คอลัมนิสต์

อยู่ที่ความจริงใจ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อยู่ที่ความจริงใจ บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน 2560

 

 

          เป็นอีกหนึ่งข่าวแห่งปี สำหรับนโยบายการแบน 3 สารเคมีเกษตร พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต หลังจากที่ต้องต่อสู้กันมานานหลายปี ระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนให้ยกเลิกการใช้ กับฝ่ายที่เห็นว่า ยังมีความจำเป็น จนกลายเป็นมหากาพย์ แม้ล่าสุด คณะกรรมการวัตถุอันตรายจะมีมติไปแล้วว่า จะยกระดับ 3 สารเคมีเกษตรเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ที่ห้ามนำเข้า ห้ามส่งออก ห้ามใช้ และห้ามมีไว้ครอบครอง ในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 แต่ก็ใช่ว่าเรื่องจะจบลงเพียงเท่านั้น เพราะนอกจากกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับมตินี้จะเคลื่อนไหวต่อเนื่องแล้ว ในส่วนของภาครัฐเองก็ดูเหมือนว่า จะมีแนวทางที่ไม่เป็นเอกภาพกันนัก ทั้งฝ่ายการเมือง และข้าราชการประจำ

 

อ่านข่าว...  ทางรอดเกษตรกรหลังแบนสารพิษ วิถีการผลิต ต้อง กล้าเปลี่ยน

 


          คณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน จะประชุมกันอีกครั้งในวันพรุ่งนี้ (27 พ.ย.) โดยมีวาระร้อนที่จะต้องพิจารณาตามที่กรมวิชาการเกษตรเสนอผ่านคณะกรรมการพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการแบนสารเคมีทางการเกษตร ที่มีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยขอให้ยืดระยะเวลาการบังคับใช้มาตรการแบน 3 สารเคมีออกไปอีก 6 เดือน หรือ 180 วัน โดยกรมวิชาการเกษตรให้เหตุผลว่า ระยะเวลา 30 วันก่อนถึงวันเริ่มบังคับใช้ 1 ธันวาคมนั้น จัดเก็บสารเคมีส่งคืนบริษัทไม่ทัน

 

          อันที่จริง เรื่องข้อเสนอให้แบน 3 สารคมีเกษตร ไม่ใช่นโยบายหรือเรื่องใหม่ที่เพิ่งมาเป็นนโยบายของรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ ในยุครัฐบาลนี้ เป็นเวลาอย่างน้อยๆ 2 ปีที่มีมติให้แบน 3 สารเคมี เริ่มตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2560 คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งเป็นคณะกรรมการร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีมติให้ยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ภายในเดือนธันวาคม 2561 และยุติการใช้ทั้งหมดภายในเดือนธันวาคม 2562 และจำกัดการใช้สารกำจัดวัชพืชไกลโฟเซตอย่างเข้มงวด แต่จนแล้วจนรอด มติเช่นว่านี้ก็ไม่มีผลในทางปฏิบัติ กลับมีแต่ข้อถกเถียงของสองฝ่ายไม่สิ้นสุด

 

 

 

 

          อย่างไรก็ตาม ทุกปัญหาย่อมจะมีทางออก หากไม่มีเบื้องหลังหรือวาระซ่อนเร้น ซึ่งไม่น่าเชื่อว่า ระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา แทบไม่ได้มีการขับเคลื่อนแผนงานรองรับจากหน่วยงานที่มีหน้าที่เท่าที่ควร จนถูกมองไปว่า เป็นการเล่นเกมเพื่อยื้อเวลาให้ใช้สารเคมีเกษตรต่อไปให้นานที่สุด ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว หากทุกฝ่ายได้เตรียมแผนงานไว้อย่างดี มีมาตรการเยียวยาระยะยาว จนถึงวันนี้ก็น่าจะทำให้เกษตรกรที่เคยใช้สารเคมีไม่ได้รับความเสียหาย และยอมรับมติได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแรงงานในภาคเกษตร การสนับสนุนเครื่องจักร การจัดหาสารทดแทนหรือแม้แต่เกษตรอินทรีย์ที่ไม่จำกัดอยู่เฉพาะรายย่อย ทั้งนี้ทุกฝ่ายต้องคำนึงถึงผลกระทบในวงกว้างด้วย หาใช่เพียงผลดี-ผลเสียที่จะเกิดกับคนเพียงบางกลุ่มเท่านั้น

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ