เครื่องมือสืบค้นที่เรียกว่า Spokeo ช่วยให้ผู้สืบค้นสามารถหาบุคคลจากที่อยู่อีเมล โดยการสแกนสื่อโซเชียลยอดนิยมต่างๆ และแสดงผลโปรไฟล์ของบุคคลที่ต้องการค้นหา
          - เครื่องมือสืบค้นที่เรียกว่า Knowem ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้สืบค้นชื่อบนสื่อโซเชียล ในกรณีที่บุคคลที่ต้องการค้นหาไม่ได้ใช้ชื่อเดียวกันทุกสื่อ หรือใช้ชื่อปลอม แต่ใช้ชื่อเล่นหรือใช้ข้อมูลอื่นเหมือนกัน Knowem สามารถตรวจสอบได้ว่าบุคคลบนสื่อโซเชียลนั้นเป็นใคร และอยู่บนสื่อโซเชียลใดบ้าง
          - เครื่องมือสืบค้นของ Instagram ที่เรียกว่า Instagram Search สามารถสืบค้นภาพ หรือข้อความที่เคยโพสต์ไว้บน Instagram เป็นต้น


          การใช้ความรู้ความสามารถทางคอมพิวเตอร์ในการช่วยเหลือสังคมเป็นสิ่งที่น่ายกย่องชมเชย อย่างไรก็ตามการขุดคุ้ย สืบค้นภาพ ข้อมูล แล้วนำมาเผยแพร่ต่อสาธารณะโดยใช้เครื่องมือต่างๆ โดยไม่มีกฎหมายรองรับ มีความล่อแหลมต่อการเกิดปัญหาอย่างน้อยที่สุด 2 ประการคือ
          1.อาจเข้าข่ายการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล จากการนำข้อมูลส่วนบุคคลมาเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต
          2.ข้อมูลที่ขาดการกลั่นกรองบนสื่อออนไลน์และไม่รู้ถึงที่มาของแหล่งข้อมูล อาจเป็นข้อมูลเท็จ อาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมายได้ การทำหน้าที่ของนักสืบโซเชียลฯ ในลักษณะดังกล่าวจึงเป็นดาบสองคมต่อผู้ที่ทำหน้าที่นักสืบโซเชียลฯ ได้เช่นกัน


          ปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาบางแห่งเปิดการอบรมหลักสูตรระยะสั้นสำหรับนักสืบไซเบอร์ ซึ่งน่าจะมีเนื้อหาที่ใกล้เคียงกับกิจกรรมของนักสืบโซเชียลฯ และน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่รักการทำหน้าที่เป็นนักสืบโซเชียลฯ ในแง่ของการเรียนรู้ด้านเทคนิค การใช้เครื่องมือสืบค้น รวมถึงกฎ กติกา มารยาท เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาทางกฎหมายต่อการทำหน้าที่นักสืบโซเชียลฯ แก่ตนเอง และป้องกันการละเมิดความเป็นส่วนตัวของบุคคลอื่นด้วย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ