คอลัมนิสต์

สัมภาษณ์พิเศษ สิงห์ศึก สิงห์ไพร : ส.ว. ไม่ก้าวก่ายงาน ส.ส.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'สิงห์ศึก' รองประธานวุฒิฯยัน ส.ว.ไม่ก้าวก่ายงาน ส.ส. ทั้งงานในพื้นที่และแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะที่การทำงาน ส.ว.ยุค 2020 มีหลายด้านต้องปรับเปลี่ยน

         นาทีนี้ การเดินเกมรุกของ “สภาผู้แทนราษฎร” ในกลุ่ม ส.ส.​ที่ต้องการขับเคลื่อนเรื่องแก้รัฐธรรมนูญใกล้เข้าสู่บันไดขั้นที่หนึ่ง หลังจากที่ญัตติด่วนเรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเสนอนำร่องโดย ส.ส. พรรคฝ่ายค้านและตามมาด้วย ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลจ่อพิจารณาในที่ประชุมสภาฯ ซึ่งเชื่อว่าไม่เกินสัปดาห์นี้ หากไม่ถูก “คนของรัฐบาล” ตีรวนด้วยกลเกมเสนอเรื่องแทรก ญัตติด่วนที่ว่านั้นจะเข้าสู่การพิจารณาและตั้งกมธ. ศึกษาได้

        โดยล่าสุดนั้นการตั้งบุคคลให้ไปเป็น กมธ.วิสามัญ​ในโควต้าของแต่ละฝ่ายเริ่มนิ่ง เบื้องต้น พรรคฝ่ายค้าน อย่างพรรคเพื่อไทยอาจส่ง คนนอก เข้าไปทำหน้าที่ แทนการส่งขุมกำลังหลัก อย่างส.ส.ตัวจี๊ด. เข้าไปร่วม ส่วน “โควต้าของรัฐบาล” แน่นอนว่า เป็นคนนอกทั้งหมด และจะไม่มีสัดส่วนของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)เข้าไปร่วมสังฆกรรมครั้งนี้

      เหตุผลสำคัญ ที่ “ส.ว. ถูกปัดออกจากบันไดขั้นที่หนึ่งนี้ เป็นเพราะเจ้าตัว คือ ฝั่งสมาชิกวุฒิสภา เองไม่ยินยอมที่จะเข้าไปมีส่วนร่วม ด้วยเหตุผลหลักๆ คือ 1. เป็นเรื่องคนละสภาฯ และ 2.ยังไม่ถึงเวลา

         สัมภาษณ์พิเศษ สิงห์ศึก  สิงห์ไพร : ส.ว. ไม่ก้าวก่ายงาน ส.ส.

        แต่ในมุมมองของคนภายนอก กลับมองว่า สิ่งที่ “ส.ว.” ระบุ เป็นเพียงข้ออ้างที่รอสัญญาณไฟเขียวจากรัฐบาลเพราะอย่างที่กลไกของรัฐธรรมนูญออกแบบไว้ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากส.ว.แล้ว จะไม่สามารถบรรลุกลไกแก้รัฐธรรมนูญได้

        กับเรื่องนี้พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพรรองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง ให้สัมภาษณ์กับ“ทีมข่าวคมชัดลึกออนไลน์” ตอบชัดๆ ถึงเรื่องรอสัญญาณจากรัฐบาลว่าไม่เป็นเช่นนั้น เพราะส.ว.ทุกคนมีวุฒิภาวะ และมีความคิดของตนเอง รวมถึงจังหวะเวลาว่าเวลาไหน ควร หรือไม่ควร

      สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญตอนนี้ ถือว่าไม่ควร ไม่ใช่รอฟังคำสั่งจากใคร เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เพิ่งประกาศใช้ไม่นาน และเพิ่งผ่านการเลือกตั้งมาไม่กี่เดือน ดังนั้นจึงยังไม่เห็นปัญหา

       “เขาตอบคำถามเหล่านี้ได้ไหมว่า 1.ปัญหาคืออะไร 2.จะแก้เพื่อใคร และ 3.ประชาชนและประเทศชาติได้ประโยชน์หรือไม่ ถ้าเขาตอบได้ชัดเจน ค่อยมาถาม แต่ที่ผ่านมา คนที่จะแก้ไข เขาตอบไม่ได้ ที่ได้ยินมีแค่ว่าจะแก้เท่านั้น และที่บอกว่าจะศึกษาแนวทางแก้ไข ยังไม่เป็นกิจลักษณะ

       กับ3คำถามที่ต้องการ “คำตอบ” หากตอบได้เท่ากับบทพิสูจน์ว่า “ส.ว.” จะหนุนหรือไม่สนับสนุนต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ ทีมข่าวถามย้ำเพื่อให้เกิดความชัดเจน 

     สัมภาษณ์พิเศษ สิงห์ศึก  สิงห์ไพร : ส.ว. ไม่ก้าวก่ายงาน ส.ส.

        แต่พล.อ.สิงห์ศึกบอกกับทีมข่าว ว่าไม่ชัดเจนนะ เพราะจะตอบแทนส.ว.ทั้งหมดไม่ได้ ส่วนตัวอยากรู้ว่าต้องการแก้ไขอะไร เพราะในแต่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มีเงื่อนไขของการแก้ไขแตกต่างกัน เช่น ให้ออกเสียงประชามติก่อน หรือ บางหมวดห้ามแก้ไข เป็นต้น ดังนั้นในสิ่งที่ถามว่า แก้อะไร แก้เพื่อใคร ประชาชนและประเทศได้ประโยชน์หรือไม่ หากตอบได้ ทุกคนมีความคิดเองได้ว่าจะทำยังไง ที่ผ่านมาเป็นเพียงการตอบโต้กันเท่านั้น

         อย่างไรก็ดี ภารกิจสำคัญของส.ว. ตามรัฐธรรมนูญ มีบทบาทหลัก คืองานกลั่นกรองกฎหมาย ซึ่งในมุมมองของ รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง”สิงห์ศึก" ระบุเรื่องนี้ว่า กฎหมายที่ออกมาแต่ละครั้ง บังคับใช้นาน ดังนั้นกฎหมายที่ใช้ได้ และดี ต้องเพื่อแก้ไข ไม่ใช่ว่าเกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ดังนั้นกลไกงานกลั่นกรองกฎหมาย จำเป็นต้องพิจารณาให้ถ้วนถี่ เพื่อให้เป็นกฎหมายที่ดี 

      ส่วนเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ นั้น มองเจตนาเป็นอย่างไร? เจตนาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของนักการเมือง หรือ วางรากฐานระยะยาวให้ประเทศ ทีมข่าวยิงคำถาม ซึ่งคำตอบที่ได้รับ คือ

      "ประเทศต้องมีรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าฉบับไหน เนื้อหาที่ดีจะเขียนไว้ไม่ตัดทิ้ง หรือบางครั้งปรับให้ดีขึ้น ส่วนปัญหารัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายต้องเขียนเพื่อแก้ปัญหา ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือ การแก้ปัญหา เช่น ที่ถูกมองว่าเป็นฉบับปราบโกง คือ ไม่ให้นักการเมือง รัฐมนตรี ส.ว. ส.ว. ยุ่งเกี่ยว แทรกแซงก้าวก่าย ไม่ให้การเมืองเข้าไปยุ่งกับฝ่ายบริหาร ไปยุ่งกับการแปรญัตติงบประมาณไม่ได้ หรือกำหนดคุณสมบัติคนที่ดำรงตำแหน่งการเมืองจะถือครองหุ้นสื่อมวลชนไม่ได้ ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนไว้ดี"

    "ผมได้ยินหลายฝ่ายว่าจะแก้รัฐธรมนูญ แต่ไม่มีใครตอบได้ว่าจะแก้อะไรที่เป็นปัญหา ที่บอกไม่ดี คือส่วนไหน หากบอกว่าส่วนไหนที่จะแก้ ผลประโยชน์ตกกับใคร หากแก้รัฐธรรมนูญแล้ว เศรษฐกิจดีขึ้น ประชาชนทำมาหากินสะดวก การค้าการขายดีขึ้นทันตา ผมคิดว่าไม่มีใครขัดข้องกับการแก้ไข แต่สิ่งที่ต้องแสดงความชัดเจนคือ จะแก้ประเด็นไหน แก้ให้กับใคร ประโยชน์อยู่ที่ใคร หากตอบ 3 คำถามนี้ได้ ไม่น่าจะมีปัญหา หากตอบไม่ได้ ผมขอพูดเผื่อประชาชนว่า หากตามขั้นตอนแก้ไขที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในหมวดแก้ไขเพิ่มเติมมีแนวทางคือ ส.ส.​และ ส.ว. ต้องเห็นชอบร่วมกัน แต่ขณะนี้ส.ว. ยังไม่มีอะไร ไม่เห็นปัญหาของรัฐธรรมนูญ"พล.อ.สิงห์ศึก ระบุ

       ขณะที่ท่าทีของ “ส.ว.”ล่าสุด ไม่พบการพูดคุยต่อข้อเสนอของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

      กับอีกบทบาทของ ส.ว. ชุดปัจจุบัน ที่บทเฉพาะกาล ออกแบบให้มีวาระ 5 ปี และมาโดยการแต่งตั้งจาก คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)” คือการติดตาม เร่งรัดงาน ปฏิรูปประเทศตามแผนการปฏิรูปและยุทธศาสตร์ชาติ 

       โดย “พล.อ.สิงห์ศึก” ในฐานะบทบาทประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ที่ดูงานเรื่องนี้ บอกว่า ภารกิจของส.ว. 5 ปีหลังจากเข้ารับตำแหน่ง คือ การติดตาม เร่งรัดงานปฏิรูปให้เกิดให้ได้ผล โดยส่วนตัวมองว่างานปฏิรูป ตามแผนจะเดินหน้าได้ต้องอาศัยความร่วมมือ ร่วมใจ ทั้งภาครัฐ ​เอกชน ประชาชน เพราะหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานเดียว ทำไม่ได้ รัฐสภาหน่วยงานเดียวทำไม่ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชน ด้วยอุดมการณ์ที่มุ่งมั่น

          “ส.ว.ต้องทำให้สำเร็จตามที่บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญกำหนดหน้าที่ไว้ ซึ่งงานในภารกิจ คือ ​ ติดตาม เสนอแนะเร่งรัดหน่วยงานของรัฐ ให้ความรู้ประชาชน ให้ความเห็น แต่การติดตามไม่ใช่การบังคับเขา แต่ต้องช่วยกันดึงขึ้นมาเพื่อเกื้อหนุนงานให้สำเร็จ ทำงานช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่ใช่ใช้อำนาจไปบังคับ

      แนวทางสำคัญที่ส.ว.​ใช้เป็นกลไก เพื่อดึงความร่วมมือจากประชาชน คือ“โครงการส.ว. พบประชาชน”ที่จัดกลุ่มส.ว. ดูแลเป็น 7 ภาค ลงพื้นที่ซ้ำๆ ตลอด 5 ปี 

        ทั้งนี้“พล.อ.สิงห์ศึก”ฐานะเจ้าภาพของโครงการ ระบุว่า ประสบความสำเร็จมาก เพราะได้เข้าถึงประชาชน รับรู้ปัญหาของประชาชน รวมถึงให้ความรู้ ทั้งนี้การลงพื้นที่นั้น ไม่ใช่การก้าวก่าย หรือแทรกแซงการทำงานของส.ส. ที่อยู่ในพื้นที่ แต่ความตั้งใจคือ การได้เห็นปัญหาที่แท้จริง เช่น ส.ว. เตรียมพิจารณาร่างกฎหมาย แต่หากไม่ทราบว่าประชาชนคิดอย่างไร การออกกฎหมายนั้นอาจไม่ครบถ้วนทุกมุม ขณะเดียวกันการลงพื้นที่พบประชาชน ยังมีส่วนที่รับฟังความเห็นเพื่อประเมินการบังคับใช้กฎหมาย ที่ต้องทบทวนเนื้อหาทุกๆ 5 ปี

สัมภาษณ์พิเศษ สิงห์ศึก  สิงห์ไพร : ส.ว. ไม่ก้าวก่ายงาน ส.ส.

       "ขณะที่การทำงานของส.ว​.ยุค 2020 นั้น ผมตระหนักดีว่า โลกเปลี่ยนไปเยอะ สังคมเปลี่ยนไปไว ดังนั้นมีหลายด้านต้องปรับเปลี่ยน แต่การทำงานในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติต้องยึดหลักให้ดี  ยึดหลักของกฎหมาย แต่อาจไม่หนักเท่ากับฝ่ายบริหารที่ต้องคิดให้หนัก หากพบกฎหมายใดที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและกาารออกกฎหมายที่อำนวยความสะดวกได้ ทำให้เดินหน้าไว ต้องเร่งทำ"

      สุดท้ายพล.อ.สิงห์ศึก” ฝากถึงประชาชน ต่อบทบาทของส.ว.​ที่ต้องการให้ประชาชนร่วมสนับสนุนการทำงาน โดยเฉพาะการลงพื้นที่พบประชาชนในแต่ละพื้นที่อย่างมีมิตรไมตรี ดังนั้นแทนที่จะคิดว่าส.ว. ทำอะไรไม่ได้ แต่ข้อเสนอต่างๆ นั้นสามารถนำมาปรับปรุงเพื่อให้เกิดประโยชน์กับส่วนรวมได้ ดังนั้นขออย่ารังเกียจ ส.ว.

        ขณะที่การทำงานร่วมกัน ส.ส. ผ่านบทบาทของรัฐสภา รองประธานวุฒิสภา”  บอกว่าเราไม่ยุ่งกับเขาเลย เพราะเราไม่ก้าวก่ายหน้าที่ของส.ส.ในพื้นที่ ส่วนการทำงานในรัฐสภา ผมเชื่อว่า ส.ส.คือคนที่ตั้งใจเข้ามาทำประโยชน์เพื่อประเทศ ประชาชนเหมือนกับส.ว. แต่อาจมีวิธีแตกต่างกัน ดังนั้นผมเชื่อว่าหากมองเพื่อเป้าหมายส่วนรวม เพื่อประโยชน์ประชาชน สามารถคุยกัน ร่วมมือกันได้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ